คุณแม่ยุคใหม่ที่ตั้งครรภ์และมีสุขภาพดี ไม่มีอาการแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์สามารถเลือกได้ว่าจะให้แพทย์ทำคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ หรือการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง แต่มีคุณแม่ส่วนมากจะเลือกการผ่าตัดคลอดลูก เพราะสามารถกำหนดเวลาคลอดได้ รวมถึงความสะดวกด้านอื่นๆ อีกหลายอย่าง แต่ก็มีคุณแม่บางรายที่ต้องผ่าตัดคลอดแบบฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีการผ่าคลอดแบบแนวตั้ง เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการทำคลอด และช่วยชีวิตของทารกหรือคุณแม่ให้ทันเวลา แต่หลังจากผ่าตัดคลอดไปแล้ว จะมีวิธีการดูแลแผลผ่าคลอดแนวตั้งแบบไหน แล้วแผลหายช้าหรือไม่ มาดูกันเลยค่ะ
แผลผ่าคลอดแนวตั้ง หายช้าหรือไม่
อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าการผ่าคลอดแนวตั้ง แพทย์จะใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น เนื่องจากจะทำให้กระบวนการคลอดเป็นไปได้เร็ว และสามารถช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน ทั้งทารกในครรภ์และคุณแม่ได้อย่างทันท่วงที โดยส่วนใหญ่แผลผ่าคลอดแนวตั้งจะยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ซึ่งแผลใหญ่ขนาดนี้ก็ย่อมที่จะทำให้ต้องดูแลกันเป็นพิเศษ และแผลก็จะหายช้ากว่าการผ่าคลอดแบบแนวนอนอีกด้วย
วิธีการดูแลแผลผ่าคลอดแนวตั้ง
สำหรับการดูแลแผลผ่าคลอดแบบแนวตั้ง มีวิธีการไม่ต่างจากแผลผ่าตัดแบบแนวนอน แต่อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังมากกว่าเช่น
1.ห้ามยกของหนัก
ในช่วงแรกของการคลอดบุตรจนถึง 3 เดือน คุณแม่หลังคลอดควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก เพราะขณะที่ยกของที่มีน้ำหนักจะทำให้มีการเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งเป็นการรบกวนบาดแผลบริเวณหน้าท้องจนทำให้มีการปริ หรือฝีเย็บฉีกขาดได้ นอกจากนี้มดลูกยังได้รับการกระทบกระเทือน และเกิดการหย่อนคล้อยเข้าอู่ได้ยาก รวมถึงจะทำให้คุณแม่มีอาการปวดหลังได้ด้วย สำหรับการอุ้มลูก หากลูกมีน้ำหนักไม่มากเกินไป สามารถอุ้มได้หลังจากพักฟื้นดีแล้วใน 1 สัปดาห์ ส่วนลูกที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 4 กิโลกรัม ควรหลีกเลี่ยงการอุ้มไปสักระยะหนึ่งก่อน รอจนแผลหายดีแล้วจึงอุ้มได้
2.ล้างมือก่อนสัมผัสแผลทุกครั้ง
บริเวณแผลผ่าคลอดแนวตั้งจะไวต่อการรับเชื้อ เพราะฉะนั้นหาคุณแม่จะสัมผัสบริเวณบาดแผล ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคไปสู่บาดแผล จนทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้
3.ทำความสะอาดแผล รวมถึงผิวบริเวณโดยรอบอย่างสม่ำเสมอ
คุณแม่หลังคลอดควรทำความสะอาดแผลให้ดี รวมถึงบริเวณรอบๆ ด้วย โดยให้เน้นผิวหนังบริเวณเชิงกราน ซึ่งเป็นผิวที่ใกล้เคียงกับบาดแผลมากที่สุด และต้องทำความสะอาดให้ทั่วบริเวณด้วย
4.หากมีเส้นไหมโผล่มาจากบาดแผลห้ามดึงเอง
