โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นโรคโลหิตจางจากกรรมพันธุ์ ซึ่งอาจพบได้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะร่างกายของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกของโรคได้ง่ายมาก ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะทำความรู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้เอาไว้ เพื่อจะได้รับมือกับโรคนี้ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่ต้องการทราบว่า “โรคธาลัสซีเมีย” นี้ มีความรุนแรง หรืออันตรายต่อเด็กหรือไม่ ลองอ่านรายละเอียดดังนี้ค่ะ
โรคธาลัสซีเมีย เกิดจากอะไร
โรคนี้เกิดได้จากความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง ที่มีรูปทรงผิดปกติ ทำให้เม็ดเลือดแตกง่าย สารสำคัญที่อยู่ในเม็ดเลือด หรือที่รู้จักกันชื่อ “เฮโมโกลบิน” นั้นก็จะละลายออกมาในน้ำเลือด และธาตุเหล็กเป็นส่วนหนึ่งของเฮโมโกลบินก็ออกมาด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้เป็นปัญหาอย่างมาก นั่นเพราะ ธาตุเหล็กที่ลอยไปมาไม่สามารถกำจัดออกจากร่างกายได้ ทำให้เกิดการสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตับ ม้าม หัวใจ ต่ออ่อน ผิวหน้า และต่อมไร้ท่อค่ะ
นอกจากนี้ คุณแม่ที่เป็นธาลัสซีเมียยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง จากการที่ร่างกายมีธาตุเหล็กมากเกินความต้องการอีกด้วย ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างมากค่ะ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทั่วไปแพทย์จะให้ยาบำรุงเลือดมาให้รับประทานด้วย เพื่อให้ร่างกายมีเลือดเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ แต่สำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียล่ะ จะสามารถรับประทานยาบำรุงเลือดได้หรือไม่ เราขอบอกเลยค่ะว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่พบว่าเป็นโรคธาลัสซีเมียสามารถทานยาบำรุงเลือดได้ทุกชนิด ยกเว้นยาบำรุงเลือดที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็ก เพราะร่างกายของคุณแม่มีธาตุเหล็กในปริมาณที่มากอยู่แล้ว หากได้รับเข้าไปเพิ่มอีกอาจจะทำให้เกิดโทษต่อร่างกายได้นะคะ
ความรุนแรงของโรคธาลัสซีเมียต่อทารกในครรภ์
คุณพ่อคุณแม่ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย มีความเสี่ยงสูงที่ลูกจะเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดที่รุนแรงได้ค่ะ ดังนั้นคุณแม่จะต้องได้รับการตรวจดูอาการของโรคตั้งแต่ทารกในครรภ์ยังไม่คลอด ซึ่งก็มีหลายวิธีให้เลือก แต่ละวิธีจะมีความเสี่ยงที่ต่างกัน คุณแม่ที่ต้องการตรวจดูความผิดปกติแต่เนิ่น ๆ หรืออายุครรภ์น้อย ๆ แนะนำให้ใช้วิธีการดูดรกเพื่อนำมาตรวจหาโรค แต่วิธีดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงมาก อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หากคุณแม่ต้องการตรวจจริง ๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ และขอคำปรึกษาก่อนตัดสินใจจะเป็นการดีที่สุดค่ะ
