คำว่า ” เร่งคลอด ” อาจจะฟังดูน่ากลัวสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงเดือนท้ายๆ ที่จะได้เชยชมกับลูกน้อยแล้ว โดยปกติ เมื่อผ่านสัปดาห์ที่ 36 ขึ้นไป คุณแม่บางคนก็จะเริ่มรู้สึกอะไรบางอย่างที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าจะคลอด แต่บางคนยังไม่มีวี่แววอะไรเลย ก็อาจจะทำให้เกิดความวิตกกังวล และอาจส่งผลกระทบทั้งต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับการเร่งคลอด และสาเหตุที่ทำให้ต้องเร่งคลอดกันดีกว่า เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือได้ทันนั่นเอง

การ เร่งคลอด คืออะไร

ชื่อก็บอกตรงตัวอยู่แล้วว่า การเร่งคลอด คือการทำให้คุณแม่คลอดลูกได้เร็วขึ้น ไม่ใช่ว่าคุณแม่ทุกคนจะต้องถูกเร่งคลอด และไม่ใช่ว่าการเร่งคลอดจะสามารถทำได้กับทุกคน ผู้ที่พิจารณาว่า จะต้องให้คุณแม่เร่งคลอดหรือไม่ และต้องใช้วิธีการใด จะต้องเป็นแพทย์เท่านั้น สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการเร่งคลอดหลักๆ ได้แก่

  • เกินกำหนดคลอดแล้ว แต่ก็ยังไม่คลอด และไม่มีสัญญาณใดๆ
  • ถุงน้ำคร่ำแตก แต่คุณแม่ก็ไม่มีสัญญาณของการปวดท้องคลอด
  • พบภาวะแทรกซ้อนในครรภ์ โดยเฉพาะปัญหาครรภ์เป็นพิษ และโรคอื่นๆ ที่จำเป็นต้องทำคลอดโดยเร็วที่สุดเพื่อรักษาชีวิตเด็กและคุณแม่
  • ภาวะแท้งบุตร ยิ่งถ้าพบว่าทารกในครรภ์เสียชีวิตแล้ว แต่ไม่มีการคลอดออกมา อาจส่งผลร้ายต่อตัวคุณแม่
  • คุณแม่มีอาการตกเลือดก่อนจะคลอด
  • ปัญหาเกี่ยวกับรก เช่น รกเกาะต่ำ รกพันคอเด็ก รกลอกก่อนกำหนด เป็นต้น

แพทย์จะใช้วิธีการใดบ้างในการเร่งคลอด

เมื่อพบภาวะที่ทำให้ต้องมีการเร่งคลอดแล้ว แพทย์จะเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสม จากวิธีดังต่อไปนี้

1.การกวาดปากมดลูก

วิธีนี้เป็นวิธีแรกๆ ที่แพทย์จะเริ่มเลือกใช้ เพราะทำได้ง่ายและปลอดภัย เพียงแค่ใช้นิ้วกวาดปากมดลูกคล้ายการตรวจภายใน เพื่อกระตุ้นให้ปากมดลูกเปิดและกระตุ้นให้เจ็บครรภ์เพื่อเตรียมคลอด หากสำเร็จคุณแม่จะเริ่มปวดท้องใน 1-2 วัน

2.เจาะถุงน้ำคร่ำ

หากปากมดลูกขยายเพียงพอแล้ว แต่ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก แพทย์ก็จะเจาะถุงน้ำคร่ำ เพื่อกระตุ้นให้มีการเจ็บครรภ์ เมื่อถุงน้ำคร่ำแตก ทารกจะเลื่อนตัวลงมาพร้อมที่จะออกไปสู่โลกภายนอก ร่างกายของคุณแม่ก็พร้อมที่จะคลอดในเวลาไม่นาน

3.ฮอร์โมน Prostaglandin

วิธีนี้ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด แพทย์มักจะเลือกใช้ยาที่เป็นแบบเหน็บเพื่อสอดไปในช่องคลอด แล้วรอเวลาให้ยาออกฤทธิ์ ซึ่งจะทำให้เกิดการกระตุ้นให้มดลูกหดตัว พร้อมกันนี้ปากมดลูกก็จะค่อย ๆ ขยายมากกว่าเดิม

Sponsored

4.ฮอร์โมน Oxytocin หรือยาเร่งคลอด

แพทย์จะฉีดยาเข้าไปในสายน้ำเกลือ และจะคอยปรับน้ำเกลือให้เหมาะสมเรื่อย ๆ ยาชนิดนี้ช่วยให้คลอดได้เร็วที่สุด แต่ผลข้างเคียงก็เยอะเพราะคุณแม่จะปวดท้องมากกว่าปกติ จึงต้องมีการบล็อกหลัง เพราะฉะนั้นจึงต้องอยู่ในความดูแลแพทย์ตลอดเวลานับตั้งแต่เริ่มใช้ยาจนคลอดสำเร็จ

ถ้าเร่งคลอดแล้วไม่ได้ผล จะทำอย่างไร

กรณีที่เร่งคลอดแล้วไม่ได้ผล หรือไม่สามารถใช้วิธีการเร่งคลอดได้ แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดคลอดแทน นั่นก็เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยในครรภ์ โดยเฉพาะกรณีที่เกินกำหนดคลอดแล้ว หรือแม่มีภาวะแทรกซ้อน ที่จำเป็นต้องคลอดทารกออกมาโดยด่วน ไม่อย่างนั้นอาจเกิดอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้นั่นเอง

ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวเกี่ยวกับการเร่งคลอด ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรศึกษาเอาไว้ การเร่งคลอดไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เพราะเรื่องที่น่ากลัว คือสุขภาพของคุณแม่และเด็กมากกว่า หากพบปัญหาผิดปกติเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ก็ควรปรึกษาแพทย์ทันที

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.แม่ท้องเป็นหัดเยอรมัน จะเป็นอันตรายไหม

2.ไข้กาฬหลังแอ่นในเด็ก อีกหนึ่งโรคร้ายที่พ่อแม่ต้องระวัง