เตรียมความพร้อมก่อนคลอด กับ สัญญาณใกล้คลอด ที่คุณแม่ต้องรู้  สัญญาณอันตราย เรื่องใกล้คลอด รู้ทันก่อนเป็นแม่ ช่วงเวลาที่ตื่นเต้นและน่ากลัวที่สุดสำหรับหญิงตั้งครรภ์  ก็คงเป็นเรื่องของการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดระหว่างการคลอด

เตรียมความพร้อมก่อนคลอด กับ สัญญาณใกล้คลอด

เป็นความเจ็บปวดตามธรรมชาติ และแฝงไว้ด้วยความปลื้มปิติของผู้เป็นแม่ที่จะได้เห็นหน้าลูก หลังจากอุ้มท้องมานานถึง 9 เดือน หญิงตั้งครรภ์มีเรื่องที่ต้องเรียนรู้และปฏิบัติมากมายตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เริ่มจากการฝากครรภ์ มาตรวจครรภ์ตามนัด การรับประทานอาหารที่มีคุณค่า การรับประทานยาบำรุง การปฏิบัติตัวในระยะตั้งครรภ์ รวมทั้งข้อควรระวังที่อาจทำให้เกิดอันตรายขณะตั้งครรภ์ จนถึงการเตรียมตัวเพื่อการคลอด การตัดสินใจเลือกวิธีการคลอดและสถานที่คลอด ดังนั้นถ้าหญิงตั้งครรภ์ สามี ครอบครัวและญาติ ได้มีความรู้ความเข้าใจในการเตรียมตัวคลอดก็สามารถจะเป็นกำลังใจให้หญิงตั้งครรภ์มีความพร้อมในการเข้าสู่การคลอดที่มีคุณภาพ

สัญญาณเตือนของการเข้าสู่ระยะคลอด

ในที่สุดเวลาที่รอคอยก็มาถึง เมื่ออายุครรภ์ถึงกำหนดคลอด และคุณแม่เริ่มเจ็บท้องคลอดเริ่มด้วยการปวดหน่วงๆ ที่หลังหรือปวดร้าวลงไปถึงต้นขา และรู้สึกว่ามดลูกหดรัดตัว ปวดเหมือนเวลาปวดประจำเดือนมากๆ ถ้ามดลูกหดรัดตัวแรงและถี่ ประมาณทุก 3-4 นาที คุณแม่ควรตัดสินใจรับมาโรงพยาบาลทันที และควรเผื่อเวลาสำหรับการเดินทางด้วย สำหรับการเจ็บครรภ์จริงจะแตกต่างจากการเจ็บครรภ์เตือน ซึ่งจะมีการหดรัดตัวของมดลูกเช่นกัน แต่จะไม่สม่ำเสมอไม่รุนแรงและอาการจะหายไปได้เอง

เจ็บท้อง

ช่วงหลังจากเดือนที่ 6 มาแล้ว คุณแม่ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่ามดลูกบีบตัวหรือหดตัวเป็นระยะๆ เป็นการหดตัวเองเพื่อเตรียมเข้าสู่ระยะการเจ็บท้องคลอด ยิ่งใกล้คลอดการหดตัวของมดลูกจะถี่และรุนแรงขึ้น รู้สึกปวดจี๊ดๆ แล้วหายไป บางคนบอกว่าคล้ายประจำเดือน อาการแบบนี้คนที่ไม่เคยคลอดมาก่อนอาจจะนึกว่าเป็นการเจ็บท้องคลอดจริงๆ ก็รีบให้สามีหรือญาติพาไปโรงพยาบาล เมื่อไปถึงโรงพยาบาลอาการเจ็บท้องก็หายไป อาการอย่างนี้เรียกว่า “เจ็บเตือน” หรือ “เจ็บหลอก” แพทย์ตรวจดูแล้วก็ให้กลับบ้าน หรือถ้าเป็นเวลากลางคืนก็อาจจะให้นอนรอจนรุ่งเช้าแล้วให้กลับบ้านไปก่อน เพราะนอนรอที่โรงพยาบาลก็อาจจะใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะเจ็บท้องจริง

