ในช่วงอากาศเย็นๆ มักพบโรคที่ทำให้เด็กเกิดเจ็บป่วยได้บ่อยๆ อย่างเช่น โรคหัดเยอรมัน ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อทำให้ติดต่อกันได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคหัดเยอรมัน เราจะมาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น

โรคหัดเยอรมันในเด็ก คืออะไร

โรคหัดเยอรมันนั้น ถือเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง โดยมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Rubella ซึ่งเชื้อนั้นจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย เมื่อไปสัมผัสโดนโดยตรง หรือสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย ก็จะทำให้ติดเชื้อได้

เด็กส่วนใหญ่ที่เป็นหัดเยอรมัน อาการมักไม่รุนแรง โดยเมื่อได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว จะมีอาการไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู ท้ายทอยและด้านหลังลำคอ นอกจากนี้เมื่อมีไข้วันที่ 3 จะเริ่มมีผื่นขึ้นซึ่งมีลักษณะแผ่นแบนๆ สีชมพู ตามใบหน้า และลามไปทั้งตัวภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้น 1-2 วันผื่นจึงค่อยๆ หายไป แต่เด็กบางคนอาจมีอาการเพียงผื่นขึ้น ไม่มีไข้หรือแสดงอาการอื่นๆ ก็เป็นไปได้

ปัจจัยอะไรบ้าง ทำให้ลูกเป็นโรคนี้ได้ง่าย

สำหรับปัจจัยที่อาจทำให้ลูกเป็นโรคหัดเยอรมันได้ก็มีดังนี้

1. ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกัน

สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันนี้ คุณแม่สามารถนำลูกไปฉีดได้ตั้งแต่เข็มแรก เมื่อมีอายุ 9 เดือน และเข็มที่สอง เมื่อมีอายุ 2ปี6เดือนขึ้นไป ซึ่งถ้าคุณแม่ละเลยก็อาจทำให้ลูกมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้

2. ขาดวิตามิน A

การขาดวิตามิน A หรือในเด็กที่ขาดสารอาหาร มีโอกาสที่จะป่วยอย่างรุนแรงจากโรคหัดเยอรมัน โดยเฉพาะถ้าเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น เช่นปอดอักเสบ อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้

3. เข้าไปในที่ระบาด

ในช่วงที่มีการระบาดของโรคหัดเยอรมัน ไม่ควรพาลูกเข้าไปในสถานที่แออัดต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงหนัง เพราะอาจทำให้ลูกติดเชื้อโรคกลับมาโดยไม่รู้ตัว

วิธีการรักษา

เนื่องจากโรคหัดเยอรมัน เกิดจากเชื้อไวรัสที่ไม่มียารักษาเฉพาะ ดังนั้น ต้องรักษาผู้ป่วยตามอาการ ดังต่อไปนี้

1. แยกผู้ป่วย

คุณแม่ควรแยกลูกออกจากผู้อื่น เมื่อรู้ว่าลูกป่วยเป็นโรคหัดเยอรมัน ควรให้หยุดเรียน และพักผ่อนอยู่กลับบ้าน เพื่อรอให้พ้นระยะติดต่อ โดยเฉพาะเมื่อมีผื่นขึ้นแล้ว ควรอยู่ห่างจากผู้อื่น 7 วัน รวมทั้งต้องไม่ใช้ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆร่วมกับผู้อื่นด้วย

2. ให้วิตามิน A

ผู้ป่วยโรคหัดเยอรมัน ควรได้รับวิตามินA เสริมโดยเฉพาะในเด็กเล็ก เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ภาวะหูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น

3. ให้ยาลดไข้

เมื่อลูกมีไข้ขึ้น คุณแม่สามารถให้ลูกทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และในกรณีที่ไข้ยังไม่ลด สามารถให้ลูกกินยาซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ร่วมกับการเช็ดตัวลูก เพื่อป้องกันอาการชักจากไข้สูง

4. ยาทาแก้คัน

ถ้าลูกมีอาการคัน แพทย์จะจ่ายยาแก้คันอย่าง คาลาไมน์โลชั่น โดยสามารทาบริเวณที่คัน2-3 ครั้งต่อวัน

