ในสถานการณ์เช่นนี้ ครอบครัวที่กำลังวางแผนการตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่อาจจะกังวลว่าคุณภาพของไข่จะรอนานไม่ได้ ทางเลือกของการมีลูกอีกวิธีคือ การแช่แข็งเซลล์ไข่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในหลายๆตัวเลือกที่น่าสนใจ
การแช่แข็งเซลล์ไข่ของสตรีทำกันมานานแล้ว โดยทำในกรณีที่
1. สตรีที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็ง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา โดยการฉายแสงหรือเคมีบำบัด โดยยังมีความต้องการมีบุตร
2. สตรีที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เช่น พบ BRCA mutations มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ กรณีนี้แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเต้านมและรังไข่ออกเพื่อป้องการเกิดโรค
3. กรณีทำเด็กหลอดแก้ว ในวันที่เก็บไข่ไม่สามารถเก็บอสุจิได้
4. มีภาวะที่รังไข่จะหยุดทำงานก่อนกำหนด เช่น ต้องได้รับการผ่าตัดพยาธิสภาพที่รุนแรงในอุ้งเชิงกรานที่อาจกระทบการทำงานของรังไข่ มีโรคทางพันธุกรรมที่รังไข่หยุดการทำงานก่อนวัยอันควร
5. การเก็บแช่แข็งเซลล์ไข่เพื่อใช้ในอนาคต หรือเพื่อการบริจาค
ในปัจจุบันการเก็บแช่แข็งเซลล์ไข่ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากสตรีแต่งงานเมื่ออายุมากขึ้น รวมทั้งเทคโนโลยีแช่แข็งไข่ได้พัฒนาไปมาก ทำให้โอกาสรอดของเซลล์ไข่หลังการแช่แข็งดีขึ้นมาก
ขั้นตอนการกระตุ้นไข่นั้นจะเหมือนการกระตุ้นไข่เพื่อทำเด็กหลอดแก้ว แต่กรณีที่ต้องรีบเข้ารับการรักษามะเร็งโดยการฉายแสงหรือเคมีบำบัด จะไม่รอรอบเดือนแล้วกระตุ้นไข่ตามโปรแกรมปกติ โดยความรู้ปัจจุบันเราทราบว่าอาจมีรอบการเจริญเติบโตของไข่ประมาณ 2-3 รอบต่อรอบประจำเดือน 1 รอบ นั่นหมายความว่าเราสามารถกระตุ้นไข่ได้มากกว่า 1 ครั้งต่อรอบเดือน ดังนั้นเราจึงสามารถกระตุ้นไข่ช่วงใดก็ได้ของรอบเดือน เพื่อให้คนไข้สามารถเข้ารับการรักษามะเร็งได้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตามกรณีแช่แข็งไข่แบบปกติจะกระตุ้นไข่ตามแบบมาตรฐานคือเริ่มกระตุ้นไข่ภายใน3 วันแรกของรอบเดือน
อายุที่เหมาะสมในการเก็บแช่แข็งไข่คือไม่มากกว่า 38 ปี เนื่องจากคุณภาพไข่หลังอายุ 38 ปีจะลดลงและโอกาสพบโครโมโซมผิดปกติมากขึ้น โดยจำนวนไข่ที่ควรเก็บได้อยู่ที่ประมาณ 8-10ใบ และระยะเวลาเหมาะสมในการแช่แข็งอยู่ที่ 10ปีตามคำแนะนำของThe Fertilization and Embryology Authority ของสหราชอาณาจักร
กรณีสตรีที่แต่งงานแล้ว แนะนำให้แช่แข็งตัวอ่อนมากกว่าแช่แข็งไข่ เนื่องจากโอกาสรอดของตัวอ่อนหลังการแช่แข็งสูงกว่า
การให้คำปรึกษาก่อนการรักษามีความสำคัญมาก โดยการให้ข้อมูลขั้นตอนการรักษา ข้อดี ข้อเสีย รวมทั้งโอกาสตั้งครรภ์จากไข่แช่แข็ง โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุของสตรีขณะเก็บไข่ คุณภาพของอสุจิ คุณภาพของเยื่อบุโพรงมดลูกขณะย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูก และปัจจัยอื่นๆ โดยพบว่า โอกาสรอดของไข่หลังการแช่แข็งมีประมาณร้อยละ 80
#LadyPR9