น้ำท่วมปอดเป็นอีกหนึ่งอาการที่จะต้องเฝ้าระวังสำหรับทารกแรกเกิด เนื่องจากในปัจจุบันคุณแม่ส่วนใหญ่นิยมผ่าคลอดมากขึ้น โดยบางคนมีความเชื่อในเรื่องของฤกษ์งามยามดี ทั้งที่ร่างกายของเด็กยังไม่พร้อมที่จะคลอดออกมาลืมตาดูโลก รวมถึงเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทำให้เกิดภาวะเสี่ยง โรคน้ำท่วมปอด มากกว่าเดิม วันนี้เราจะพาคุณแม่มาทำความรู้จักภาวะน้ำท่วมปอดว่าคืออะไร มีความอันตรายมากน้อยแค่ไหน พร้อมทั้งวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคดังกล่าวขึ้น เรามาดูกันดีกว่าว่าจะมีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง
คุณแม่ต้องรู้ โรคน้ำท่วมปอด คืออะไร?
เชื่อว่าคุณแม่หลายท่านอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับภาวะ โรคน้ำท่วมปอด ในเด็กทารกแรกคลอดมาบ้างแล้ว และก็คงสงสัยว่าภาวะโรคดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยปกติแล้วทารกที่อยู่ในท้องแม่ ปอดของเด็กทารกจะยังไม่ทำงาน เด็กทารกจะได้รับออกซิเจนจากกระแสเลือดผ่านทางสายรกทางสะดือ และทันทีที่คลอดออกมาเด็กทารกจะเริ่มหายใจได้เองโดยอัตโนมัติ ปอดก็จะทำหน้าที่ขจัดน้ำออกไปเพื่อให้อากาศเข้ามาแทนที่ และในกรณีที่ทารกคลอดเร็วเกินไป ผ่าคลอด หรือคลอดก่อนกำหนด ปอดจะไม่สามารถขจัดน้ำออกได้ทันท่วงที เด็กจึงตกอยู่ในสภาวะ น้ำท่วมปอด จะมีอาการหายใจเร็วและหอบพยายามดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอดเหมือนการจมน้ำ จึงต้องให้อยู่ในตู้อบช่วยด้วยออกซิเจน แต่หากโชคไม่ดีอาจจะมีภาวะอื่นแทรกซ้อน ปอดไม่สามารถทำงาน และอาจจะเสียชีวิตลงได้นั่นเอง
คลอดก่อนกำหนด คลอดเร็ว ยิ่งเสี่ยงน้ำท่วมปอด
ภาวะน้ำท่วมปอดเป็นอีกหนึ่งภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากโครงสร้างของปอดยังไม่สมบูรณ์ และยังไม่ทันสร้างสารสร้างแรงตึงผิวขึ้นในถุงลม ดังนั้นเมื่อคลอดออกมาก่อนกำหนด ก็ทำให้เสี่ยงที่จะเกิด โรคน้ำท่วมปอดได้นั่นเอง เพราะฉะนั้นระหว่างตั้งครรภ์สิ่งที่คุณแม่จะต้องเฝ้าระวังก็คือ พยายามลดภาวะเสี่ยงที่จะทำให้คลอดลูกก่อนกำหนด โดยทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่คุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 26 – 28 สัปดาห์จะพบภาวะ โรคน้ำท่วมปอด สูงประมาณ 50 %และหากมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 30 – 31 สัปดาห์จะพบประมาณ 25% นอกจากนี้คุณแม่ที่มีภาวะป่วยด้วยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และเด็กแฝดคนที่คลอดตามมาทีหลังมีโอกาสที่จะป่วยด้วยโรคน้ำท่วมปอดสูงมากด้วยเช่นกัน
ป้องกันน้ำท่วมปอดในเด็กได้ด้วยวิธีนี้
