การตั้งครรภ์แต่ละครั้งล้วนแต่มีความเสี่ยง ซึ่งคุณแม่ควรศึกษาข้อมูลในการเตรียมความพร้อมของร่างกายให้ดีพอ เพื่อลดภาวะเสี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ โดยสามารถแยกแยะความเสี่ยงออกได้เป็น 3 ช่วงเวลาหรือ 3 ไตรมาสดังต่อไปนี้
ความเสี่ยงการตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 1
ช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ คุณแม่หลายท่านอาจจะมีอาการแพ้ท้อง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรือมีภาวะอื่นๆ ได้ดังนี้
1.แพ้ท้องหนักอาเจียนบ่อย
ซึ่งคุณแม่ที่แพ้ท้องหนักมากจนกินอาหารไม่ได้ หรือกินได้น้อย กินเข้าไปแล้วสักพักก็มีอาการพะอืดพะอมอาเจียนออกมาหมด จนทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอไม่สามารถที่จะนำไปบำรุง และสร้างเชลล์ประสาทและสมองของลูกน้อยในครรภ์ได้ ส่วนการที่คุณแม่อาเจียนบ่อยก็จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ จนทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เพื่อความปลอดภัยของตัวแม่และลูกน้อยในครรภ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับน้ำเกลือแร่เข้าไปในร่างกายจะได้ทำให้ร่างกายสมดุลขึ้น
2.มีเลือดออกทางช่องคลอด
ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์หากมีเลือดออก คุณแม่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีไม่ต้องรอให้ถึงวันที่หมอนัดเพราะเลือดออกอาจจะมีความเสี่ยงที่ทำให้ลูกน้อยในครรภ์ เกิดอันตราย หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นแท้งลูกได้
3.ปวดท้องน้อยรุนแรง
เป็นอาการปวดท้องของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์อ่อนๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้เนื่องจากการขยายตัวของมดลูก แต่หากมีอาการปวดรุนแรง และปวดบ่อยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ ซึ่งอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน
ความเสี่ยงการตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 2
หลังจากคุณแม่ตั้งครรภ์มาเกิน 3 เดือนแล้ว บางคนอาการแพ้ท้องอาจจะทุเลาลงไปบ้าง และเริ่มกินอาหารได้ แต่ความเสี่ยงก็อาจจะมีอยู่ ไม่ได้ลดลงไปแต่อย่างใด ซึ่งความเสี่ยงในไตรมาสที่ 2 มีเรื่องใดบ้างมาดูกันค่ะ
1.มีภาวะแท้งคุกคาม ซึ่งทำให้คุณแม่มีโอกาสแท้งบุตรได้สูง หากมีอาการเลือดออกทางช่องคลอด ให้คุณแม่หมั่นสังเกต ถ้าพบอาการนี้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
2.มีภาวะปากมดลูกไม่แข็งแรง ซึ่งเป็นสาเหตุของการแท้งบุตรได้เช่นกัน
3.คุณแม่เป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี จนทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งมีความเสี่ยงมากเช่นกัน
4.คุณแม่อาจจะมีโรคความดันโลหิตสูง เมื่อท้องแก่ความดันก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้น
5.คุณแม่มีโรคหัวใจ ภาวะโรคหัวใจอาจจะมีความเสี่ยงมากขึ้น
6.เกิดภาวะรกเกาะต่ำ จึงมีความเสี่ยงที่ทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด
ความเสี่ยงการตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 3
เมื่อถึงไตรมาสที่ 3 ท้องก็โตมากขึ้นความเสี่ยงอื่นๆ ก็ย่อมตามมาหลายอย่างเช่นกัน
1.มีอาการของการแตกหรือรั่วซึมของถุงน้ำคร่ำ
