การตั้งครรภ์ของคุณแม่แต่ละครั้งจัดว่ามีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะคุณแม่ ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคประจำตัว ซึ่งในบางรายอาจเกิดปัญหาภาวะทารกตายตอนแรกคลอด หรือตายในท้องก่อนครบกำหนดคลอดได้ โดยสาเหตุที่แท้จริงแล้วนั้นเกิดจากอะไรได้บ้าง และมีแนวทางป้องกันหรือไม่ มาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันเลย
ภาวะตายคลอด คืออะไร
ภาวะตายคลอด คือเหตุการณ์ที่ทารกเสียชีวิตในครรภ์มารดา ก่อนที่จะครบกำหนดคลอด โดยมีอายุครรภ์ในช่วง 28 สัปดาห์ขึ้นไป หากทารกตายก่อนอายุครรภ์ครบ 24 สัปดาห์ หรือทารกมีน้ำหนักต่ำกว่า 600 กรัม ก็จัดได้ว่าเป็นการแท้งบุตรตามที่แพทย์ในเมืองไทยได้วินิจฉัยไว้เป็นเกณฑ์ การตายคลอดในทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาส่วนใหญ่เกิดได้หลายสาเหตุ ซึ่งเหตุหลักยังไม่ทราบแน่ชัดแต่มีเหตุรองลงมาพอจะแยกได้ดังนี้
สาเหตุที่ทำให้เกิด ภาวะตายคลอด
การที่ทารกมีโอกาสเสียชีวิตก่อนครบกำหนดคลอด หรือภาวะตายคลอดอาจเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
1.ทารกมีโครโมโซมที่ผิดปกติ จะทำให้ทารกมีการติดเชื้อได้ง่าย จนทำให้ทารกมีการเจริญเติบโตช้าซึ่งอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ก็เป็นได้
2.รกเสื่อมสภาพก่อนกำหนด สายสะดือพันกัน จนทำให้อาหารถูกส่งไปเลี้ยงทารกได้ไม่เพียงพอ หรือในทารกบางรายอาจจะถูกรกพันคอจนขาดอากาศ หรือมีออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก และเสี่ยงต่อการตายของทารก
3.แม่มีโรคแทรกซ้อนโรคบางอย่างที่คุณแม่เป็นอยู่แล้วก่อนคลอด ย่อมมีความเสี่ยงให้ลูกตายก่อนคลอดได้ เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน หรืออาจมาจากสาเหตุที่แม่มีภาวะคลอดยาก ทารกคลอดท่าผิดปกติ แม่มีการตกเลือดก่อนคลอดหรือขณะคลอด ครรภ์เป็นพิษ ตลอดถึงการที่คลอดขณะที่อายุครรภ์เกินกำหนด และมีพบได้ในแม่ที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่มากเกินไปก็ส่งผลให้เกิดภาวะตายคลอดได้เช่นกัน
4.แม่มีโรคเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด รวมถึงการติดเชื้อในครรภ์ เช่น ซิฟิลิส
5.แม่มีโรคติดเชื้อบางชนิด โดยโรคที่อาจทำให้ทารกมีโอกาสตายคลอดได้สูงที่พบบ่อยคือ ไข้มาลาเรีย ปอดบวม หัดเยอรมัน เริม รวมถึงโรคคางทูม
6.แม่ได้รับอุบัติเหตุขณะตั้งครรภ์ เช่นตกจากที่สูง หรือโดนกระแทกอย่างรุนแรง
วิธีสังเกตหากทารกตายในท้อง
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยตายในครรภ์ ก็มีวิธีการสังเกตดังนี้
1. แม่จะมีไม่มีอาการของคนกำลังตั้งครรภ์ กล่าวคืออาการที่เคยเป็น เช่น เต้านมคัดตึง คลื่นไส้ อาเจียนจะหายไป
2. แม่อาจจะน้ำหนักลดลง
3. ท้องที่เคยโตอาจจะเล็กลง
4. ไม่มีสัญญาณการดิ้นของทารกเป็นเวลานาน
5. มีเลือดออกทางช่องคลอด
การป้องกันภาวะตายคลอด
คุณแม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะตายคลอด ได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1.ฝากครรภ์เร็วที่สุด
การฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ จะทำให้ได้รับการตรวจครรภ์ และได้รับคำแนะนำในการดูแลครรภ์อย่างใกล้ชิดจากคุณหมอ จะทำให้ได้รับทราบแนวทางในการดูแลรักษาตัวเองขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งในเรื่องอาหารและการดูแลตนเอง หากมีโรคที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ ก็ควรจะได้รับการรักษาในขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ และการไปตรวจครรภ์ตามนัดอย่างต่อเนื่องก็จะช่วยให้คุณแม่ และลูกปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงการที่แพทย์ตรวจพบปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะตายคลอด ในขณะที่อายุครรภ์ยังน้อยก็จะทำให้แพทย์สามารถแก้ไขให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ เพื่อช่วยรักษาชีวิตของแม่
2.ทานอาหารที่สุก และสะอาด
การเลือกกินอาหารที่สุก สะอาดย่อมมีประโยชน์กว่าอาหารสุกๆ ดิบ ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะมีอาการแพ้ท้อง อาจทำให้อยากกินอาหารแปลก ๆ หรืออาหารที่ดิบได้ อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกนอกจากทำให้มีความเสี่ยงต่อการที่ลูกตายคลอดแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยตรงเช่น ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ และอาจได้รับเชื้อพยาธิเข้าสู่ร่างกายได้อีกด้วย รวมถึงการกินอาหารอย่างสมดุล ไม่กินที่มีรสหวาน มันมากเกินไป จนทำให้เป็นเบาหวานหรือโรคอ้วนได้
3.อย่าซื้อยากินเอง
หากคุณแม่มีการเจ็บป่วย ควรปรึกษาแพทย์ หากจำเป็นต้องใช้ยาต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งให้ และใช้เท่าที่จำเป็น
4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ
คุณแม่ควรเลี่ยงการสัมผัสสารพิษ สารเคมี ที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อแม่ และทารกในครรภ์ได้ เช่นไม่ควรเข้าไปในสถานที่ที่มีการก่อสร้าง การพ่นสี ทินเนอร์ สารฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาเช็ดกระจกหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดพื้น หรือห้องน้ำ หากมีความจำเป็นต้องทำความสะอาดควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากธรรมชาติปราศจากสารเคมี
5.นับลูกดิ้นอยู่เสมอ
เมื่ออายุครรภ์เกิน 28 สัปดาห์ ควรนับจะนวนการดิ้นของลูกในครรภ์ พร้อมทั้งจดบันทึกจำนวนการดิ้นไว้ทุกชั่วโมง หากการดิ้นของลูกลดลงหรือไม่ดิ้นควรไปพบแพทย์
การดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ ให้ปลอดภัยจากภาวะตายคลอดของทารกในครรภ์สามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังที่กล่าวมาก็จะช่วยให้ลดความเสี่ยงลงได้ ส่วนในคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องมดลูกที่ไม่พร้อมสำหรับการมีลูกควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ดูแลตัวเองและทารกในครรภ์อย่างถูกวิธี เพื่อจะได้ประคับประคองให้ทารกปลอดภัยจนคลอดออกมาได้
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..
1.ลูกไม่กินข้าว เกิดจากอะไร และวิธีการรับมือ
2.เพราะอะไร ลูกมักอาเจียนหลังดื่มนม และเป็นอันตรายไหม