สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือ กำลังวางแผนที่จะตั้งครรภ์ คงเกิดความกังวลอย่างมาก เกี่ยวกับพัฒานาการต่างๆ ของลูกที่อยู่ในครรภ์ ดังนั้น ระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรรู้อะไรบ้าง เรารวบรวมข้อมูลสำคัญ 9 ข้อที่คุณแม่ควรรู้ระหว่างตั้งครรภ์ รายละเอียดดังนี้ค่ะ
9 ข้อที่คุณแม่ควรรู้ ระหว่างตั้งครรภ์
1.น้ำหนักแต่ละช่วงระหว่างตั้งครรภ์
โดยทั่วไป ตลอดอายุการตั้งครรภ์ คุณแม่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 12 – 15 กิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นมากในช่วยครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ประมาณเดือนละ 2 กิโลกรัม นั่นเป็นเพราะร่างกายของทารกมีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นในทุกเดือน จนกว่าร่างกายของทารกจะสมบูรณ์คุณแม่ควรรับประทานอาหารให้ครบถ้วน เพื่อเสริมสร้างร่างกายของลูกน้อยในครรภ์
2.การฉีดยา หรือวัคซีนต่าง ๆ ระหว่างตั้งครรภ์
ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้จัด ให้วัคซีนบาดทะยักเป็นวัคซีนที่คุณแม่ควรฉีด เพื่อป้องกันการติดเชื้อบาดทะยักในทารกแรกคลอด นอกจากนี้ คุณแม่ยังควรได้รับวัคซีนอื่น ๆ อย่างเช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่, วัคซีนคอตีบ, วัคซีนไอกรน และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี รวมด้วย ทั้งนี้ หากคุณแม่เกิดความสงสัย สามารถสอบถามกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง หรือแพทย์ที่รับฝากครรภ์ให้กับคุณแม่ก็ได้
3.การทานวิตามินเสริม หรือยาบำรุงระหว่างตั้งครรภ์
นอกจากการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว สารอาหารที่คุณแม่ควรได้รับเพิ่ม ก็คือ “ธาตุเหล็ก” ซึ่งช่วยสนับสนุนการทำงานของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง เป็นตัวนำออกซิเจนไปสู่ทารกในครรภ์ หากคุณแม่ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ส่งผลให้คุณแม่เกิดความอ่อนเพลีย มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวกได้ ดังนั้น การรับประทานธาตุเหล็กควรอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ตามที่ร่างกายต้องการ คุณแม่ควรรับประทานในการกำกับดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วย
สารอาหารที่จำเป็นอีกชนิด ก็คือ แคลเซียม ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของทารกในครรภ์ คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่างต่อเนื่องตลอดอายุครรภ์ สำหรับคุณแม่ที่ไม่สามารถทานอาหารได้ครบทุกหมู่ ควรรับประทานวิตามินเพื่อทดแทน แต่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากร่างกายได้รับวิตามินบางชนิดมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
4.การมีเพศสมพันธ์ ระหว่างตั้งครรภ์
การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ ไม่มีผลต่อลูกในครรภ์ แต่เมื่อช่วงเวลาใกล้คลอดควรลดการมีเพศสัมพันธ์ลง เพื่อลดการอึดอัด เจ็บแน่นของคุณแม่ อย่างไรก็ตาม คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติเมื่อมีเพศสัมพันธ์ อย่างเช่น เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด หรือมีเลือดออกจากช่องคลอด หากมีอาการดังกล่าวควรหยุดการมีเพศสัมพันธ์ และรีบปรึกษาแพทย์ในทันที
5.การใช้ยาต่าง ๆ ระหว่างตั้งครรภ์
สำหรับยาตัวอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายทารกในครรภ์ อย่างเช่น ยารักษาสิวบางกลุ่ม ทั้งชนิดทาและชนิดรับประทาน จัดเป็นยาอันตรายที่มีผลต่อทารกในครรภ์ อาจส่งผลให้เกิดความพิการได้ ดังนั้น ก่อนการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ และแจ้งทุกครั้งว่าตนเองตั้งครรภ์ ก่อนรับยา เพื่อได้รับการจ่ายยาอย่างเหมาะสม
6.ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะครรภ์เสี่ยง
