เด็กพูดช้า พัฒนาการทางด้านภาษาที่ล่าช้าของลูกน้อย ปัญหาที่กวนใจคุณแม่หลาย ๆ ท่าน ด้วยความเป็นห่วงและเกิดความไม่เข้าใจว่า ทำไมนะ ลูกน้อยอายุจะครบ 2 ขวบแล้ว ยังไม่เริ่มพูดเป็นคำเสียที วันนี้เรามีคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมกับคำแนะนำดี ๆ มาฝากค่ะ

เด็กพูดช้า

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะพูดช้าของเด็กเล็ก

ภาวะพูดช้า หรือ พัฒนาการภาษาล่าช้า (Child’s delayed language or speech development) เป็นอาการที่พบในเด็กอายุได้ 2 ขวบแล้ว แต่และยังไม่เริ่มพูดเป็นคำที่มีความหมาย หรือเด็กอายุได้ 18 เดือนแล้วยังพูดไม่เป็นคำ ซึ่งอาจหมายรวมถึงยังไม่สามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ ซึ่งพบว่าเด็กมีพัฒนาการด้านภาษาที่ล่าช้า หรือพูดช้าประมาณ 5 – 8% ของเด็กอายุ 2 – 5 ปี ที่สำคัญพบในเด็กผู้ชายมากกว่าในผู้หญิงถึง 3 เท่าเลยทีเดียวค่ะ

สาเหตุที่ทำให้ลูกพูดช้าส่วนมากเกิดจาก

  1. การได้ยินผิดปกติ เด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้า หรือพูดช้าได้ โดยไม่เข้าใจในคำสั่ง พูดไม่ได้ ร่วมถึงไม่มีการตอบสนองต่อเสียง เพียงจ้องมองหน้า หรือริมฝีปากของคู่สนทนา และใช้ภาษาท่าทางในการสื่อสาร ซึ่งอาจพบปัญหาทางอารมณ์ร่วมด้วยได้ นั่นคือ ร้องไห้โวยวายเมื่อขัดใจ เนื่องจากไม่สามารถสื่อสารความต้องการได้ แต่ในด้านทักษะทางสังคมและการเล่นก็ยังเป็นปกติค่ะ
  2. ภาวะสติปัญญาบกพร่อง หรือเรียกอีกอย่างว่า “ปัญญาอ่อน” เด็กจะมีปัญหาทางด้านพัฒนาการล่าช้าภาษาร่วมกับพัฒนาการอื่น ๆ ก็จะล่าช้าตามไปด้วยค่ะ โดยเฉพาะความสามารถในการใช้ตา และมือในการทำงานประสาน อย่างเช่นการร้อยลูกปัด การต่อบล็อกไม้ หรือการวาดรูปทรงเรขาคณิต
  3. ออทิสติก (Autistic Child) เป็นภาวะที่เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า ร่วมกับความบกพร่องทางสังคม ทักษะการเล่น และมีพฤติกรรมหรือความสนใจ ที่ซ้ำ ๆ โดยเด็กจะไม่มองหน้า ไม่สบตา หรือเรียกแล้วไม่หัก ไม่สามารถเข้าใจในคำสั่งได้ ไม่มีภาษาและท่าทางในการสื่อสาร
  4. พัฒนาการทางภาษาผิดปกติ เด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้ากว่าพัฒนาการด้านอื่น ๆ และจะล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกันโดยไม่มีความผิดปกติทางสมอง ทางการได้ยิน และทางกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการพูด ซึ่งเด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาที่ผิดปกติในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การเรียนรู้ และความเข้าใจในคำศัพท์มีจำกัด แต่งประโยคไม่ถูกต้อง ใช้ภาษาไม่ถูกต้องตามสถานการณ์ทางสังคม จำแนกเสียงในภาษาไม่ได้ พูดไม่ชัด โดยพัฒนาการด้านภาษาที่ผิดปกตินี้ อาจจะเกิดความผิดปกติด้านการสื่อสาร (พูดช้ากว่าวัย) เมื่อพูดได้จะสื่อสารและเรียนรู้ได้ทันเด็กปกติ
  5. ขาดการกระตุ้นพัฒนการที่เหมาะสม ในการเลี้ยงดูมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ ด้านภาษาโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสาเหตุร่วมกับภาวะพูดช้า แต่ถ้าเป็นสาเหตุหลักต้องเป็นการละเลยท้องทิ้งที่รุนแรง เมื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม และการเลี้ยงดูให้เหมาะสมจะทำให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นได้ค่ะ

