อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นในเด็กมักจะเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเกิดจากอาการปวดท้องจากท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในลำไส้ หรือปวดท้องจากอาการท้องผูก อาการเหล่านี้จะหายไปได้เองหลังจากนอนพัก แต่มีอาการปวดท้องอีกสาเหตุหนึ่งที่มักพบในเด็ก เมื่อเป็นแล้วไม่สามารถปล่อยให้หายเองได้ จำเป็นต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ นั่นคือ อาการเด็กปวดท้องที่เกิดจากโรคบิดนั่นเอง โดยมีสาเหตุมาจากอะไร มีวิธีการป้องกัน และรักษาแบบไหนมาดูกันเลยค่ะ
เด็กปวดท้อง อาจมีสาเหตุจากโรคบิด
เมื่อลูกร้องไห้จากอาการปวดท้อง ในเด็กเล็กที่ยังบอกเล่าอาการไม่ได้ว่าปวดแบบไหน ก็จะทำให้คุณแม่คาดเดาอาการได้ยาก ส่วนเด็กโตก็พอจะแจ้งรายละเอียดได้ชัดกว่า การวินิจฉัยโรคจึงทำได้ง่ายกว่า ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องจากโรคบิดคือ การติดเชื้อในลำไส้ จนทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงนั่นเอง
อาการโรคบิด เป็นอย่างไร
โรคบิดที่พบในปัจจุบันมี 2 แบบคือโรคบิดแบบมีตัว และโรคบิดไม่มีตัว ซึ่งสามารถตรวจพบเชื้อบิดในอุจจาระแต่ไม่มีอาการ สำหรับโรคบิดที่ทำให้เกิดอาการส่วนใหญ่เป็นโรคบิดชนิดมีตัว โดยมีอาการที่แสดงชัดเจนหลังจากได้รับเชื้อมาแล้ว 7 วันโดยอาการที่แสดงมีดังนี้
1. เด็กปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีอาการปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ บางครั้งมีอาการเหมือนถ่ายไม่สุด รวมถึงอาการปวดหน่วงที่ทวารหนัก
2. ปวดท้อง คลื่นไส้ และในเด็กบางรายอาจมีการอาเจียนร่วมด้วย
3. เด็กอาจมีไข้สูง 38 องศา หรือในเด็กบางรายอาจสูงกว่านี้จนทำให้เกิดอาการชักได้
4. เด็กปวดท้อง ร่วมกับมีอาการกระวนกระวาย เพราะร่างกายขาดน้ำ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
5. ท้องเสียรุนแรงถึงขั้นเป็นเลือด ร่วมกับอาการมูกเลือด เนื่องจากมีการแตกของฝีหนองที่หุ้มเชื้อโรคในลำไส้
วิธีการรักษาโรคบิด
การรักษาโรคบิด จากการตรวจพบเชื้อในอุจจาระ ซึ่งมีเชื้อ 2 ชนิด คือเชื้อบิดชนิดมีตัว และไม่มีตัว ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้
1.การรักษาโรคบิดที่ไม่มีตัว
กรณีเด็กปวดท้อง จากโรคบิดที่ไม่มีตัวอาการจะไม่รุนแรง และแสดงอาการในระยะเวลา 5-7 วัน สามารถรักษาโดยการให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ให้ผู้ป่วยนอนพักเพื่อฟื้นฟูร่างกาย ก็จะทำให้อาการค่อยๆ ดีขึ้นเองได้ หากผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียมาก แพทย์อาจให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดร่วมด้วย แต่ทั้งนี้ไม่ควรใช้ยาแก้อาการท้องเสีย เพราะจะทำให้อาการท้องเสียเป็นมากกว่าเดิมได้
2.โรคบิดชนิดมีตัว
