การดูแลเส้นผมของลูกก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะการที่เด็กมีผมนุ่มลื่น หวีง่าย ไม่พันมักจะเกิดกับเด็กที่มีสุขภาพดี กินอาหารที่ถูกสัดส่วนจึงทำให้มีสุขภาพผมที่แข็งแรง แต่ก็มีเด็กอีกหลายคน ที่มีปัญหาผมพันกันจนเป็นผมยุ่งเหยิง โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงด้วยแล้ว คุณแม่ต้องรีบหาวิธีในการบำรุงสุขภาพผม เพื่อแก้ไขปัญหาผมพันกัน ด้วยอาหารผมที่บำรุงด้วยการกิน และบำรุงผมจากภายนอกด้วยการนวดน้ำมันที่ใช้ใส่ผมและหวีอย่างถูกวิธีก็จะแก้ไขได้ ซึ่งวันนี้เราก็มีวิธีดูแลผมลูกน้อยมาแนะนำกันด้วย
ดูแลผมลูกน้อยอย่างไร ให้ผมสวยสุขภาพดี
อยากให้ลูกผมสวย ไม่พันกัน คุณแม่สามารถดูแลได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1.ควรหวีผมให้ลูกก่อนสระผม
ก่อนสระผมให้ลูกคุณแม่ควรหวีผมที่กระจุกตัวกันเป็นก้อน ให้แยกออกจากกันเสียก่อนในขณะที่ผมยังแห้ง โดยใช้หวีที่มีซี่ห่างมาสางผมเบาๆ และหวีอย่างเบามือ เพื่อป้องกันผมขาดหลุดร่วง หลังจากนั้นจึงค่อยใช้น้ำชะโลมผมให้เปียก แล้วใช้แชมพูเทใส่มือขยี้จนเกิดฟองนุ่มดีแล้ว จึงนำไปทาให้ทั่วผมที่เปียก ลูบให้ฟองทั่วทั้งศีรษะ ใช้นิ้วนวดวนเบาๆ จนทั่วศีรษะของลูก แล้วล้างฟองออก
2.ควรใช้ครีมนวดผม
ในเด็กที่ผมบางและมีเส้นผมเส้นเล็ก จะทำให้มีโอกาสที่ผมจะพันกันได้ง่ายกว่าเด็กที่มีผมเส้นใหญ่ การใช้ครีมนวดนวดเส้นผมหลังสระผม จะช่วยให้เส้นผมของลูก นุ่มลื่นมีน้ำหนักได้มากขึ้น ช่วยลดปัญหาผมพันกันได้ หลังจากสระผมด้วยแชมพูแล้วใช้ครีมนวดผมทาให้ทั่วเส้นผม ทิ้งไว้สักครู่แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดจนหมดคราบครีมนวดผม ใช้ผ้าขนหนูซับน้ำให้แห้ง ระหว่างที่ผมเปียกไม่ควรหวีผม
3.หลีกเลี่ยงสี่งที่ทำให้ผมเสีย
ความร้อนเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ผมเกิดการเสียแห้งกรอบ ซึ่งความร้อนนอกจากแสงแดดแล้วควรหลีกเลี่ยงการใช้ไดร์เป่าผม หากมีความจำเป็นต้องเป่าผมให้ลูกหลังจากสระผม ควรใช้เป็นลมเป่าอุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาปลูกผม ปลูกคิ้วซึ่งเป็นของผู้ใหญ่มาใช้กับเด็ก เพราะอาจทำให้เด็กมีอาการแพ้ได้
4.เล็มผมอย่างสม่ำเสมอ
ในกรณีที่เด็กมีผมเสียแตกปลายหรือผมพันกันคุณแม่ควรหมั่นเล็มปลายผมที่มาพันกับเส้นผมอื่น ๆจนทำให้เกิดผมรวมตัวกันเป็นกระจุก หากเล็มผมให้สั้นอยู่เสมอก็จะทำให้ลดปัญหาผมพันกันได้
5.บำรุงเส้นผมจากภายนอกด้วยน้ำมัน
น้ำมันที่ช่วยบำรุงเส้นผมไม่ให้พันกันได้ดีกับเด็กซึ่งใช้ปลอดภัย ได้แก่น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก โดยใช้น้ำมันมะพร้าวเพียงเล็กน้อยประมาณ 1 หยดขยี้ให้ทั่วฝ่ามือคุณแม่แล้วลูกบริเวณเส้นผมของลูกเบาๆหลังจากนั้นค่อยๆหวีเส้นผมให้ลูกก็จะช่วยให้การหวีผมทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น ทั้งนี้หากทำในช่วงวันหยุดที่ไม่ไปโรงเรียนก็จะเป็นการดีซึ่งหลังจากทาน้ำมันแล้วก็ควรสระผม ซึ่งการใช้วิธีนี้หลังจากสระผมแล้วอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ครีมนวดผมก็ได้