หากคุณแม่พบว่ามีเส้นไหมโผล่มาบริเวณบาดแผล ไม่ควรตัดด้วยตนเอง เพราะจะเปิดโอกาสให้เชื้อโรคเข้าสู่บาดแผลที่ชั้นลึกลงไปได้ จนทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งที่ทำได้คือ ควรกลับไปพบคุณหมอเพื่อให้ทำการตัดปลายเส้นไหมออกมา จะได้ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองบาดแผล นอกจากนี้รอยไหมที่โผล่อาจจะเกี่ยวกับเสื้อผ้าจนทำให้เกิดการติดเชื้อได้
5.ห้ามอาบน้ำในอ่าง
การอาบน้ำในอ่างจะทำให้แผลผ่าคลอดแนวตั้งโดนน้ำ และเชื้อโรคที่ปนอยู่ในน้ำจะเข้าสู่บาดแผลได้ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เชื้อโรคเข้าสู่ช่องคลอดได้อีกทางหนึ่งด้วย ทางที่ดีคุณแม่ควรอาบน้ำโดยการใช้ฝักบัวหรือใช้ขันตักราดตัวจะดีกว่า
6.การใช้สบู่ควรเลือกที่มีเป็นฤทธิ์อ่อนๆ
สบู่สำหรับคุณแม่หลังคลอดควรเลือกที่มีความเป็นกรดอ่อนๆ เพื่อป้องกันการระคายเคืองผิว ซึ่งช่วงหลังคลอดฮอร์โมนยังไม่สมดุลอาจทำให้ผิวคุณแม่มีอาการแห้งแตกได้ง่าย การอาบน้ำไม่ควรฟอกสบู่ที่แผลโดยตรง เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองแผล ซึ่งหลังอาบน้ำแล้วก็ไม่ควรทาแป้งลงบนบาดแผลด้วย เพราะจะทำให้เป็นที่หมักหมมอับชื้นจนเกิดการติดเชื้อได้นั่นเอง
7.หลังอาบน้ำหรือทำความสะอาดบาดแผลแล้วควรซับให้แห้งทุกครั้ง
ควรใช้ผ้าขนหนูสะอาดซับทำความสะอาดบาดแผล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอับชื้นจนทำให้เชื้อโรคขยายตัวได้ โดยผ้าขนหนูที่ใช้ซับบาดแผลนี้ ควรแยกออกจากการใช้เช็ดตัวทั่วไป เพื่อสุขอนามัยที่ดี
8.ควรกินยาลดการอักเสบที่หมอให้มาจนหมด
ยาที่คุณหมอจ่ายให้มาส่วนใหญ่เป็นยาปฏิชีวนะ คุณแม่จำเป็นต้องกินจนหมดไม่ควรหยุดยาเอง ถึงแม้ว่าอาการเจ็บปวดจะลดลงแล้ว เพราะมดลูกเป็นอวัยวะภายในที่มองไม่เห็น อาจจะยังมีการอักเสบอยู่ก็ได้ นอกจากนี้ยาที่คุณหมอให้ขณะตั้งครรภ์ เช่นธาตุเหล็ก และแคลเซียมก็จำเป็นต้องกินให้หมด เพราะขณะคลอดลูกได้เสียเลือดไปเป็นจำนวนมาก หลังจากคลอดลูกแล้วยังต้องให้นมลูกอีก ร่างกายต้องการธาตุเหล็กและแคลเซียม คุณแม่บางรายอาจจะมีอาการเบื่ออาหารหลังคลอด เพราะร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หากไม่กินเสริม อาจทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงต่อโรคโลหิตจาง รวมถึงเกิดภาวะกระดูกพรุนได้
ความผิดปกติของแผลผ่าคลอด ที่ควรพบหมอทันที
- คุณแม่หลังผ่าคลอดมีอาการเจ็บบริเวณบาดแผล รวมถึงมดลูกทวีมากขึ้น
- มีรอยแดงบวมร่วมกับอาการแสบร้อนที่แผลผ่าคลอดแนวตั้ง
- อาจจะมีตุ่มหนองที่ฝีเย็บของแผล ในคุณแม่บางรายอาจจะมีหนองไหลออกมาด้วย
- มีกลิ่นน้ำคาวปลา ที่เหม็นรุนแรงมากขึ้น
- มีเลือดออกทางช่องคลอด ในบางรายอาจจะมีลิ่มเลือดออกมาด้วย
- มีอาการบวมบริเวณขา และมีความเจ็บปวด
- มีไข้ขึ้นสูงมากกว่า 38 องศา บางรายอาจจะมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
แผลผ่าคลอดแนวตั้ง เมื่อปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอก็นับว่าไม่ได้ดูแลยากมากนัก และไม่มีอะไรให้ต้องกังวลเลย แต่หากแผลมีการอักเสบหรือผิดปกติเกิดขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์ในทันที อย่านิ่งนอนใจเด็ดขาด
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่