5. ยาต้านการอักเสบ

ในกรณีที่มีอาการข้ออักเสบ แพทย์จะจ่ายยาต้านการอักเสบให้

6. ดื่มน้ำเยอะๆ

คุณแม่ควรให้ลูกดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อลดอุณหภูมิภายในร่างกาย ซึ่งถ้าลูกทานอาหารได้น้อย คุณแม่อาจหาน้ำหวาน นม หรือน้ำผลไม้ให้ลูกดื่มแทนได้

Sponsored

7. พักผ่อนมากๆ
การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะช่วยให้ลูกฟื้นตัวจากความอ่อนเพลียเมื่อยามเจ็บป่วยได้เร็วขึ้น ดังนั้นคุณแม่ควรให้ลูกนอนเยอะๆ


8. พบแพทย์ทันที

เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆเช่น มีไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ ซึม ชัก เลือดออกตามผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน แขนขาอ่อนแรง หอบเหนื่อย โดยอาจมีสาเหตุจากโรคแทรกซ้อนเช่นสมองอักเสบ ดีซ่านเหล่านี้เป็นต้น จำเป็นที่ต้องพาลูกไปพบแพทย์ทันที

วิธีการป้องกัน

เพื่อไม่ให้ลูกเป็นโรคหัดเยอรมัน มีวิธีป้องกันดังต่อไปนี้

1. ฉีดวัคซีน

คุณแม่ควรพาลูกไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน โดยปัจจุบัน มีวัคซีนรวมMMR ซึ่งสามารถป้องกันโรคได้ถึง 3 โรคคือโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน โดยแพทย์จะแนะนำให้ฉีด2 ครั้ง ซึ่งฉีดเข็มแรกตอนอายุ 9-12เดือน และฉีดเข็มที่สองเมื่อมีอายุ2ปี6เดือนขึ้นไป

2. ใส่หน้ากากอนามัย

เมื่อต้องพาลูกออกไปข้างนอก และไปในแหล่งที่มีผู้คนพลุกพล่าน เช่นห้างสรรพสินค้า คุณแม่ควรให้ลูกสวมหน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันการสูดละอองฝอยที่มีเชื้อโรคเข้าไป

3. ปิดปากเวลาไอจาม

นอกจากป้องกันตนเองไม่ให้ไปรับเชื้อจากผู้อื่นแล้ว คุณแม่ต้องสอนลูกให้ดูแลคนอื่นด้วย เช่นเมื่อเกิดไอหรือจามขึ้นมา ควรสอนให้ลูกรู้จักปิดปากด้วยทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายให้ผู้อื่น

4. ล้างมือบ่อยๆ

การล้างมือบ่อยๆช่วยลดการแพร่เชื้อโรคได้ จึงควรหมั่นให้ลูกล้างมือด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ หรือล้างด้วยแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อโรค และต้องไม่ใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า เช่นขยี้ตา หรือเอามือเข้าปากและจมูกตนเอง

5. ไม่เข้าใกล้ผู้ป่วย

ถ้ารู้ว่าใครป่วยเป็นโรคหัดเยอรมัน ต้องไม่พาลูกไปเข้าใกล้ หรือถ้าจำเป็นต้องไปเยื่ยมผู้ป่วยจริงๆ ต้องใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือทุกครั้งหลังเข้าเยี่ยม

6. ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น

คุณแม่ควรสอนให้ลูกไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่นช้อน ชาม จาน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ของเล่น เพราะอาจทำให้ติดเชื้อโรคกันได้ง่าย

คุณแม่สามารถปกป้องลูกน้อยจากโรคหัดเยอรมัน ด้วยการพาไปรับวัคซีนตามเวลาที่แพทย์กำหนด ซึ่งการได้รับวัคซีนอย่างถูกต้อง จะสามารถป้องกันการเกิดโรคได้เกือบ100% แถมยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับลูกได้ตลอดชีวิตอีกด้วย

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.หัดกุหลาบ โรคนี้เป็นอย่างไร อันตรายต่อลูกน้อยมากแค่ไหน

2.โรคภูมิแพ้ตัวเอง คุณแม่รู้ไหม ลูกน้อยก็อาจเป็นได้