หากคุณมีสิทธิบัตรทองอยู่แล้วแต่อยู่ในท้องที่อื่น แต่ตัวคุณได้มาอาศัยอยู่อีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งเป็นคนละจังหวัด และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยหากไม่อยากเสียเงินก็จะต้องทำการย้ายสิทธิ์บัตรทองเข้ามาในพื้นที่อาศัยอยู่จริงในปัจจุบันก่อน จึงจะใช้สิทธิ์บัตรทองเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้นๆ ได้ โดยเฉพาะในกรณีคลอดลูก หรือเจ็บป่วยที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการย้ายสิทธิ์จะต้องทำอย่างไร วันนี้เรามีข้อมูลมาบอกกัน
วิธีการ ย้ายสิทธิ์บัตรทอง
การขอย้ายสิทธิ์บัตรทอง แต่เดิมต้องเดินทางไปยื่นความจำนงกับเจ้าหน้าที่ ณ จุดบริการที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.กำหนด ไม่ว่าจะเป็นสถานีอนามัย โรงพยาบาลประจำอำเภอ หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด ตามสิทธิบัตรทองที่คุณอาศัยอยู่เดิม จะต้องรอการตรวจสอบนานหลายวัน จึงจะสามารถใช้สิทธิกับหน่วยบริการที่คุณเลือกแห่งใหม่ได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ที่มีการใช้งานสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น สปสช.ได้นำประโยชน์จากเทคโนโลยีมาใช้งานในการย้ายหน่วยบริการบัตรทอง เมื่อเสร็จแล้ว จึงเกิดสิทธิทันที โดยการย้ายสิทธิ์บัตรทองสามารถทำวิธีไหนได้บ้างมาดูกัน
1.การย้ายสิทธิ์ที่อนามัย
สามารถแจ้งความประสงค์ในการย้ายสิทธิ์บัตรทอง กับเจ้าหน้าที่ประจำอนามัยได้ในเวลาราชการ หากคุณอาศัยอยู่ในเขตเทศบาล ก็สามารถแจ้งย้ายสิทธิบัตรทองได้จากโรงพยาบาลประจำอำเภอ หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัดก็ได้
2.การย้ายสิทธิ์ออนไลน์
การย้ายสิทธิ์บัตรทองสามารถทำได้ด้วยตนเองผ่านจอมือถือแบบสมาร์ทโฟน โดยการทำตามขั้นตอนด้านล่าง ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนย้ายสิทธิบัตรทองผ่านทางไลน์ สปสช. จะต้องมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) หรือมีสิทธิว่าง และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ไม่เช่นนั้นก็ดำเนินการตาม 4 ขั้นตอนนี้ไม่ได้
2.1. แอดไลน์ Official Account สปสช.
วิธีแรกเราต้องแอดไลน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยพิมพ์ค้นหา Line ID @nhso
2.2. กดเพิ่มเพื่อน
เมื่อแอดไลน์ของทางสปสช. เรียบร้อยแล้ว ให้คุณกดเพิ่มเพื่อน จากนั้นในหน้าไลน์จะมีฟังก์ชั่นด้านล่างให้เลือก ให้กดเลือกที่ฟังก์ชัน สิทธิบัตร เปลี่ยนหน่วยบริการได้ทันที
2.3.ทำตามขั้นตอนของระบบ
เมื่อคุณเลือกฟังก์ชันเปลี่ยนหน่วยบริการเรียบร้อยแล้ว ต่อไปนี้เป็นขั้นตอนที่ระบบแนะนำให้คุณทำตาม โดยเริ่มจากอ่านข้อตกลงในการให้ความยินยอม ในการเก็บรวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ให้คลิก ยอมรับ
2.4.กรอกข้อมูลบัตรประชาชน และยืนยันตัวตน OTP
ตั้งรหัสผ่าน 6 หลักในการใช้งาน กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน แล้วระบบจะนำไปสู่การย้ายสิทธิ์บัตรทอง
หลังย้ายสิทธิ์กี่วันใช้สิทธิ์ได้
หลังจากได้ทำการย้ายสิทธิ์บัตรทองสำเร็จแล้ว สามารถย้ายสิทธิไปยังโรงพยาบาลที่มีความประสงค์จะไปรับบริการ และใช้ได้ในเวลาวันเดียว ผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. บนสมาร์ทโฟน ไม่ต้องเสียเวลารอเหมือนเมื่อก่อน