เนื่องจากเชื้อบิดชนิดมีตัว ซึ่งเกิดจากอมีบา เมื่อได้เข้าสู่ร่างกายแล้วยากที่จะกำจัดออกจากร่างกายได้ง่าย จึงจำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดท้องบิด โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อให้หมดจากร่างกาย และลดโอกาสไม่ให้เชื้อลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย ส่วนในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการแทรกซ้อน ก็จำเป็นต้องรักษาตามอาการต่อไป หลังจากแพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยแล้วว่า เชื้ออมีบาออกจากร่างกายหมดแล้ว เมื่อผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้านระยะหนึ่งแล้ว ผู้ป่วยยังคงต้องกลับมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจหาเชื้อจนกว่าจะไม่มีเชื้อหลงเหลือในร่างกายอยู่เลยจึงถือว่าปลอดภัย
การป้องกันโรคบิด
โรคบิดสามารถป้องกันได้ ด้วยการดูแลเรื่องสุขอนามัยส่วนตัวให้ดี ด้วยวิธีการดังนี้
1. การล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอโดยเฉพาะ ก่อนปรุงอาหาร ชงนม ก่อนสัมผัสอาหารและภาชนะที่ใส่อาหารให้ลูก รวมถึงทั้งก่อนและหลังป้อนอาหารต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ที่สำคัญหลังการเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกคุณแม่ต้องล้างมือ ฟอกด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งด้วย
2. ให้ลูกดื่มน้ำสะอาดโดยเป็นน้ำต้มสุก หรือน้ำดื่มบรรจุที่ได้มาตรฐาน ไม่ควรดื่มน้ำจากแหล่งธรรมชาติ และน้ำสำหรับชงนมให้ลูกก็ต้องผ่านการต้มสุกแล้วเท่านั้น
3. ในเด็กโตที่กินอาหารทั่วไปได้ ต้องกินอาหารปรุงสุก และควรกินในขณะที่อาหารยังร้อนอยู่ สำหรับคุณแม่ที่จำเป็นต้องซื้ออาหารสำเร็จ มาให้ลูกควรนำไปอุ่นให้ร้อนจัดก่อนให้ลูกกินทุกครั้ง
4. ควรเลือกอาหารที่ปลอดภัย ผ่านการผลิตมาจากโรงงานที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย
5. ผักและผลไม้สด ควรล้างด้วยน้ำยาล้างผัก เกลือ น้ำส้มสายชู และด่างทับทิมแบบเจือจาง และล้างซ้ำด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เพื่อให้สะอาดอย่างปลอดภัยจากเชื้อโรค และสารเคมีปนเปื้อน
6. หากจำเป็นต้องเก็บอาหาร ควรเก็บให้ปลอดภัยจากสัตวที่เป็นพาหะนำโรค เช่น แมลงวัน หนู แมลงสาบ และสัตว์อื่นๆ
7. ควรเลี้ยงทารกด้วยน้ำนมแม่ให้นานที่สุด อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อช่วยให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง สามารถต่อต้านเชื้อโรค ป้องกันอาการเด็กปวดท้องที่เกิดจากโรคบิดได้
8. ขับถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงการทิ้งผ้าอ้อมเด็กที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่มิดชิดแยกออกจากขยะอื่นๆ เพื่อสะดวกในการนำไปกำจัด
9. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำแข็ง รวมถึงน้ำขวดที่ปิดไม่สนิท ขวดบุบ เพราะอาจมีรอยรั่วซึม จนทำให้เชื้อโรคเล็ดลอดเข้าไปได้
เมื่อเด็กปวดท้อง คุณแม่ควรสังเกตุอาการอย่างใกล้ชิด หากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลรักษาเบื้องต้น ควรรีบนำลูกไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการตรวจรักษา ซึ่งการที่ลูกได้รับเชื้อบิดเข้าสู่ร่างกายแล้ว วิธีที่จะให้เชื้อหายมีวิธีเดียวคือการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามากินเองโดยไม่มีคำสั่งแพทย์เด็ดขาด
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่