ถุงน้ำรังไข่หลายใบพบมากในผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ขึ้นแล้ว ยังส่งผลถึงการมีลูกยากในอนาคตอีกด้วย ดังนั้นมาหาสาเหตุ เพื่อจะได้หาวิธีป้องกันและรักษา เมื่อเกิดเป็นโรคนี้ขึ้นมากันดีกว่า

ถุงน้ำรังไข่หลายใบ เกิดจากอะไร

โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ Polycystic Ovary Syndrome (PCOS) เป็นความผิดปกติ ที่เกิดมีถุงน้ำเล็กๆ หลายใบกระจายอยู่ในรังไช่ โดยในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุการเกิดโรคได้อย่างแน่ชัด แต่พอสรุปได้ว่าเกิดจากปัจจัยบางอย่าง เช่น ภาวะฮอร์โมนที่ไม่สมดุล ทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอนโดรเจน ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หรือความผิดปกติของรังไข่เอง นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากภาวะดื้ออินซูลินที่ส่งผลให้เกิดการสร้างถุงน้ำขึ้นในรังไข่ รวมทั้งการถ่ายทอดทางพันธุกรรมในครอบครัว ที่ทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าคนอื่นอีกด้วย

ถุงน้ำรังไข่หลายใบ สาเหตุของการมีลูกยาก

การเป็นโรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้มีลูกยาก เนื่องจากโรคนี้ทำให้เกิดภาวะไข่ตกผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือประจำเดือนไม่มาติดต่อกันหลายเดือน ซึ่งการมีลูกต้องอาศัยการปฏิสนธิกันระหว่างไข่ของฝ่ายหญิงและอสุจิของฝ่ายชาย เมื่อเป็นโรคนี้ ทำให้ร่างกายของฝ่ายหญิงไม่สามารถผลิตไข่ได้ตามปกติ จึงมีโอกาสในการตั้งครรภ์น้อยลงนั่นเอง

อาการของโรคนี้เป็นยังไง

ผู้ป่วย ถุงน้ำรังไข่หลายใบ จะแสดงออกซึ่งอาการที่แตกต่างกัน โดยสามารถสังเกตได้จากความผิดปกติดังต่อไปนี้

1.ประจำเดือนผิดปกติ

การมาของประจำเดือน พบว่า ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมานาน มามากหรือมาน้อยกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากภาวะไข่ตกผิดปกติ

2.มีบุตรยาก

เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และประจำเดือนมาไม่ปกติ จึงส่งผลทำให้ไม่สามารถมีลูกได้ง่ายๆ จนต้องเข้ารับการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก

3.มีฮอร์โมนเพศชายสูง

เนื่องจากผู้ป่วยถุงน้ำรังไข่หลายใบ มีฮอร์โมนแอนโดรเจนสูงขึ้น ทำให้มีอาการต่างๆ แสดงออกมา เข่น ขนขึ้นดกตามแขน ขา ลำตัวและขาหนีบ สิวขึ้นง่าย ผมร่วง รวมทั้งอาจมีปื้นดำเกิดขึ้นที่ลำคอ ข้อพับตามแขนและขาด้วย

4.ความผิดปกติอื่นๆ

ซีสต์รังไข่ อาการผิดปกติอื่นที่สามารถพบได้ในผู้ป่วย เช่น น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้ รวมทั้งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหดหู่ จากความกังวลถึงอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น อีกด้วย

วิธีการรักษา

การรักษาผู้ป่วย ถุงน้ำรังไข่หลายใบนั้นจะรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น จึงทำให้การรักษานั้นแตกต่างกันไป เช่น อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น โดยมีวิธีการรักษาดังต่อไปนี้

1.รักษาประจำเดือนมาไม่ปกติ

ในรายที่ผู้ปวยมีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แพทย์จะจ่ายยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม หรือยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดตัวเดียว โดยยาฮอร์โมนเหล่านี้ จะช่วยทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ จึงลดโอกาสในการเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้อีกด้วย นอกจากนี้ยาเม็ดคุมกำเนิดบางตัวยังมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย จึงช่วยรักษาสิว ผิวมัน และขนดกได้

2.รักษาผู้มีบุตรยาก

เนื่องจากภาวะไข่ตกผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยถุงน้ำรังไข่หลายใบที่ต้องการมีบุตรไม่สามารถมีบุตรได้ แพทย์จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการให้กินยาโคลมีฟีน ซึ่งมีฤทฺธิ์ยับยั้งฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อช่วยให้ไข่ตกได้ตามปกติ นอกจากนี้อาจต้องให้แพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการมีบุตรยากดูแลโดยเฉพาะ ซึ่งอาจนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว มารักษาเพื่อให้มีบุตรได้ง่ายขึ้น

3.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน เช่นการกินอาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้งและไขมัน แต่ให้กินอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะผักและผลไม้แทน นอกจากนี้ควรออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยให้อาการป่วยดีขึ้น

4.ผ่าตัด

Sponsored

การผัดตัดนั้นอาจได้ผลในระยะสั้นๆ จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์อีกที ซึ่งวิธีการผ่าตัดนั้น จะทำโดยวิธีการยิงเลเซอร์ เพื่อเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อรังไข่ที่ใช้ผลิตฮอร์โมนเพศชาย ส่งผลให้ฮอร์โมนเพศชายผลิตได้น้อยลง และทำให้ไข่กลับมาตกได้ตามปกติ

5.ตรวจหาความเสี่ยงจากโรคต่างๆ

นอกจากจะรักษาอาการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้ว ผู้ป่วย PCOS ยังจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการตรวจหาโอกาสในการเกิดโรคอื่นๆ เช่น ความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และภาวะไขมันสูง เป็นต้น

การดูแลป้องกัน

เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ จึงมีวิธีการดูแลและป้องกันตัวเอง ดังต่อไปนี้

1.ควบคุมน้ำหนัก

ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวเกิน มักมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ตามมา ซึ่งภาวะอ้วนนั้นจะส่งผลให้ประจำเดือนมาผิดปกติ เนื่องจากฮอร์โมนเพศไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ จึงส่งผลให้เกิดโรค ถุงน้ำรังไข่หลายใบ ในที่สุด ดังนั้นจึงควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเน้นกินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

2.ออกกำลังกาย

การออกกกำลังกาย จะช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนไขมันเป็นกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ทำให้ลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานลง

3.พักผ่อนให้เพียงพอ

การอดนอน นอนน้อย นอนไม่พอ ทำให้ระบบการเผาผลาญทำงานลดลง จึงส่งผลให้อ้วนขึ้น แถมยังทำให้ลดน้ำหนักได้ยากขึ้นด้วย ดังนั้นจึงควรหาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ

4.ลดความเครียด

ความเครียดนั้น มีผลต่อสภาพจิตใจทำให้วิตกกังวลจนนอนไม่หลับ หรือกินอาหารมากผิดปกติ ซึ่งทำให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นการมีจิตใจที่ผ่องใส ย่อมช่วยป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ได้

การเกิดโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ รวมทั้งการรักษาเป็นเพียงการรักษาตามอาการที่เป็นเท่านั้น ดังนั้นหญิงวัยเจริญพันธุ์ควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนทางร่างกาย และเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดโรคต่างๆ ตามมานั่นเอง

อ้างอิง : siphhospital

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about growing up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.อาการจิ๋มล็อก คืออะไร? เป็นสาเหตุที่ทำให้มีลูกยากจริงหรือ

2.8 อาหารเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิง แก้ปัญหามีลูกยาก เพราะฮอร์โมนผิดปกติ