ภาวะครรภ์เสี่ยง คือ ความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อแม่และทารกในครรภ์ โดยอาจทำให้เกิดอันตราย หรือเสียชีวิตได้ทั้งในขณะตั้งครรภ์ คลอด หรือหลังคลอด ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะครรภ์เสี่ยงนั้น ขึ้นอยู่กับตัวคุณแม่เอง อย่างเช่น คุณแม่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เคยมีประวัติคลอดบุตรยาก ผ่าตัดมดลูก แท้งบุตร รวมถึงตั้งครรภ์ในขณะที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนแต่เป็นภาวะครรภ์เสี่ยงทั้งสิ้น
เมื่อไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล แพทย์จะเป็นผู้ทำการวินิจฉัยภาวะครรภ์เสี่ยง โดยทำการซักประวัติ เพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับวิธีอื่น เช่น การตรวจปัสสาวะ วัดความดันโลหิต ตรวจดูยอดมดลูก เพื่อประมาณขนาดทารก หากพบว่ามีภาวะเสี่ยง อย่างเช่นพบว่าคุณแม่เป็นโรคเบาหวาน ไทรอยด์ หรือมีโรคประจำตัวอื่น ๆ แพทย์จะแนะนำให้รีบรักษาโรคนั้นให้หายโดยเร็ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
7.อันตรายของการเกิดเนื้องอกระหว่างตั้งครรภ์
การที่เกิดเนื้องอกระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งความเสี่ยงจะต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะของเนื้องอก หากตรวจพบ คุณแม่ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินอันตรายจากเนื้องอกนั้น และทำการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ เป็นเรื่องจำเป็น ดังนั้น คุณแม่ควรตรวจหาเนื้องอก และทำการรักษาให้หายก่อนการตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยลดภาวะครรภ์เสี่ยงลงได้
8.วิธีป้องกันและรักษาหากเป็นริดสีดวงระหว่างตั้งครรภ์
โดยทั่วไป ริดสีดวงจะเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์บ่อยมาก เนื่องจากระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ มักมีอาการท้องผูกง่ายขึ้น สาเหตุเกิดจากมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น มีการกดทับลำไส้ใหญ่ ทำให้กระบวนการทำงานของระบบขับถ่ายไม่สมบูรณ์ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และระบบการไหลเวียนของหลอดเลือด อาจทำให้เกิดเลือดออกบริเวณรอบทวารหนักได้
วิธีป้องกัน คุณแม่ควรปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง (ผัก ผลไม้ และธัญพืช) รวมถึงควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ นอกจากนี้ควรเพิ่มปริมาณการดื่มน้ำสะอาดในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยลดอาการท้องผูกได้
9.อาการปวดหรืออาการชาบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า ระหว่างตั้งครรภ์
ในระหว่างตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ส่งผลให้เอ็นเกิดการคลายตัว ทำให้ข้อต่อกระดูกมีการหย่อนตัว ในขณะเดียวกันกล้ามเนื้อก็ทำงานมากขึ้น จึงเกิดอาการปวดตามข้อมากขึ้น ดังนั้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ จึงควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก การใส่รองเท้าส้นสูง และควรออกกำลังกายเหมาะสมสม่ำเสมอ หากมีอาการปวดหลัง ควรนั่งพัก ทั้งนี้ อาการเจ็บปวดส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คุณแม่ก็สามารถใช้ยาทานวด เพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อความแน่ใจว่าไม่เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์จริง ๆ
นอกจาก 9 ข้อที่คุณแม่ควรรู้แล้ว สิ่งสำคัญของการตั้งครรภ์ คือความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจของตัวคุณแม่เอง เนื่องจากทุกประสาทสัมผัสของคุณแม่ สามารถสื่อสารส่งไปหาลูกในครรภ์ได้ ไม่ว่าคุณแม่จะเกิดความรู้สึกสบาย มีความสุข เครียด หัวเราะ ร้องไห้ หรือเกิดความกังวล อารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้จะส่งไปถึงทารกในครรภ์ได้โดยอัตโนมัติ ดังนั้น ระหว่างการตั้งครรภ์คุณแม่ต้องทำจิตใจให้สงบ และร่าเริงแจ่มใสตลอดเวลา เพื่อป้องกันผลกระทบทางด้านอารมณ์ของลูกน้อย
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..
1.อาหารแม่ท้อง อะไรบ้างที่คน กรุ๊ปเลือด AB ควรกินและควรเลี่ยง