6.หวีผมให้ถูกวิธี
การหวีผมไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้เส้นผมเสียหาย ผมขาด หรือสร้างความยุ่งยากในการหวีผมให้ลูกได้มากขึ้นเช่นกัน หากให้ความสำคัญในการหวีผมสักนิด โดยการใช้หวีที่เหมาะสมกับเส้นผมของลูกซึ่งมีอ่อนนุ่ม หวีที่เหมาะกับผมของลูกต้องมีปุ่มนวดหนังศีรษะไปด้วย จะช่วยกระตุ้นให้เลือดมาหล่อเลี้ยงเส้นผมได้มากขึ้น การหวีผมควรหวีไปในทิศทางลงของเส้นผม หวีด้วยความเบามือ
7.กินอาหารบำรุงเส้นผม
อาหารมีส่วนสำคัญมากที่สุดในการบำรุงเส้นผมของลูกในช่วงขวบปีแรกที่ลูกกินนมแม่อย่างเดียวหรือในเด็กบางรายที่ได้รับอาหารเสริมโปรตีนเป็นประจำ จะสังเกตได้ว่าเส้นผมลูกจะดกดำมาก ไม่มีปัญหาผมพันกันหรือผมบางเลย ทั้งนี้จึงให้ความสำคัญเรื่องอาหารสำหรับลูกน้อย คุณแม่ควรจะจัดอาหารที่มีสารอาหารบำรุงเส้นผมมาให้ลูกกินอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งอาหารที่ช่วยบำรุงเส้นผมของลูกน้อยได้แก่ไข่แดง ตับหมู ตับไก่ ปลาแซลมอน ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดฟักทอง งาดำ กล้วยหอม ผักใบเขียว นม โยเกิร์ต และชีส ในเด็กเล็ก คุณแม่อาจจัดเป็นเมนูที่กินง่ายเช่น โจ๊กหมูสับใส่ตับและไข่ ซุปฟักทอง และผักโขมอบชีส โดยหมุนเวียนเปลี่ยนเมนู เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างหลากหลายช่วยให้ร่างกายดูดซึมไปใช้บำรุงหนังศีรษะและเส้นผมได้ดี
8.เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเส้นผมที่อ่อนโยนต่อผิวลูก
การเลือกใช้แชมพู และครีมนวดผมที่เหมาะสมกับเส้นผมและหนังศีรษะของลูก ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผมแต่ละยี่ห้อก็ล้วนแต่มีความโดดเด่นในด้านการดูแลและบำรุงเส้นผม มีความอ่อนโยนต่อผิวลูก ปราศจากสารเคมีที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ แต่ในเด็กบางรายเมื่อใช้แล้วอาจมีอาการแพ้ได้ ทั้งนี้เมื่อคุณแม่ใช้แชมพู ครีมนวดผมให้ลูกแล้วต้องสังเกตว่าลูกมีผื่นแดง คัน หรือมีผิวแห้งหรือไม่
9.หากผมยาวควรรวบผมหรือถักเปีย
เมื่อเด็กต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง ปลูกต้นไม้ ทากาวแปะกระดาษหรือเล่นเครื่องเล่นที่สวนสนุก ให้คุณแม่ทำการมัดผมหรือถักเปียของเด็กที่ผมยาวให้เรียบร้อยก่อน หากใส่หมวกได้ก็จะเป็นการป้องกันที่ดี หลังจากนั้นให้เด็กออกไปตะลุยค้นหาประสบการณ์ได้อย่างไร้กังวลเรื่องเส้นผมเลอะกาว ดิน โคลน น้ำหวาน หรืออื่นๆ ที่ทำให้เส้นผมพันกันจนต้องมานั่งแกะเส้นผมภายหลัง
การดูแลเส้นผมให้ลูกในช่วงวัยที่ยังเป็นเด็กเล็กก่อนวัยเรียนจะทำได้ง่ายกว่าเด็กช่วงวัยเรียน เนื่องจากส่วนใหญ่เด็กจะอยู่ใกล้ชิดคุณพ่อคุณแม่ ส่วนเด็กที่ไปโรงเรียนมีโอกาสเจอสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้ผมพันกันได้ง่ายกว่า อีกทั้งเด็กอาจจะมีการเลือกกินอาหารที่ตัวเองชอบ ซึ่งบางครั้งก็จะขาดวิตามินที่ช่วยบำรุงเส้นผม จึงทำให้มีปัญหาเรื่องผมพันกันได้นั่นเอง ลองทำตามคำแนะนำนี้ดู
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..