ภาวะ น้ำท่วมปอด เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด โดยปัญหาที่พบบ่อยที่ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดโรคดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่มาจากคุณแม่คลอดก่อนกำหนด และคุณแม่ผ่าคลอดเร็วเกินไปก่อน 38 สัปดาห์ เพราะมีความเชื่อในเรื่องของฤกษ์งามยามดี ตามที่หมอดู หรือซินแสแนะนำ จึงทำให้เกิดภาวะ น้ำท่วมปอด ในเด็กแรกเกิดขึ้น สำหรับคุณแม่ท่านใดที่ไม่อยากให้เกิดภาวะโรคดังกล่าวนี้กับลูกน้อย สามารถป้องกันด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1.ฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ
เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์สิ่งแรกที่คุณแม่ควรปฏิบัติคือไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพราะหากอยู่ในการดูแลของแพทย์แล้ว ก็จะมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยระหว่างตั้งครรภ์แพทย์จะให้คำแนะนำการดูแลครรภ์อย่างถูกวิธี รวมถึงตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม พร้อมทั้งแนะนำอาหารที่เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด อันเป็นสาเหตุของการเกิด โรคน้ำท่วมปอด นั่นเอง
2.เลือกวิธีคลอดธรรมชาติ
การคลอดธรรมชาติเป็นวิธีป้องกันการเกิด โรคน้ำท่วมปอด ได้ดีที่สุด เพราะคลอดธรรมชาติเด็กจะสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่พร้อมที่จะคลอดออกมาลืมตาดูโลกอย่างสมบูรณ์ และมีอวัยวะภายในที่พร้อมจะทำงานอย่างเต็มที่ และระหว่างที่คลอดออกมาก็จะได้กลืนสารคัดหลั่งในช่องทางคลอดที่อุดมไปด้วยพรีไบโอติกมากมายเข้าสู่ลำไส้ เพื่อไปกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน การคลอดโดยวิธีทางธรรมชาติ จึงเป็นการคลอดที่เหมาะสมและปลอดภัยของเด็กทารก
3. ผ่าคลอดหลัง 39 สัปดาห์
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้าสูงมาก สามารถที่จะผ่าคลอดเด็กได้อย่างปลอดภัย แต่การผ่าคลอดที่ปลอดภัย และสามารถป้องกัน โรคน้ำท่วมปอด ได้นั้นคุณแม่ควรมีอายุครรภ์มากกว่า 39 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะอายุครรภ์ยิ่งมากยิ่งลดปัจจัยเสี่ยงที่จะผ่าคลอดออกมาและเด็กเจอภาวะ น้ำท่วมปอดการผ่าคลอดที่ดีที่สุดควรจะอยู่ในช่วงอายุครรภ์มากกว่า 39 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะอายุครรภ์ที่มากกว่า 39 สัปดาห์ อวัยวะภายในของเด็กก็พร้อมจะทำงานได้อย่างเต็มที่ และหากมีการผ่าคลอดเร็วเกินไป อวัยวะภายในของเด็กยังไม่พร้อมก็จะทำให้ประสบกับปัญหาภาวะน้ำท่วมปอดนั่นเอง
เมื่อแรกคลอดปอดของเด็กทารกจะยังคงมีน้ำบรรจุอยู่เป็นจำนวนมาก สารน้ำนี้ไม่ใช่สารน้ำคร่ำ แต่เป็นการรวมตัวกันของน้ำพลาสม่า และหากคลอดทางธรรมชาติระยะคลอดที่ทรวงอกของเด็กผ่านช่องคลอดของแม่จะมีแรงกดดัน หรือแรงบีบจากมดลูก ซึ่งจะช่วยให้สารน้ำไหลออกจากปากและจมูกของเด็กทารก และเมื่อคลอดออกมาปอดก็จะมีความยืดหยุ่นสามารถดึงอากาศเข้าไปแทนที่สารน้ำได้ เพราะฉะนั้นการคลอดโดยทางธรรมชาติ จะช่วยลดภาวะเสี่ยง โรคน้ำท่วมปอด ในเด็กแรกคลอดได้ดีนั่นเอง
= = = = = = = = = = = =