เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ร่างกายก็จะแสดงอาการของความผิดปกติต่างๆ มาให้เห็นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาการเวียนศีรษะอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ซึ่งในคุณแม่บางรายก็อาจจะมีอาการปวดเอวตอนท้องอ่อน ๆ ได้อีกด้วย โดยอาการปวดเอวของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ ก็สร้างความกังวลใจไม่น้อยเลยทีเดียวว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ ดังนั้นเราจะมาตอบข้อสงสัยนี้กัน พร้อมด้วยวิธีบรรเทาอาการปวดที่อยากแนะนำให้ลองทำตามกันดู
ปวดเอวตอนท้องอ่อน ๆ เกิดจากอะไร อันตรายไหม
คุณแม่หลายรายที่มีอาการปวดเอวขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากสาเหตุของการที่ร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงและเกิดการขยายตัวโดยเฉพาะช่วงกลางลำตัว เพื่อรองรับทารกซึ่งจะเจริญเติบโตในมดลูก จึงทำให้เกิดการปวดเอวขึ้นได้ โดยมีสาเหตุหลักดังนี้คือ
1. มีความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งมีฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่อยู่ในรังไข่และเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ มีหน้าที่ในการกระตุ้นการคลายตัวของเส้นเอ็นยึดกระดูกเชิงกราน ที่ช่วยให้คลอดบุตรง่าย เมื่อมีการคลายตัวของเส้นเอ็นบริเวณเชิงกราน จึงทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว และเกิดอาการปวดเอวตอนท้องอ่อน ๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย
2. กล้ามเนื้อบริเวณส่วนกลางของลำตัวเกิดการแยกตัว เพื่อรองรับการขยายตัวของมดลูก
3. ความเครียดและวิตกกังวลของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ ก็จะส่งผลให้เกิดอาการปวดเอวได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นต่างๆ เกิดอาการตึงตัวจากความเครียด
4. น้ำหนักตัวคุณแม่ และอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้มีอาการปวดเอวได้เช่นกัน
สำหรับคุณแม่ที่กังวลใจถึงอาการปวดเอว หากไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย ก็ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด โดยเป็นอาการของคนตั้งครรภ์ สัปดาห์แรก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
วิธีบรรเทาอาการปวดเอว
หากมีปวดเอวตอนท้องอ่อน ๆ ซึ่งไม่ได้เกิดจากสาเหตุของโรคอื่น ก็สามารถที่จะดูแลตัวเองเพื่อช่วยบรรเทาอาการให้เบาลงได้ ด้วยวิธีการดังนี้
1. ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเบาๆ บริเวณช่วงหลังและเอว เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อเกิดการผ่อนคลาย อีกทั้งยังช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เป็นการช่วยลดอาการปวดเอวได้ชั่วระยะหนึ่ง แต่หากมีการยืนหรือเดินเป็นเวลานานก็จะกลับมาปวดได้อีก
2. หากคุณแม่มีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์ที่แพทย์กำหนด ควรควบคุมไม่ให้มีน้ำหนักตัวเกิน เพราะการที่คุณแม่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปจะทำให้โครงสร้างกระดูกสันหลังมีอาการแอ่นตัวมากขึ้น จนก่อให้เกิดอาการปวดเอวได้
