สิทธิตามกฎหมายไม่เพียงคุ้มครองเฉพาะคนท้องที่มีงานทำเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปยังแม่ท้องที่ออกจากงานประจำแล้วอีกด้วย ดังนั้นมาดูกันสิว่าสิทธิอันพึงมีที่คุณแม่ควรรู้ มีอะไรบ้าง เพื่อคุณแม่เองจะได้ใช้สิทธิของตนเองและลูกน้อยได้อย่างเต็มที่นั่นเอง

แม่ท้องออกจากงานประจำ ต้องรู้อะไรบ้าง

คุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหลายที่เคยเป็นมนุษย์เงินเดือน  และยังเป็นผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคม เมื่อตัดสินใจลาออกจากงาน จะยังคงได้รับสิทธิต่างๆ จากสำนักงานประกันสังคม ดังนี้

1.เงินชดเชยจากการว่างงาน

เมื่อคุณแม่ออกจากการทำงานประจำ ต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน  โดยจะได้รับสิทธิจากประกันสังคม เนื่องจากเหตุลาออกหรือสัญญาสิ้้นสุดตามกำหนดเวลา ซึ่งจะได้รับเงินทดแทนในช่วงที่ว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย เช่น ถ้าคุณแม่ได้รับเงินเดือนเฉลี่ย 10,000บาท ก็จะได้รับเงินทดแทน 3,000 บาท โดยคุณแม่จะสามารถใช้สิทธินี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน ส่วนเอกสารสำคัญที่ใช้เพื่อรับผลประโยชน์ในการว่างงานมีดังนี้

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7)
  • สำเนาบัตรประชาชน พร้อมต้นฉบับ
  • รูปถ่าย 1 นิ้ว 1รูป
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก

2.ค่าคลอดลูก

แม้ว่าจะลาออกจากงานประจำแล้ว แต่คุณแม่สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ ในอัตราเหมาจ่ายที่จำนวน 15,000 บาทต่อครั้ง โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 5 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร ซึ่งคุณแม่สามารถเลือกคลอดบุตรที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐหรือของเอกชน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองเลือก เพียงแต่ต้องสำรองเงินของตนเองจ่ายไปก่อน แล้วค่อยเตรียมเอกสารมาเบิกที่สำนักงานประกันสังคมดังต่อไปนี้

  • เอกสารคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01
  • สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุดพร้อมต้นฉบับ (ถ้าคลอดบุตรแฝดต้องใช้เอกสารของทั้งคู่)
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก
  • ในกรณีที่ให้คุณพ่อเป็นผู้มาเบิกค่าคลอดบุตร จำเป็นต้องแนบสำเนาทะเบียนสมรสมาด้วย แต่ถ้าไม่ได้จดทะเบียนกัน ก็ให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีที่ไม่มีทะเบียนสมรสมาแทน

3.ค่าฝากครรภ์

ก่อนคลอดคุณแม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์เกิดขึ้น ซึ่งค่าฝากครรภ์นี้ หากออกจากงานประจำขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ยังสามารถเบิกค่าฝากครรภ์กับสำนักงานประกันสังคม พร้อมกับค่าคลอดบุตรก็ได้ โดยเบิกค่าฝากครรภ์ได้สูงสุดจำนวน 1,500 บาท ซึ่งแบ่งการจ่ายเงินเป็น 5 ครั้ง ได้แก่

  • ครั้งที่ 1 มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จะได้รับเงิน 500บาท
  • ครั้งที่ 2 มีอายุครรภ์ระหว่าง 12-20สัปดาห์ จะได้รับเงิน 300บาท
  • ครั้งที่ 3 มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 20-28สัปดาห์ จะได้รับเงิน 300บาท
  • ครั้งที่ 4 มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 28-32สัปดาห์ จะได้รับเงิน 200บาท
  • ครั้งที่ 5 มีอายุครรภ์มากว่า 32 สัปดาห์ขึ้นไป จะได้รับเงิน 200 บาท

สำหรับเอกสารที่ใช้เบิกค่าฝากครรภ์ มีดังนี้

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01
  • ใบเสร็จรับเงินค่าเข้ารับบริการฝากครรภ์
  • ใบรับรองแพทย์ หรือสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กประจำตัวของผู้ตั้งครรภ์

4.สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39

เนื่องจากเคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 จากการทำ งานประจำ และส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 12 เดือน ซึ่งถ้าคุณแม่ยังต้องการอยู่ในหลักประกันสังคมต่อ ก็สามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 แทนได้ โดยทำการยื่นคำขอเข้ามาตรา 39 ภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังออกจากงาน ซึ่งผู้ประกันตนตามมาตรา 39 นั้น คือ ผู้ประกันตนสมัครใจที่จะจ่ายเงินเข้าสมทบกองทุนประกันสังคมทุกเดือน เดือนละ 432 บาท ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับนั้น คือ ความคุ้มครองใน 6 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ชราภาพ ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร และเสียชีวิต โดยสามารถนำเอกสารที่จะใช้สมัครมาตรา 39 มายื่นแก่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งได้ทั่วประเทศ ดังนี้

  • แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20)
  • บัตรประจำตัวประชาชน

5.เงินชราภาพ และเงินสงเคราะห์บุตร

Sponsored

ในกรณีที่คุณแม่ออกจากงานประจำก็ยังสามารถใช้สิทธิเงินชราภาพในกองทุนประกันสังคมได้ โดยคุณแม่จะได้รับก็ต่อเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเงินที่จะได้รับนี้มี 2 แบบขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ กล่าวคือ ถ้าส่งเงินสมทบไม่ถึง 15 ปีจะได้รับเงินในรูปแบบของเงินบำเหน็จ แต่ถ้าจ่ายเงินสมทบเกินกว่า 15 ปีจะได้รับเป็นเงินบำนาญทุกเดือน ซึ่งต้องใช้เอกสารในการยื่นรับเงินชราภาพดังนี้

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส. 2-01)
  • บัตรประจำตัวประชาชน
  • ทะเบียนบ้าน
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก

นอกจากนี้ถ้าคุณแม่ออกจากงานประจำ และสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 แทนแล้ว ก็ยังจะได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์บุตรในแต่ละเดือน เฉกเช่นเดียวกับผู้ประกันตนในมาตรา 33 โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 600 บาท ต่อ 1 คน ซึ่งจะจ่ายให้กับทารกแรกเกิดจนกระทั่งเด็กมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ ส่วนเอกสารที่ใช้ยื่นในกรณีเงินสงเคราะห์บุตร มีดังนี้

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01
  • สำเนาสูติบัตรบุตรพร้อมต้นฉบับ
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก

สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่นำมาฝากคุณแม่นั้น ล้วนเป็นสิทธิที่ควรรู้เมื่อออกจากงานประจำขณะตั้งครรภ์ ซึ่งหวังให้คุณแม่ได้ศึกษาและทำความเข้าใจ ในส่วนของข้อสงสัยต่างๆ คุณแม่สามารถติดต่อโดยตรงกับสำนักงานประกันสังคม หรือที่เบอร์โทรสายด่วนประกันสังคม 1506 ได้เลยค่ะ

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่ https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about growing up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.แม่ๆ มีเฮ! ประกันสังคม เพิ่มค่าคลอดบุตร ค่าฝากครรภ์ และเงินสงเคราะห์บุตร 800 บาทต่อเดือน

2.ค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร แม่ๆ รู้ไหม นำมาลดหย่อนภาษีได้