ท้องตอนอายุเยอะ การแต่งงานเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชีวิต หลาย ๆ คนอาจจะมีความคิดที่ว่าการแต่งงานถือว่าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบแล้ว แต่ในความเป็นจริง เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตคู่เท่านั้นค่ะ ชีวิตครอบครัวจะสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริงนั้น คุณต้องมีลูก เพราะลูกเปรียบเสมือนโซ่ทองคล้องใจ แต่ด้วยแนวโน้มในปัจจุบันทำให้ผู้หญิงอย่างเรา ๆ เริ่มวางแผนตั้งครรภ์เมื่ออายุเลย 30 ปีไปแล้ว ทำให้หลาย ๆ คนต้องประสบกับภาวะการมีบุตรยาก รวมถึงความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์มากขึ้นค่ะ

ท้องตอนอายุเยอะ

เมื่อคุณมีอายุมากขึ้น โอกาสตั้งครรภ์ก็ลดลง

ถึงแม้ว่าคุณแม่อายุ 30 ปีขึ้นไปจะมีความพร้อมในการเป็นคุณแม่มากกว่า หญิงวัย 20 ปี ทั้งในด้านความมั่นคงทางการเงิน และความมีวุฒิภาวะ แต่ความพร้อมด้านสุขภาพร่างกาย ทั้งก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ ในช่วงวัยนี้มีข้อควรระวังอยู่หลายประการ ทำให้คุณแม่วัยนี้ต้องรู้จักวิธีการดูแลสุขภาพร่างกายอย่างถูกต้อง ให้พร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

ทำไมคุณแม่วัย 35 ปีขึ้นไป ถึงมีลูกยาก

นั่นเป็นเพราะความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายลดน้อยลง และมีภาวะความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าคุณแม่วัย 20 ปี โรคที่พบมากในผู้หญิงวัย 35 ปีขึ้นไปมีดังนี้ค่ะ

  1. โรคเบาหวาน และภาวะความดันโลหิตสูง พบมากในผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ และมีอายุ 35 ปีขึ้นไป
  2. ภาวะครรภ์เป็นพิษ อาจทำให้ทั้งแม่และเด็กเสียชีวิตได้ ซึ่งมักพบหญิงวัย 35 ปีขึ้นไปเช่นกัน และพบว่าเป็นโรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
  3. การแท้งบุตร เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรกในทุกช่วงอายุมักมีความเสี่ยงต่อการแท้ง ยิ่งคุณแม่มีอายุมากขึ้น ความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  4. ภาวะรกเกาะต่ำ หรือภาวะที่รกเกิดการฝังตัว และเกาะอยู่ใกล้ปากมดลูก ทำให้มีเลือดออกโดยไม่มีอาการเจ็บครรภ์ และทำให้เสียเลือดมากขณะคลอด วิธีแก้แพทย์จะทำคลอดด้วยการผ่าตัดแทนการคลอดแบบธรรมชาติ
  5. ความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารก ทารกในครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อการเป็น ดาวน์ซินโดรมสูง ซึ่งความเสี่ยงจะสูงขึ้นตามอายุของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้นค่ะ โดยอัตราความเสี่ยงในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุเกิน 35 ปี อยู่ 1 ใน 400 ขณะที่หญิงตั้งครรรภ์ที่มีอายุ 40 ปีจะอยู่ 1 ใน 100
  6. การคลอดก่อนกำหนด และทารกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติ
  7. ทารกเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์มารดา (Stillbirth) ส่วนมากจะเกิดหลังจากอายุครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ โดยมากผู้หญิงตั้งครรภ์วัย 40 ปี จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น 2 – 3 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 20 ปีเลยทีเดียวค่ะ

การตรวจวินิจฉัยระหว่างตั้งครรภ์

คุณแม่วัย 30 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ ดังนั้น การตรวจวินิจฉัยระหว่างครรภ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ คุณแม่ควรปฏิบัติและไปตรวจทุกครั้งที่หมอนัด เพื่อตรวจหาความผิดปกติในการตั้งครรภ์ ซึ่งการตรวจวินิจฉัยระหว่างตั้งครรภ์มีอยู่ 3 วิธีด้วยกัน คือ

1.การทำอัลตร้าซาวด์

เป็นการนำคลื่นเสียงความถี่สูง มาแปลให้เป็นภาพวีดีโอ เพื่อตรวจดูอายุครรภ์ ติดตามดูพัฒนาการของทารกในครรภ์  และเพศของทารก แต่คุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี คุณหมอจะเน้นในการตรวจไปที่การ วิเคราะห์หาสัญญาณของการการเกิดภาวะแทรกซ้อน และความผิดปกติของทารก

2.การเจาะน้ำคร่ำ

เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของโครโมโซม หรือโรคทางพันธุกรรมของทารกในครรภ์ โดยการใช้เข็มขนาดยาวสอดผ่านหน้าท้อง เพื่อเจาะเข้าไปยังถุงน้ำคร่ำ และดูดเอาของเหลวมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งค่ะ

Sponsored

3.การตรวจชิ้นเนื้อรก

เป็นการนำเซลล์ตัวอย่างจากรกมาตรวจวิเคราะห์ เพื่อหาความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่นเดียวกับการตรวจน้ำคร่ำ แต่เป็นตรวจสอบอีกครั้งเพื่อยืนยันผลการตรวจเจาะน้ำคร่ำค่ะ

ตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ คุณแม่วัย 30 ปีขึ้นไปควรทำอย่างไร

ถึงแม้ว่าคุณแม่วัย 30 ปีขึ้นไปจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคุณแม่วัยต่ำกว่า 30 ปี แต่ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์และสามารถคลอดบุตรให้มีสุขภาพดีได้อย่างปลอดภัย โดยคุณแม่ควรทำตามคำแนะนำดังนี้ค่ะ

  • ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจความพร้อมของร่างกายก่อนที่จะมีบุตร ควรพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ รวมทั้งไปตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • ใส่ใจในเรื่องของการโภชนาการ ควรรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ อาจต้องเพิ่มวิตามินเสริมที่มีกรดโฟลิค ให้ได้ในปริมาณ 400 ไมโครกรัมต่อวัน
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดจากไขมันส่วนในร่างกาย และป้องกันความดันสูงซึ่งส่งผลต่อการตั้งครรภ์ค่ะ
  • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือเลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ และเลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • ไม่ควรรับประทานยาเอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ ไม่ว่าคุณจะมีอาการมากหรือน้อย ก็ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งค่ะ

จากข้อมูลทั้งหมดคุณแม่คงเห็นแล้วว่า แม้การตั้งครรภ์ในช่วงอายุที่มากขึ้นจะค่อนข้างมีข้อจำกัดในด้านความสมบูรณ์ของร่างกาย แต่หากคุณแม่มีการเตรียมความพร้อมที่ดี โดยไม่ละเลยการดูแลสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ ถึงแม้คุณแม่จะมีอายุเกิน 30 ปี ไปแล้ว เราเชื่อว่าไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการมีลูกน้อย ๆ ที่มีสุขภาพดีสักคน สองคนอย่างแน่นอนค่ะ ของให้คุณแม่ทุกคนทำจิตใจให้สงบ และผ่อนคลายความเครียด คิดเพียงว่า ลูกน้อยที่เกิดมาจากความรัก ต้องมีสุขภาพดีอย่างที่คุณหวังเอาไว้ค่ะ

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.15 วิธีผ่อนคลาย ความเครียดในคนท้อง จะรับมืออย่างไร

2.7 อาหารแก้เครียด ที่แม่ท้องควรกิน เช็คสิมีอะไรบ้าง