ภาวะเด็กพูดช้าจำเป็นต้องไปพบแพทย์หรือไม่

สำหรับภาวะเด็กที่พูดช้านั้น จำเป็นอย่างมากที่คุณแม่ต้องพาไปปรึกษาแพทย์ค่ะ เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และสามารถช่วยให้ลูกน้อยกลับมามีพัฒนาการที่ดี และสามารถเข้าสู่สังคมต่อไปได้ เพราะยิ่งคุณแม่ปล่อยให้ลูกเป็นอย่างนี้ต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ การเข้าสังคม การทำความเข้าใจและไม่สามารถตามเพื่อนวัยเดียวกันได้ทัน ดังนั้น หากคุณแม่สังเกตว่าลูกน้อยไม่เริ่มพูดสักที หรืออายุจะครบ 2 ขวบอยู่แล้วแต่ไม่เริ่มพูดเป็นคำที่มีความหมายได้ คุณแม่จะต้องไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันทีค่ะ

เด็กพูดช้า จะต้องกระตุ้น และดูแลอย่างไร

Sponsored
  • เริ่มแรกคุณแม่ต้องกระตุ้นให้ลูกได้เรียนรู้จากการเล่น การเล่านิทานหรือการพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ เพื่อพัฒนาด้านภาษาให้ลูกน้อยได้มีความเข้าใจและสามารถพูดตามได้ โดยไม่ให้ลูกดูโทรทัศน์มากเกินไป
  • ต่อมาคุณแม่ต้องประเมินเพื่อหาสาเหตุทำให้ลูกพูดช้า แล้วหาวิธีการแก้ไขให้ตรงกับสาเหตุนั้น อย่างเช่น หากลูกมีความบกพร่องทางการได้ยิน คุณแม่ควรหาอุปกรณ์ช่วยฟังให้ลูกใช้ เพื่อกระตุ้นให้ลูกเริ่มเข้าใจและพูดตามได้
  • ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา และด้านอื่น ๆ ไปพร้อมกันอย่างสม่ำเสมอ แนะนำให้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด และกระตุ้นให้ลูกพูดตามอย่างถูกต้องในทุกวัน ที่สำคัญคนในครอบครัวจะต้องช่วยกันกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาให้เด็กอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะครอบครัวจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ๆ ได้ดี
  • คุณแม่ต้องสังเกตว่า ลูกน้อยมีปัญหาเกี่ยวกับสมาธิสั้น หรือการใช้กล้ามเนื้อมือและสายตาบกพร่องหรือไม่ เพราะหาพบปัญหาดังกล่าว ควรรีบไปปรึกษาแพทย์และรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไปค่ะ เพื่อให้ลูกน้อยกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นปกติ
  • ช่วยเหลือด้านการศึกษา ถ้าเด็กได้รับการประเมินจากแพทย์และโรงเรียนแล้วว่ามีความพร้อมเพียงพอ เด็กก็สามารถเข้าเรียนได้ตามวัยค่ะ และควรเรียนในโรงเรียนทั่วไปรวมกับเด็กปกติ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนากทักษะทางสังคม การสื่อสารและทักษะอื่น ๆ ในการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพื่อเน้นเนื้อหาสาระในการเรียนเพียงอย่างเดียว

เคล็ดลับการกระตุ้นให้ลูกน้อยพูดตาม

  • คุณแม่จะต้องสื่อสารกับเด็กให้มากขึ้น โดยการเลือกใช้คำที่ง่ายและสั้น รวมถึงการออกเสียงพูดที่ชัดเจนจะทำให้พวกเข้าพูดตามคุณได้เร็วขึ้น
  • คุณแม่ควรพูดในสิ่งที่ลูกสนใจ หรือเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขา เพื่อให้ลูกน้อยโต้ตอบในสิ่งที่ตัวเองชอบ และต้องการสื่อสารให้คุณแม่ได้รู้ไปกับพวกเขาด้วย
  • เสริมสร้างโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ทางภาษา เพิ่มเติมจากการเล่านิทาน การดูรูปภาพ การพูดคุย ไปพร้อมกับการงดดูโทรทัศน์ และการเล่นหรือการอยู่คนเดียว
  • ฝึกให้ลูกพูดผ่านการพูดคุย โดยการฟังลูกพูดอย่างตั้งใจ และตั้งคำถามที่เหมาะสม กับพัฒนาการของลูก ที่สำคัญต้องชื่นชมเมื่อลูกร่วมมือในการฝึกทุกครั้งด้วยนะคะ

การเลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิด นอกจากจะช่วยให้พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกดีขึ้นแล้ว คุณแม่กับลูกน้อยยังได้สานสัมพันธ์กันมากขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรสังเกตพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิด เมื่อพบว่าลูกน้อยมีพัฒนาการล่าช้า ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและรับการรักษาอย่างถูกต้องทันทีนะคะ เพื่อให้ลูกน้อยสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมของเด็กวัยเดียวกันได้อย่างเป็นปกติ

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.ชุดชั้นในคนท้อง เลือกอย่างไรดี ให้เหมาะสมที่สุด

2.เลือก ชุดชั้นในแม่ท้อง และหลังคลอด แบบไหนถึงจะดี