ซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่หากพบในขณะตั้งครรภ์ ก็อาจเป็นอันตรายได้ทั้งกับลูกน้อยในครรภ์และตัวคุณแม่เอง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วในการฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์มักจะตรวจหาความผิดปกติและโรคซิฟิลิสก่อนเสมอ เพื่อที่หากพบว่าคุณแม่เป็นโรคดังกล่าว จะได้ทำการรักษาและป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่เนิ่นๆ นั่นเอง

โรคซิฟิลิส คืออะไร?

ซิฟิลิส เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและสามารถติดต่อไปถึงกันได้ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ และเมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เชื้อดังกล่าวก็สามารถที่จะติดต่อจากคุณแม่ไปสู่ลูกน้อยในครรภ์ได้อีกด้วย ซึ่งอาจจะทำให้เด็กคลอดออกมาเป็นโรคซิฟิลิสโดยกำเนิด หรือหากติดเชื้อขั้นรุนแรงก็จะทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิดได้ นอกจากนี้ก็อาจทำให้เด็กมีอาการผิดปกติ เช่น หูหนวก ตาบอดและผิดปกติทางระบบประสาทได้เช่นกัน

อาการของโรค

เมื่อป่วยด้วยโรคซิฟิลิส ในระยะแรกๆ อาจไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็น แต่เมื่อปล่อยไว้นานๆ โดยไม่ได้รับการรักษา ก็จะเริ่มมีความรุนแรงของโรคมากขึ้นและมีอาการแสดงออกมาอย่างเด่นชัด โดยอาการของโรคซิฟิลิส สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะดังนี้

  • ระยะที่ 1 จะเริ่มจากการเป็นแผล โดยเมื่อติดเชื้อจะเกิดตุ่มเล็กๆ และมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนแตกออกมาเป็นแผลวงกว้างในที่สุด
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะเข้าข้อออกดอก โดยระยะนี้เชื้อได้เข้าไปสู่ต่อมน้ำเหลือทั่วร่างกายและเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะเกิดเป็นผื่นขึ้นทั้งตัวอาจเป็นตุ่มนูนสีแดงหรือเป็นจุดน้ำตาลแดงก็ได้ แต่ไม่มีอาการคัน นอกจากนี้ในบางคนก็อาจมีไข้ต่ำๆ ปวดหลัง ปวดเอวร่วมด้วย
  • ระยะที่ 3 เรียกว่าระยะทำลาย คือระยะที่โรคมีความร้ายแรงที่สุดเพราะเชื้อได้เข้าสู่สมองและไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาตหรือมีอาการร้ายแรงอื่นๆ เช่น ความจำเสื่อม หูหนวก ตาบอด หรือบางคนอาจเสียสติและถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

เมื่อติดเชื้อซิฟิลิสในขณะตั้งครรภ์ มีผลอย่างไรบ้าง

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เมื่อตรวจพบว่ามีการติดเชื้อซิฟิลิสในขณะตั้งครรภ์ จะขึ้นอยู่กับว่าคุณแม่ได้ติดเชื้อมานานหรือยังและเชื้อกำลังอยู่ในระยะไหน ซึ่งจะได้รับผลกระทบไปตามความรุนแรงของโรคนั่นเอง โดยผลที่เกิดขึ้นเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อซิฟิลิสและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ก็มีดังนี้

  • เพิ่มโอกาสในการแท้ง โดยทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้ตลอดช่วงอายุการตั้งครรภ์
  • มีโอกาสที่จะคลอดก่อนกำหนด และทารกอาจเสียชีวิตหลังคลอดได้
  • ทารกมีการเจริญเติบโตช้าและมีภาวะบวมน้ำ ทำให้ทารกอาจมีความผิดปกติได้
  • ส่งผลให้ทารกเป็นโรคซิฟิลิสโดยกำเนิด