เจ็บหลอก (เจ็บท้องเตือน)

ระยะเวลาการปวดท้องจะไม่สม่ำเสมอ เดี๋ยวถี่เดี๋ยวห่าง ปวดท้องมากบ้างน้อยบ้าง บางรายก็ปวดติดๆ กันหลายครั้งแล้วก็หายปวด ถ้านั่ง, นอนพัก หรือเปลี่ยนท่าทางแล้วจะดีขึ้น ไม่มีเลือดหรือมูกปนเลือดออกมาจากช่องคลอด มักเจ็บบริเวณท้องน้อย การเจ็บท้องเตือนหรือเจ็บท้องหลอกเป็นสัญญาณเตือนคุณแม่ว่า ขณะนี้มดลูกเตรียมพร้อมที่จะมีการคลอด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะคลอดวันนี้พรุ่งนี้ อาจจะนานเป็นเดือนเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น คุณแม่ควรแยกให้ได้ว่าตัวเองกำลังเจ็บท้องจริงหรือเจ็บเตือน เพื่อจะได้เตรียมตัวไปโรงพยาบาลได้อย่างถูกต้อง

การเจ็บท้องจริง

มีอาการปวดอย่างสม่ำเสมอ และปวดถี่ขึ้นเรื่อยๆ ถ้าสังเกตให้ดีๆ จะรู้สึกว่าเริ่มเจ็บที่ส่วนบนของมดลูกก่อน แล้วเจ็บร้าวไปหลัง ท้องแข็งตึง ถ้าเดินหรือเคลื่อนไหวจะเจ็บมากขึ้น อาจมีมูกปนเลือดออกมาทางช่องคลอดร่วมด้วย ถ้ามีอาการเจ็บทุกๆ 10 นาทีก็ไปโรงพยาบาลได้แล้ว ถ้าบ้านอยู่ไกลก็ต้องรีบไป ศีรษะทารกลงต่ำ

คุณแม่จะรู้สึกว่า “ท้องลด” คือ เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มดลูกจะขยายขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 20 สัปดาห์ หรือ 5 เดือน ยอดมดลูกจะคลำได้ที่ระดับสะดือ พอตั้งท้องได้ประมาณ 32 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะอยู่ที่ระดับกึ่งกลางสะดือกับกระดูกลิ้นปี่ จนเมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 36 สัปดาห์ หรือ 9 เดือน ยอดมดลูกก็ถึงลิ้นปี่

ในคุณแม่ที่ตั้งท้องแรก ถ้าสังเกตจะพบว่า ภายหลังตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ไปแล้ว ท้องอาจมีขนาดลดลง เพราะทารกในท้องที่เคยอยู่ในมดลูกระดับเหนือช่องเชิงกราน เริ่มเคลื่อนต่ำลงไปในช่องเชิงกราน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการคลอดที่จะตามมาในไม่ช้านี้
สำหรับคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาแล้ว จะสังเกตเห็นท้องลดช้ากว่าในท้องแรกๆ คุณแม่บางคนจวบจนใกล้คลอดแล้วท้องยังไม่ลดเลยก็มี มีคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้สึกว่าท้องลดเลยจนกระทั่งถึงระยะเจ็บคลอด

