จากบทความที่แล้วที่พูดถึงคำแนะนำนำดี ๆ จากหมอสูติ ให้แม่แม่ท้องไตรมาสแรก 1 – 3 เดือน บทความนี้จะเป็นภาคต่อค่ะ จะพูดถึง ท้องไตรมาส 2 ติดตามอ่านนะคะ.. เป็นคำแนะนำดีๆ จากหมอสูติให้แม่ ท้องไตรมาส 2 (4 – 6 เดือน)มาดูกันค่ะว่ามีคำแนะนำอะไรดี ๆ ที่หมอสูติอยากบอก
การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ใน ท้องไตรามาส 2
- น้ำหนักตัวจะเพิ่มมากขึ้น แต่ควรเพิ่มประมาณเดือนละ 1 – 1.5 กิโลกรัม
- มดลูกโตขึ้น และเริ่มมีความรู้สึกว่าลูกดิ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 16 -22 ค่ะ
- ในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ เริ่มแล้วค่ะ กับเรื่องผิวคล้ำตามใบหน้า คอ ลำตัว รักแร้ เส้นดำยาวกลางท้องชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมีหน้าท้องลายที่เกิดจากขยายตัวของมดลูกที่โตขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้หน้าท้องขยายใหญ่มากขึ้น
- ตกขาวหรือมูกในช่องคลอดมากกว่าปกติจาการเพิ่มระดับของฮอร์โมนและเลือดที่มาหล่อเลี้ยงบริเวณช่องคลอดมากขึ้นในขณะตั้งครรภ์
- ระบบย่อยอาหารเปลี่ยนแปลง อาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก
- ปัสสาวะบ่อย
- เป็นตะคริว
คำแนะนำของหมอสูติ
1.อาหาร ในระยะนี้อาการแพ้ท้องมักหายไป เริ่มทานอาหารได้ตามปกติ ควรทานให้ครบ 5 หมู่ อาจมีอาหารทุประเภทใน 1 มื้อ หรือประเภทใดประเภทหนึ่งสลับกับมื้ออื่นๆ แต่เมื่อรวม 3 – 5 มื้อในแต่ละวัน ต้องรับประทานให้ครบทุกประเภทของอาหาร แป้ง น้ำตาล และไขมัน แต่ไม่ควรรับประทานมากเกินไปนะคะ เพราะในช่วงที่ตั้งครรภ์ร่างกายยังไม่ต้องการอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลเพิ่มขึ้น เพียงแต่ต้องการเพิ่มโปรตีนให้มากขึ้นเท่านั้น
– เน้นทานผัก ผลไม้ อาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำวันละ 6 – 8 แก้ว เพื่อป้องกันอาการท้องผูก
– ธาตุเหล็ก มีในไข่แดง ตับ ผักใบเขียว ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงให้มีมากพอที่จะลำเลียงออกซิเจนจากเลือดของแม่ไปสู่ลูก และแคลเซียมซึ่งช่วยในการสร้างกระดูกและฟันของลูก ซึ่งมีในนมเป็นส่วนใหญ่
2.การออกกำลังกาย เป็นประโยชน์ต่อแม่ตั้งครรภ์เพราะทำให้ร่างกายแข็งแรง ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี ท้องไม่ผูก นอนหลับสบาย แต่ต้องออกกำลังกายแบบไม่หักโหมนะคะ เช่น เดินวันละ 30 นาที ว่ายน้ำ เป็นต้น
3.ท่านอน จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังขณะตั้งครรภ์ได้ ท่านอนควรนอนตะแคงด้านซ้ายโดยมีหมอนรองรับขา การนอนท่านี้จะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มดลูกและไตได้สะดวก ช่วยลดอาการขาบวมได้
4.การตรวจเต้านม เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้นมแม่ในระยะหลังคลอด ลักษณะหัวนมที่แบนและบุ๋มลงไป ลานนมแข็ง ตึง ไม่นุ่ม จะทำให้ทารกดูดนมไม่ได้ การตรวจเต้านมด้วยตนเองโยการใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ทาบไปบนผิวหนังตรงรอยต่อระหว่างฐานของหัวนมกับหัวนม และบีบเข้าหากัน ถ้าหัวนมสั้นหรือบุ๋มมากไปจนทารกดูดไม่ได้ หัวนมจะยุบลงไประหว่างนิ้วมือทั้งสอง
อาการที่ควรมาพบคุณหมอ
1.มีเลือดออกทางช่องคลอด สาเหตุอาจจะเกิดจากภาวะรกเกาะต่ำ
2.ปวดท้องเป็นพัก ๆ อาจเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้
3.ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
พรุ่งนี้ติดตามอ่านคำแนะนำดีๆ จากคุณหมอสูติ ในไตรมาส 3 กันต่อนะคะ ว่าจะมีคำแนะนำดีๆ อะไรบ้างมาฝากคุณแม่
= = = = = = = = = = = =