มีวิธีการรักษาอย่างไร

หากตรวจพบว่าคุณแม่เป็นโรคซิฟิลิสในระหว่างการตั้งครรภ์ เพื่อรักษาและป้องกันไม่ให้เชื้อลุกลามจนเป็นอันตรายต่อทารก แพทย์จะให้การรักษาด้วยการฉีดยาเพนิซิลิน ซึ่งต้องฉีดอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์จนครบ 3 เข็ม โดยยาชนิดนี้ ทางกรมอนามัยของสหรัฐอเมริกาได้ยืนยันแล้วว่าไม่มีรายงานที่มีผลต่อทารกในครรภ์ จึงสามารถใช้ยาเพนิซิลินเพื่อรักษาโรคซิฟิลิสในขณะตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตามจะต้องคอยติดตามผลการรักษากับแพทย์อย่างใกล้ชิด และทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเสมอ ที่สำคัญต้องมาฉีดยาตามแพทย์นัดอย่างต่อเนื่องจนครบ เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

มีวิธีป้องกันการเป็นโรคซิฟิลิสก่อนการตั้งครรภ์ไหม

Sponsored

การป้องกันโรคซิฟิลิสก่อนการตั้งครรภ์สามารถทำได้ นั่นก็คือการตรวจสุขภาพสามีภรรยาก่อนแต่งงานหรือก่อนวางแผนมีบุตรนั่นเอง โดยในโปรแกรมตรวจสุขภาพดังกล่าว จะมีการตรวจหาเชื้อซิฟิลิสและตรวจหาความผิดปกติอื่นๆ โดยเฉพาะโรคหรืออาการผิดปกติที่อาจติดต่อไปสู่ลูกผ่านทางกรรมพันธุ์ได้ ซึ่งจากการตรวจดังกล่าว หากพบว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นโรคซิฟิลิส ก็จะได้ทำการรักษาได้ทัน ก่อนที่จะมีบุตรนั่นเอง และเนื่องจากโรคซิฟิลิสอาจติดต่อได้โดยง่าย แพทย์จึงมีคำแนะนำอื่นๆ ในการป้องกันดังนี้

  • งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์หลายคู่นอน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายชายหรือหญิง โดยควรมีเพศสัมพันธ์กับคู่สามีภรรยาของตนเองเท่านั้น เพราะโรคนี้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากฝ่ายชายไปติดเชื้อจากหญิงอื่นมา ก็อาจนำเชื้อดังกล่าวมาติดภรรยาได้
  • กรณีที่ตรวจพบว่าฝ่ายชายเป็นโรคซิฟิลิส และอยู่ในระหว่างการรักษา ควรงดเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ หรืออาจใช้ถุงยางในการมีเพศสัมพันธ์เสมอ แต่ถุงยางอนามัยที่นำมาใช้จะต้องครอบคลุมบริเวณที่เป็นแผลได้ด้วย
  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศและร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะฝ่ายชายก่อนมีเพศสัมพันธ์ควรทำความสะอาดอวัยวะเพศให้ดีก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ไปสู่ฝ่ายหญิง ซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ได้มีแค่โรคซิฟิลิสเท่านั้น
  • เมื่อตั้งครรภ์ คุณแม่ควรตรวจคัดกรองซิฟิลิสทันที เพราะหากตรวจพบก็จะได้ทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ นั่นเอง

โรคซิฟิลิส เป็นโรคที่มีการติดต่อทางเพศสัมพันธ์และสามารถติดต่อไปสู่ลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างง่ายดาย แถมยังมีความร้ายแรงเป็นอย่างมากอีกด้วย ดังนั้นสำหรับใครที่อยากมีลูก ควรวางแผนการตั้งครรภ์ให้ดีและอย่าลืมตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ทั้งฝ่ายชายและหญิงเสมอ ที่สำคัญหากตรวจพบว่าเป็นโรคซิฟิลิสในขณะตั้งครรภ์ จะต้องทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดและไปฉีดยาตามแพทย์นัดอย่างต่อเนื่องจนครบด้วย

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.ปอดอักเสบ เกิดจากอะไร? แม่ท้องเป็นโรคนี้จะส่งผลต่อลูกในครรภ์ไหม

2.อาการท้องแรก และ 7 เรื่องที่คุณแม่มือใหม่ต้องรู้