มีมูกขาวออกทางช่องคลอด

คุณแม่หลายคนจะรู้สึกว่ามีตกขาวมากขึ้น เพราะมูกที่อุดอยู่ปากมดลูกเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากภายนอกโพรงมดลูกเข้าไปสู่ทารกในครรภ์จะไหลหลุดออกมาทางช่องคลอด
มูกจะมีลักษณะเหนียวข้น สีขาว และมักจะหลุดออกมาช่วงก่อนการคลอดประมาณ 1-2 สัปดาห์ ยิ่งเข้าสู่ระยะใกล้คลอดมากขึ้นเท่าใด อาจจะพบว่ามีเลือดออกปนมากับมูกได้ เพราะปากมดลูกจะบางลง และเปิดขยายตัวมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อม สำหรับการคลอด ทำให้เส้นเลือดบริเวณปากมดลูกฉีกขาด เพราะฉะนั้น ถ้าคุณแม่มีมูกเลือดควรไปพบแพทย์ทันที เพราะแสดงว่าใกล้คลอดแล้ว

Sponsored

ลูกดิ้นน้อยลง

คุณแม่บางคนจะรู้สึกว่าทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง ทั้งนี้เป็นเพราะทารกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมากเมื่อเปรียบเทียบกับโพรงมดลูก ซึ่งขยายตัวเพียงเล็กน้อย และน้ำคร่ำที่สร้างขึ้นมาก็มีปริมาณจำกัด ทารกตัวโตขึ้นแต่กลับต้องอยู่ในโพรงมดลูกที่ดูเหมือนว่าจะคับแคบลงทำให้ทารกเคลื่อนไหวลำบาก

ปากมดลูกเปิด

ในขณะที่ตั้งครรภ์ปากมดลูกจะมีลักษณะกลมหนาและปิดสนิทตลอดเวลา ปากมดลูกจะมีความหนาและยาวประมาณ 2 ซ.ม. เมื่อเข้าสู่ระยะใกล้คลอด ฮอร์โมนที่สูงขึ้นในตัวคุณแม่จะทำให้ปากมดลูกเริ่มบางตัวและอ่อนนุ่มลง เมื่อมดลูกหดรัดตัวสม่ำเสมอขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ปากมดลูกบางลงเรื่อยๆ และจะค่อยๆ เปิดกว้างจนถึง 10 ซ.ม. ซึ่งเป็นความกว้างที่ศีรษะทารกสามารถเคลื่อนผ่านได้

ภาวะน้ำเดิน

ภาวะน้ำเดินเกิดจากการที่ถุงน้ำคร่ำแตกหรือรั่วทำให้มีน้ำคร่ำไหลออกมา ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ระยะการคลอด แต่บางครั้งก็อาจเกิดขึ้นได้แม้ว่าอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนดคลอดก็ตาม ถุงน้ำคร่ำอาจจะแตกเองโดยไม่ทราบสาเหตุหรือมดลูกมีการบีบตัวที่รุนแรง เช่น การเจ็บครรภ์ การได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุหรือแม้แต่การมีเพศสัมพันธ์ในขณะใกล้คลอด

อาการน้ำเดิน

อาการที่คุณแม่จะรู้สึกได้ คือ มีน้ำใสๆ คล้ายน้ำปัสสาวะไหลออกมาทางช่องคลอดจำนวนมาก เมื่อมีอาการเช่นนี้ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที และคุณแม่ควรนอนราบ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำคร่ำไหลออกมามากเกินไป เพราะอาจทำให้น้ำคร่ำในโพรงมดลูกแห้งจนสายสะดือถูกตัวทารกกดทับ และสายสะดืออาจไหลตามน้ำคร่ำลงมาอยู่ในช่องคลอด ทำให้สายสะดือถูกส่วนนำของทารกกดทับจนทำให้ทารกขาดออกซิเจน อาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้เช่นกัน

ขอบคุณข้อมูล : แพทย์หญิงสุวิมล เวชพฤกษ์พิทักษ์ สูตินรีแพทย์ศูนย์สุขภาพสตรี
รพ.พญาไท นวมินทร์

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.ลูกไม่กินข้าว เกิดจากอะไร และวิธีการรับมือ
2.เพราะอะไร ลูกมักอาเจียนหลังดื่มนม และเป็นอันตรายไหม