ซึ่งจะพบได้โดยคุณแม่จะมีน้ำลักษณะใสคล้ายน้ำปัสสาวะไหลออกมาทางช่องคลอด ซึ่งจะแตกต่างกับอาการของการเป็นตกขาว น้ำใสที่ไหลออกมาจะไหลมามากจนกลั้นไม่อยู่ หรือบางรายไหลออกเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการรั่วซึมของถุงน้ำคร่ำนั้นเอง เพื่อความปลอดภัยคุณแม่ควรจะไปพบคุณหมอ เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลรักษาต่อไป
2.ครรภ์เป็นพิษ
จะเกิดขึ้นในคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ตัวบวมโดยเฉพาะใบหน้า หนังตา หากคุณแม่พบอาการแบบนี้ให้สังเกตและสงสัยเลยว่าอาจจะเป็นครรภ์เป็นพิษก็ได้ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวัดความดันเลือด ซึ่งในบางรายที่เป็นมาก อาจจะมีอาการปวดศีรษะตาพร่ามัวร่วมด้วย รวมทั้งอาจมีอาการจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นก็ไม่เคยเป็นมาก่อนให้สงสัยเลยว่าอาจเกิดจากอาการครรภ์เป็นพิษ ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อแพทย์จะได้รีบรักษาให้ทันเวลา จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตของทารกในครรภ์และตัวของแม่ลงได้
3.เลือดออกจากช่องคลอด
เมื่อคุณแม่สังเกตตัวเองว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดให้สงสัยเลยว่าอาจจะเกิดอันตรายต่อลูกในครรภ์ได้ ซึ่งอาการเลือดออกทางช่องคลอดเกิดได้กรณีที่มีรกเกาะต่ำ หรือมีการลอกตัวของรกก่อนกำหนดนอกจากนี้อาจจะมีภาวะอื่นๆ ที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อการตั้งครรภ์ได้ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
4.ทารกไม่ดิ้น
หากการดิ้นของลูกเป็นอยู่อย่างสม่ำเสมอดิ้นแรง ดิ้นช้าในแต่ละวัน ซึ่งคุณแม่ก็จะรู้สึกได้อยู่แล้ว แต่หากช่วงเวลาหนึ่งสังเกตว่าลูกดิ้นน้อยลง หรือไม่ดิ้นก็ควรไปพบแพทย์ แต่เพื่อความแน่ใจควรนับเวลาการดิ้นให้มั่นใจก่อนโดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนับจำนวนการดิันของลูก คือในช่วงเวลาตอนเย็นหลังจากกินข้าวอิ่มแล้ว ควรนอนในท่าที่สบาย ตะแคงซ้าย และใช้มือจับดูที่หน้าท้องเพื่อสังเกตว่าลูกมีการดิ้นกี่ครั้ง โดยจดบันทึกไว้ในระยะเวลา 2 ชั่วโมงลูกควรจะดิ้นไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง หากลูกดิ้นน้อยกว่านี้ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน
5.อาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
หากแม่รู้สึกว่ามีอาการท้องแข็งและหดเกร็งเป็นระยะ เริ่มจากปวดห่างๆ แล้วมาปวดถี่ๆ บ่อยขึ้นให้รีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะนั่นคือเป็นอาการปวดท้องใกล้คลอด ซึ่งอาการเหล่านี้อาจจะเป็นสัญญานว่าทารกจะมีการคลอดก่อนกำหนดได้
การตั้งครรภ์ทุกไตรมาสก็ย่อมมีความเสี่ยงมากเช่นกัน แต่หากคุณแม่ได้ฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ และไปตามที่นัดทุกครั้งที่มีนัดตรวจครรภ์ ก็ย่อมจะไม่มีอะไรที่ต้องกังวล เพราะหากเกิดมีความผิดปกติคุณหมอก็สามารถตรวจวินิจฉัย สังเกตุอาการในแต่ละครั้งที่นัดตรวจ หากมีอาการรุนแรงก็จะได้รังษาอย่างทันเวลา ก็จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่ทำได้ดีที่สุด รวมถึงดูแลเรื่องอาหาร กินให้ครบ5 หมู่ ออกกำลังกายเบาๆ ทำจิตใจให้แจ่มใส ก็จะทำให้การตั้งครรภ์ทั้ง 3 ไตรมาสเป็นไปอย่างราบรื่นจนคลอดนั่นเอง
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..
1.เชื้อไวรัส hMPV คืออะไร ทำไมลูกน้อยจึงป่วยบ่อย
2.กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ในเด็กเล็ก วิธีสังเกตและการดูแลเมื่อลูกน้อยป่วย