สำหรับคุณแม่ที่ต้องการมีลูกถึงแม้ว่า คู่สมรสจะมีเชื้อแฝงและมีโอกาสเสี่ยงที่ทั้งคู่จะมีลูกที่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง แพทย์อาจจะแนะนำให้คุณแม่เตรียมความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและทางด้านจิตใจ เพื่อคุณแม่จะได้รับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากที่ตั้งครรภ์ได้ระยะหนึ่ง เพราะเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 12 – 16 สัปดาห์ แพทย์จะตรวจทารกในครรภ์ว่ามีความผิดปกติอะไรบ้าง หากพบว่าลูกในครรภ์เป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงมาก และอาจเกิดการแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์อาจจะแนะนำให้คุณแม่ยุติการตั้งครรภ์ทันทีค่ะ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเป็นอันตรายทั้งทารกในครรภ์และตัวของคุณแม่เอง แต่ถ้าแพทย์ตรวจพบว่าเด็กทารกในครรภ์เป็นแค่พาหะของโรค หรือไม่มีพันธุ์ของธาลัสซีเมียเลย คุณแม่ก็สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ตามปกติค่ะ
อาการของโรคธาลัสซีเมียที่เกิดกับเด็กเป็นอย่างไร
เด็กที่พบว่าเป็นโรคธาลัสซีเมีย มีอาการซีด ตาเหลือง ตัวเหลือง ตับโต ม้ามโต รูปร่างแคระแกรน หน้าตาอาจมีการเปลี่ยนแปลง จมูกแบนมาก ฟันบนยื่น และท้องป่อง ซึ่งมองภาพรวมแล้ว ร่างกายของเด็กที่เป็นโรคจะมีการเติบโตช้า กระดูกเปราะง่าย มีอาการเจ็บป่วยบ่อยกว่าเด็กปกติ
เมื่อลูกน้อยเป็นพาหะ หรือเป็นโรคธาลัสซีเมียควรปฏิบัติอย่างไร
ลูกน้อยที่พบว่าเป็นพาหะของโรค จะมีสุขภาพ ความสามารถ และลักษณะเหมือนคนปกติทั่วไป คุณแม่จะทราบว่าลูกเป็นพาหะก็ต่อเมื่อ มีการตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบการเป็นพาหะธาลัสซีเมียเท่านั้นค่ะ คุณแม่จะไม่สามารถแยกได้จากรูปร่างหน้าตา ดังนั้น หากลูกน้อยของคุณเป็นเพียงพาหะธาลัสซีเมีย ก็ไม่มีอะไรต้องปฏิบัติเป็นพิเศษค่ะ แต่คุณแม่อาจจะขอคำแนะนำในการป้องกันการเป็นโรคธาลัสซีเมียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
สำหรับลูกน้อยที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย คุณแม่ก็สามารถปฏิบัติกับลูกเหมือนกับเด็กทั่วไปได้เช่นกันค่ะ ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาแต่อย่างใด แต่อาการของโรคธาลัสซีเมียนั้น จะมีความแตกต่างกันไป เด็กบางคนอาจจะมีตัวซีดมาก ตับม้ามโตมาก ซึ่งอาจจะต้องได้รับการให้เลือด และยาขับธาตุเหล็กส่วนเกินออกจากร่างกายเป็นระยะ ๆ หากอาการรุนแรงอาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัดม้ามเพื่อลดการทำลายเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นอีก
วิธีการดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคธาลัสซีเมีย
- เน้นรับประทานผักสด ไข่ นม หรือนมถั่วเหลืองมาก ๆ นะคะ
- ดื่มน้ำชา หลังอาหาร เพื่อลดการดูดซึมธาตุเหล็ก
- ตรวจสุภาพฟันทุก ๆ 6 เดือน เนื่องจากฟันจะผุง่ายมากกว่าคนปกติ
- หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก เพราะร่างกายของคุณไม่แข็งแรงสมบูรณ์เหมือนดั่งคนปกติ
- งดดื่มสุรา หรือ เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- ถ้ามีอาการปวดท้องที่บริเวณชายโครงขวาอย่างรุนแรง มีไข้ร่วมด้วย และตาขาวมีสีเหลืองมากกว่าปกติ แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที
ถึงแม้ว่า โรคธาลัสซีเมียจะมีความรุนแรงมาก และเป็นโรคที่น่ากลัว แต่ความเป็นจริงโรคต่าง ๆ ไม่ได้หน้ากลัวอย่างที่คิดนะคะ เพียงคุณแม่รู้จักดูแลตัวเอง และปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เท่านี้ คุณแม่ก็จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข แล้วล่ะค่ะ
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..