คุณแม่บางคนมีอาการผิดปกติเหมือนกับการตั้งครรภ์ แต่เมื่อได้ทำการตรวจอย่างละเอียดแล้วกลับพบว่าไม่มีอาการตั้งครรภ์แต่ประการใด เมื่อเกิดอาการแบบนี้ จึงทำให้มีข้อสงสัยเกิดขึ้นว่าอาการเหมือนท้อง แต่ตรวจไม่เจอ แท้จริงแล้วจะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นหรือไม่ วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจให้กับคุณแม่กันค่ะ

อาการเหมือนท้อง แต่ตรวจไม่เจอ เพราะอะไร

โดยส่วนใหญ่เมื่อมีการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลง จนทำให้ในคุณแม่บางรายมีอาการแพ้ท้อง ตั้งแต่ช่วงเดือนแรก และหายไปเมื่อย่างเข้าเดือนที่ 3 ที่ 4 แต่สำหรับบางคนที่มีสภาวะเกิดความเครียด ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ จนมีความกังวล ก็อาจทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ และส่งผลให้มีอาการคล้ายกับอาการแพ้ท้องได้เช่นกัน ซึ่งจริงๆ แล้วคุณอาจไม่ได้ท้องก็ได้ โดยสาเหตุที่ทำให้บางคนมีอาการเหมือนท้อง แต่ตรวจไม่เจอ ก็มี 2 สาเหตุหลักๆ ดังนี้

1.ท้องอ่อนๆ ฮอร์โมนยังต่ำอยู่

คนตั้งครรภ์เมื่อเริ่มมีการปฏิสนธิและไข่เคลื่อนตัวไปฝังตัวที่ผนังมดลูก สภาวะฮอร์โมนในร่างกายของแม่ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ในคุณแม่บางรายอาจจะเริ่มมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียนได้ตั้งแต่สัปดาห์แรก หลังจากที่ไข่ได้รับการผสม หลังจากนั้นก็จะมีอาการแพ้ท้องมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้หากฮอร์โมนยังต่ำอยู่ คุณแม่อาจมีอาการเหมือนท้อง แต่ตรวจไม่เจอก็ได้ ซึ่งจะตรวจพบก็ต่อเมื่อระดับฮอร์โมนเพิ่มขึ้นแล้วนั่นเอง

2.ไม่ได้ท้องจริง

มีผู้หญิงหลายคนที่แต่งงานแล้วและมีความเครียดที่ต้องการจะมีลูก แต่ไม่มีสักที โดยเมื่อความเครียดสะสมทั้งทางด้านความกดดันของครอบครัว การทำงานหนัก การพักผ่อนน้อย และจิตใจที่วิตกกังวล ก็อาจจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะหรืออาการอื่นๆ ที่เหมือนกับคนแพ้ท้องได้ ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นทุกเช้าติดต่อกันหลายวัน แต่เมื่อได้รับการตรวจแล้วไม่พบว่ามีการตั้งครรภ์แต่อย่างไร นั่นก็เพราะว่าคุณไม่ได้ท้องนั่นเอง

อาการเหมือนท้อง แต่ตรวจไม่เจอ เป็นโรคเหล่านี้หรือเปล่า

เมื่อมีอาการเวียนหัวคลื่นไส้อาเจียน อาการเหมือนท้อง แต่ตรวจไม่เจอ ก็ต้องลองสังเกตตัวเองดูสักนิดว่ากำลังมีปัญหาสุขภาพ หรือป่วยเป็นโรคอะไรอยู่หรือเปล่า เพราะโรคบางชนิดก็อาจมีอาการคล้ายกับคนท้องได้ โดยมีโรคอะไรบ้างมาดูกันเลย

1.เครียดลงกระเพาะ

ในชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ ทั้งปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตที่มีความเร่งรีบไปทุกอย่าง จึงทำให้ผู้หญิงปัจจุบันที่ทำงานนอกบ้านประสบปัญหาความเครียดอยู่ทุกวัน จนเกิดการสะสมและตามมาซึ่งสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ สุขภาพกายทรุดโทรม รวมถึงการกินอาหารไม่ตรงเวลาก็อาจจะนำพามาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่าง เช่น ทำให้เกิดโรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร โดยเฉพาะกระเพาะอาหารเป็นแผล ความดันโลหิตสูง รวมถึงอาจจะเป็นโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งก็ได้