วิธีการเช็คสิทธิ์บัตรทอง
วิธีเช็คสิทธิ์บัตรทองสามารถทำได้ผ่าน 5 ช่องทาง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.ไปติดต่อด้วยตนเอง
ติดต่อได้ที่สำนักงานเขต กทม. 19 เขตสปสช. เขตพื้นที่ 1-13 / โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลของรัฐ
2.โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 2 ตามด้วยหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และเครื่องหมาย #
ช่องทางนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการความรวดเร็ว และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดความแออัด และการรักษาระยะห่างในสำนักงาน ลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้มาก สามารถโทรศัพท์ติดต่อพูดคุย สอบถามได้
3.Application สปสช.
สามารถดาวน์โหลดฟรี ได้ทั้งระบบ Andriod และ IOS (สแกน QR Code เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น) เมื่อได้ลงทะเบียนติดตั้งแอปพลิเคชั่นเรียบร้อยแล้ว สามารถเข้าไปใช้งานฟังก์ชั่น รวมถึงการตรวจสอบสิทธิ์ตนเอง และตรวจสอบสิทธิ์คนในครอบครัวได้
รู้ไหมสิทธิ์บัตรทองมีอะไรบ้าง
สำหรับประชาชนคนไทยที่ถือบัตรทอง จะได้รับสิทธิในค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขด้านใดบ้าง มาดูกันเลย
1.การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น การรับวัคซีนในเด็ก และการดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ
2.การตรวจ การวินิจฉัย การรักษาพยาบาล ตั้งแต่โรคทั่วไป ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีความเจ็บป่วยไม่เหมือนกันเช่น ไข้หวัด จนถึงการรักษาโรคเรื้อรัง โรคเฉพาะทางที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ เอดส์ และวัณโรค
3.การคลอดบุตร ใช้สิทธิได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง การคลอดบุตรที่มีค่าใช้จ่ายค่าคลอด และค่ายา
4.บริการทันตกรรม เช่น อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฟันผุ การรักษาโพรงประสาท การดูแลฟันน้ำนมในเด็ก การเคลือบหลุมร่องฟัน ผ่าฟันคุด ใส่เพดานเทียมเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ และการทำฟันปลอมฐานพลาสติก
5.ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่ายาหลังจากได้รับการรักษา
6.ค่าอาหารและค่าคลอดสามัญ ค่าอาหารสำหรับคุณแม่ และค่าคลอดห้องสามัญ
7.การจัดส่งต่อ หากมีการส่งต่อผู้ป่วยก็ใช้สิทธิได้
8.บริการแพทย์แผนไทย สามารถรับบริการการนวด หรือทำกายภาพบำบัดตามแพทย์สั่ง
9.บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ให้แก่คนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู เช่น กายภาพบำบัด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูการได้ยิน ฟื้นฟูการมองเห็น และรับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทของความพิการได้ตามเกณฑ์ที่ของ สปสช.
การย้ายสิทธิ์บัตรทองสามารถทำได้ง่าย และมีผลทันทีหลังจากย้ายเสร็จ ผู้ที่มีความประสงค์จะย้ายสิทธิ์ของตนเองไปยังพื้นที่ ที่อยู่ปัจจุบันก็สามารถทำได้ตามที่แจ้งไว้ด้านบนนี้แล้ว ทุกอย่างสามารถทำได้อย่างง่ายดายบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางได้มากเลยทีเดียว
= = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่