3. เลือกที่นอนที่มีแรงต้านที่ดี ซึ่งคุณแม่ไม่ควรนอนบนที่นอนที่อ่อนยวบยุบตามน้ำหนักตัว เพราะจะทำให้โครงสร้างของร่างกายเปลี่ยนแปลงจนส่งผลเสียต่อร่างกายคุณแม่ และทำให้ปวดเอวตอนท้องอ่อน ๆ ได้
4. เลือกท่านอนที่เหมาะสม โดยท่านอนที่ช่วยลดอาการปวดเอวปวดหลังสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คือการนอนตะแคงโดยมีหมอนข้างมาวางรองรับน้ำหนักตัวที่ทิ้งลงบนเข่าของขาด้านบน ส่วนขาด้านล่างให้เหยียดตรง จะช่วยให้น้ำหนักตัวถ่ายเทไปยังหมอนข้าง และทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหลังได้รับการผ่อนคลายด้วย
5. คุณแม่ตั้งครรภ์ควรงดใส่รองเท้าส้นสูงมากเกินไป โดยเมื่อตั้งครรภ์ หากคุณแม่เคยใส่รองเท้าที่มีส้นสูง ควรลดลงมาใส่รองเท้าส้นที่มีความสูง 1-2 นิ้วเพื่อให้น้ำหนักอยู่กลางลำตัว และมีความสมดุล เป็นการลดปัญหาของอาการปวดเอว ปวดหลังได้ดี
6. หลีกเลี่ยงการยกของหนักและอุ้มเด็กขณะตั้งครรภ์ หากจำเป็นต้องอุ้มเด็ก หรือยกของ คุณแม่ควรยืนให้ถูกวิธีโดยแยกเท้าออกเท่ากับช่วงของสะโพก โดยให้ปลายเท้าเฉียงออกเล็กน้อย หลังจากนั้นจึงค่อยๆ งอเข่าพร้อมกับหย่อนตัวลงตรงๆ โดยให้น้ำหนักตัวอยู่ตรงกลาง และบริเวณสะโพกให้ใช้กำลังจากแขนและไหล่ยกของ และใช้ขาในการพยุงเพื่อให้หลังตรง ไม่ควรงอตัวก้มลงมายกของเพราะจะทำให้เสียการทรงตัว และโครงสร้างของกระดูกสันหลังผิดรูปจนก่อปัญหาให้เกิดอาการปวดเอวตอนท้องอ่อน ๆ ตามมาได้
7. หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ หากจำเป็นต้องยืนเป็นเวลานานควรมีผ้าหรือพรมมารองให้พื้นนุ่มและใช้เก้าอี้ตัวเตี้ยมาวางเพื่อจะได้พักขาอีกข้าง จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดอาการคั่งค้างของน้ำเหลือง และช่วยลดอาการปวดเอวปวดหลังได้ดีทีเดียว
8. ควรนั่งให้ถูกต้องหลังตรง โดยขณะนั่งเก้าอี้ควรหลังตรง หากมีการเอนเพื่อพิงพนักพิงก็ทำได้เล็กน้อย และควรมีเก้าอี้ตัวเตี้ยมารองรับเท้า สิ่งสำคัญห้ามนั่งไขว่ห้างเด็ดขาด
9. หากมีอาการปวดมากสามารถใช้ครีมทาแก้ปวดช่วยบรรเทาอาการปวดได้ แต่ควรเป็นครีมแก้ปวดที่ไม่ส่งผลต่อทารก อาจจะใช้เป็นครีมแก้ปวด ที่สกัดจากสมุนไพรพื้นบ้านก็ช่วยได้
อาการแบบไหนต้องหาหมอด่วน
หากอาการปวดเอวตอนท้องอ่อน ๆ มีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยควรไปพบแพทย์ทันที
1. มีอาการปวดเอวร้าวไปถึงก้น
2. มีอาการปวดเอวร้าวลงขาอย่างรุนแรง
3. มีอาการปวดเอวไปถึงน่องรวมทั้งมีอาการปวดนิ้วมือ นิ้วเท้าร่วมด้วย
4. มีอาการปวดเอวร่วมกับมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
อาการปวดเอวตอนท้องอ่อน ๆ ของคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสรีระของแต่ละบุคคล หากคุณแม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ดูแลสุขภาพตัวเองดีแล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดจะต้องกังวลใจ พยายามประคับประคองครรภ์ให้ปลอดภัยจนครบกำหนดคลอด เมื่อคลอดแล้วอาการต่างๆ จะหายไปได้เอง
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่