อาการความเครียดลงกระเพาะ

โรคนี้พบได้มากในคุณผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ และต้องทำงานไปด้วย ซึ่งมักเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมาก โดยอาการส่วนใหญ่เมื่อเครียดจะทำให้เกิดหัวใจเต้นแรง หายใจหอบถี่ มีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง ริมฝีปากแห้ง นอกจากนั้นยังอาจจะทำให้ระบบการย่อยอาหารแปรปรวน มีกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อาหารไม่ย่อย มีอาการปั่นป่วนในท้อง และรู้สึกคลื่นไส้อาเจียนได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดลงกระเพาะ

ส่วนใหญ่เกิดจากความเครียดที่มีมากเกินไป จนทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนออกมามากผิดปกติ จนเกิดความแปรปรวนไปด้วยทั้งระบบต่างๆ ในร่างกาย เส้นเลือดมีการบีบตัวอย่างแรง ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก จนทำให้ไปกระตุ้นกระเพาะอาหารให้เกิดการหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดการเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้ก็มีการบีบตัวอย่างรุนแรง จนเกิดความปั่นป่วนในช่องท้อง และคลื่นไส้ตามมา

อาการที่อาจจะบอกว่ากำลังเป็นโรคความเครียดลงกระเพาะ

Sponsored

1. ปวดแน่นบริเวณลิ้นปี่ บางครั้งอาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ รวมถึงปวดมวนท้องร่วมด้วย

2. มีอาการคลื่นไส้อาเจียนทุกครั้งหลังจากกินอาหาร ซึ่งเกิดจากกระเพาะอาหารเป็นแผล และลำไส้บีบตัวมาก

3. ถ่ายอุจจาระผิดปกติ โดยถ่ายมากกว่าวันละ 3 ครั้ง แต่บางคนอาจถ่าย 3-4 วันครั้งก็ได้

4. มีอาการเหมือนถ่ายไม่สุดอยู่ตลอดเวลาหลังจากขับถ่ายแล้ว

2.เนื้องอกในมดลูก

เนื้องอกในมดลูกส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นได้ในหญิงอายุ 30-50 ปี โดยมีลักษณะของเนื้องอกที่พบได้ในบริเวณกล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งมีขนาดตั้งแต่เล็กเท่าเม็ดถั่ว จนถึงขนาดโตเท่าไข่เป็ด ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการใดๆ แต่อาจมีอาการคลื่นไส้ เวียนหัวบ่อย จนหลายคนเข้าใจว่าตั้งครรภ์ได้ โดยโรคนี้สามารถตรวจพบได้เมื่อมีการตรวจภายในประจำปี หรือการทำอัลตร้าซาวด์โดยสูตินรีแพทย์ ซึ่งเนื้องอกในมดลูกมี 3 ชนิดคือ

  • เนื้องอกชนิดที่งอกในกล้ามเนื้อมดลูก
  • ชนิดที่ยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก
  • ชนิดที่งอกนอกมดลูก

3.ฮอร์โมนไม่ปกติ

ฮอร์โมนไม่ปกติ อาจเกิดขึ้นได้กับสาวๆ ทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับในกลุ่มคนที่ใกล้หมดประจำเดือนหรือช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจจะมีอาการแสดงออกมาทางร่างกายดังนี้

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติไม่สม่ำเสมอ
  • มีอาการร้อนวูบวาบเหงื่อออกตอนกลางคืน
  • รู้สึกหนาว และบางครั้งอาจจะรู้สึกร้อนผิดปกติ
  • มีอาการเวียนศีรษะปวดศีรษะอ่อนเพลีย
  • ปวดหลังปวดตามข้อกล้ามเนื้อ
  • ใจสั่น ง่วงนอนบ่อย
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ผิวหนังมีริ้วรอยแห้งแตกผมแห้งผมร่วงมีขนตามร่างกายเพิ่มมากขึ้น

หากใครที่มีอาการเหมือนท้อง แต่ตรวจไม่เจอ ให้สงสัยไว้เลยว่าอาจมีปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ก็ได้ ซึ่งการไปพบคุณหมอเพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพจะดีที่สุด หรืออาจไปตรวจการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อความชัวร์ก็ได้เช่นกัน

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.7 อาหารแก้แพ้ท้อง สยบอาการคลื่นไส้ อาเจียนอย่างได้ผล

2.แพ้ท้องระดับไหน เช็คสิ อาการแพ้ท้องของคุณ รุนแรงหรือไม่