โรคอ้วนในแม่ตั้งครรภ์ สมัยก่อนเวลามีคนพูดถึงคนอ้วนก็มักจะคิดว่า คนอ้วนคือคนที่มีสุขภาพดี คนมีอันจะกิน และหากเป็นแม่ตั้งครรภ์ก็มักจะคิดว่าแม่ที่มีรูปร่างอ้วน มักจะทำให้ทารกในครรภ์อ้วนท้วนสมบูรณ์ คลอดออกมาแล้วน่ารักจ้ำม่ำ แต่ปัจจุบันมีความเข้าใจมากขึ้นว่า ความอ้วนนั้นเป็นโรคที่นำมาซึ่งโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ มากมาย เรามาทำความรู้จักกับเรื่องนี้กันให้มากขึ้นค่ะ
โรคอ้วนในแม่ตั้งครรภ์
อย่างที่บอกสมัยก่อนอาจจะยังไม่มีใครสนใจมากนักเกี่ยวกับโรคอ้วนในแม่ตั้งครรภ์ เพราะอาจจะด้วยไม่ค่อยเจอในจำนวนมาก แต่ปัจจุบันพบว่ามีแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจำนวนมากเรื่อย ๆ จนกระทั่งในโรงพยาบาลแถบยุโรปถึงกับมีการตั้งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ
นั่นเพราะเมื่อตั้งครรภ์มักจะพบว่าแม่ตั้งครรภ์มีภาวะโรคเบาหวาน กับ โรคความดันโลหิตสูง เพิ่มขึ้น ซึ่งมักเกิดขึ้นกับแม่ตั้งครรภ์ที่อ้วน ด้วยเกี่ยวกับปริมาณไขมันในร่างกาย จนสร้างปัญหาให้กับทารกในครรภ์ตามมา
ในกรณีแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะแทรกซ้อนเป็นเบาหวาน หากไม่ได้รับการดูแล และมีการควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี ก็จะทำให้แม่ตั้งครรภ์เกิดอาการช็อกได้ และทารกในครรภ์ก็เสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วย ขณะที่แม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาและความคุมไม่ดี ก็จะทำให้แม่ตั้งครรภ์เกิดอาการชักหรือตับวาย หรืออาจเสียชีวิตได้ รวมถึงทารกในครรภ์ด้วยเช่นกัน
ความอ้วนส่งผลต่อการคลอด
แม่ตั้งครรภ์ที่อ้วน ทารกในครรภ์ก็มักจะตัวโต ซึ่งเป็นผลมาจากโรคเบาหวานที่แทรกซ้อน ผลคือ เวลาเจ็บครรภ์คลอดแม่ตั้งครรภ์จะมีความเจ็บที่ทรมานและยาวนาน หากคลอดทางช่องคลอดอาจเป็นอันตรายทั้งต่อแม่และทารก เนื่องจากทารกตัวใหญ่ทำให้คลอดยาก ขณะที่แม่ตั้งครรภ์จะมีการฉีกขาดของช่องคลอดมากกว่าปกติด้วย ซึ่งก็อาจจะต้องใช้เวลาเย็บแผลกว่าครึ่งวัน หรือหากเลือกที่จะผ่าคลอดความยากที่ตามมาคือ หน้าแม่ตั้งครรภ์ที่อ้วนจะมีความหนามาก ชั้นไขมันเยอะกว่า ทำให้การผ่าถึงช่องท้องไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนี้ยังต้องดึงรั้งแผลค่อนข้างมาก ทำให้แผลชอกช้ำได้ง่าย และใช้เวลาเย็บแผลนาน
ความอ้วนในแม่ตั้งครรภ์ หลังคลอดส่งผลต่อการติดเชื้อได้ง่ายและตกเลือด
ด้วยความที่ทารกในครรภ์ตัวใหญ่ ทำให้มดลูกของแม่ตั้งครรภ์ยืดขยายมากกว่าปกติ ดังนั้นผลที่ตามมาคือ หลังคลอดที่โดยปกติมดลูกจะมีการหดรัดตัวได้ดี ก็จะกลายเป็นตรงกันข้ามคือ มดลูกหดรัดตัวไม่ได้ ส่งผลให้มีการตกเลือดในแม่ตั้งครรภ์บางราย และยังทำให้มีเลือดคั่งค้างในมดลูก ส่งผลต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็จะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้นั่นเอง
ความอ้วนส่งผลต่อสุขภาพทารก
ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ จริง ๆ สำหรับเรื่องนี้ เพราะนอกจากทารกจะต้องฝ่าฟันอันตรายระหว่างคลอดแล้ว ยังทำให้เกิดภาวะชักในทารกบางรายที่ขาดน้ำตาล นั่นเพราะขณะที่อยู่ในครรภ์ ทารกจะได้รับอาหารจากแม่และโดยเฉพาะการได้รับน้ำตาลมากกว่าปกติ ตลอดจนพบปัญหาทารกตัวเหลืองมากกว่าปกติ จนต้องถ่ายเลือดหรือพบอันตรายต่อชีวิต
แม่ตั้งครรภ์ทานอย่างไรไม่ให้อ้วน
โดยปกติแล้วน้ำหนักตลอดระยะการตั้งครรภ์ที่เหมาะสมของแม่ตั้งครรภ์ จะอยู่ที่ 10-12 กิโลกรัม ซึ่งหากเกินนี้หรือหนักน้อยกว่านี้ ควรได้รับการแนะนำจากหมอที่ฝากครรภ์ ส่วนในเรื่องของการทานเพื่อไม่ให้แม่ตั้งครรภ์อ้วนนั้น อย่างแรกควรมีการปรับทัศนคติการทานใหม่ เน้นทานแบบพอดี ทานให้ครบ 5 หมู่ ยกตัวอย่าง การลดปริมาณการทานอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรต แป้ง น้ำตาล ลดอาหารกลุ่มไขมันอิ่มตัว ของมัน ๆ ผัด ๆ ทอด ๆ แล้วหันมาทานอาหารกลุ่มไขมันไม่อิ่มตัวมากขึ้น ปลาทะเล สาหร่าย ทานอาหารกลุ่มโปรตีน ถั่ว ปลา เนื้อไม่ติดมัน ทานผักผลไม้มากขึ้นเพราะดีกับสุขภาพครรภ์นั่นเอง รวมถึงควรมีการออกกำลังกายแบบพอดีไม่หักโหม เช่น ว่ายน้ำ โยคะ เดินเร็ว ประมาณ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ และวันละ 30 นาที
เรื่องอ้วนไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ สำหรับการตั้งครรภ์ ดังนั้นควรหันมาใส่ใจกับเรื่องนี้ เพื่อจะได้มีสุขภาพครรภ์ที่ดีกันนะคะ
= = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..
1.เสื้อผ้าเด็กแรกเกิด ควรเลือกแบบสายผูก หรือแบบกระดุมดีกว่ากัน