โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD (Obsessive Compulsive Disorder) เป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง ที่ผู้ป่วยมักจะเกิดความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ส่งผลทำให้เกิดอาการ ย้ำคิดย้ำทำ ซ้ำไปซ้ำมา โดยที่ผู้ป่วยเองไม่รู้ตัวเช่น ปิดไฟรึยัง ปิดแก๊สรึยัง จึงต้องคอยตรวจดูซ้ำๆ ซึ่งอาการเหล่านี้มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และคุณภาพชีวิต ควรรีบเช็คตัวเองว่ามีอาการดังที่กล่าวมาหรือไม่ หากเข้าข่ายควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม
ย้ำคิดย้ำทำ โรคนี้เกิดจากอะไร
อาการ ย้ำคิดย้ำทำ โรคนี้เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติทางประสาท และสมอง ที่มีการทำงานบกพร่อง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าวนี้มีด้วยกัน 2 สาเหตุหลักคือ การทำงานของสมองบางส่วนมากเกินปกติ สมองส่วน Orbitofrontal, Cingulate Cortex, Caudate และ Thalamus หรือเกิดความผิดปกติของสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งสารดังกล่าวนี้ช่วยควบคุมภาวะความรู้สึก ส่วนสาเหตุอื่นๆ อาจเกิดจากผู้ป่วยอาจเจอเหตุการณ์ที่รุนแรงจนฝังใจในวัยเด็กเช่น การถูกทารุณกรรมทางกาย ทางใจ หรือพบเจออุบัติเหตุที่รุนแรง ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
ลักษณะอาการที่คุณต้องรู้
อาการ ย้ำคิดย้ำทำ ถือเป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งหากปล่อยไว้จะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ผู้ที่ป่วย โรคย้ำคิดย้ำทำ จะมีความรู้สึกสบายใจ หากได้ทำอะไรซ้ำไปซ้ำมา ผู้ที่ป่วยจึงไม่สามารถควบคุมความคิด และการกระทำของตัวเองได้ทำให้ในแต่ละวันจึงต้องเสียเวลากับอาการ ย้ำคิดย้ำทำ ไปมาไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก ลักษณะอาการที่มักจะพบเห็นบ่อยๆ ของผู้ป่วยโรคนี้ก็จะมีดังนี้
- มักจะตรวจดูการเปิด – ปิดไฟ หรือเตาแก๊สซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ลืมปิด
- ไม่กล้าที่จะหยิบ หรือจับสิ่งของ เพราะกลัวความสกปรก หรือกลัวเชื้อโรค
- มักจะล้างมือ หรืออาบน้ำบ่อยๆ เกินความจำเป็น
- เกิดความไม่สบายใจทันทีถ้าเห็นความไม่เป็นระเบียบ สิ่งของที่จัดไม่เท่ากัน ไม่เรียบร้อย ไม่สมดุล
- คอยตรวจนับสิ่งของ และจัดสิ่งของให้เป็นระเบียบอยู่เสมอ
- ชอบเก็บหรือสะสมสิ่งของในบ้านมากเกินไป
- มักจะต้องทำทุกสิ่งให้ครบตามจำนวนที่ตนเองกำหนดไว้
- ท่องคำพูดหรือบทสวดมนต์ในใจซ้ำ ๆ มีความคิดบางอย่างวกวนในหัวจนทำให้นอนไม่หลับ
- มีความคิดทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการทางร่างกายร่วมด้วยเช่น การขยิบตา ย่นจมูก กระตุกมุมปาก ขยับหน้า ยักไหล่หรือศีรษะ กระแอมไอ เป็นต้น
วิธีรักษาเมื่อเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ
โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่รักษาควบคุมอาการไม่ให้เกิดความรุนแรง ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติเท่านั้น หากป่วยด้วยโรคนี้จึงควรไปพบแพทย์อยู่เป็นประจำไม่ให้ขาด ซึ่งวิธีรักษา อาการ ย้ำคิดย้ำทำ แพทย์ก็จะแบ่งการรักษาออกเป็น 2 วิธีหลักดังนี้
1.การรักษาโดยการให้รับประทานยาจิตเวช
แพทย์ส่วนใหญ่มักจะรักษาผู้ป่วย ย้ำคิดย้ำทำ ด้วยการให้ยารับประทานต้านซึมเศร้าหลายชนิดด้วยกัน เพื่อช่วยควบคุมอาการเช่น clomipramine และยาในกลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors (SSRI) ทุกตัว ได้แก่ fluoxetine, fluvoxamine, paroxetine, sertraline และ escitalopram โดยทั่วไปมักใช้ในขนาดที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า และในผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลอยู่สูงอาจใช้ยาในกลุ่ม benzodiazepine ในระยะสั้นๆ ซึ่งอาการของผู้ป่วยมักจะดีขึ้น เมื่อรับประทานยาไปแล้ว 10 – 12 สัปดาห์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องคำนึงถึงข้อควรระวังผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในช่วงแรกของการใช้ยา และช่วงที่ต้องปรับเปลี่ยนยา การรับประทานยาต้านซึมเศร้าจะช่วยลดการฆ่าตัวตายได้เมื่อรับประทานติดต่อกันนาน การหยุดทานยา หรือการลืมรับประทานยา อาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยอาการแย่ลงได้ เพราะฉะนั้นควรรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรหยุดยาเองหากไม่มีคำสั่งจากแพทย์
2.การรักษาด้วยจิตบำบัด
อีกหนึ่งการรักษาผู้ป่วย โรคย้ำคิดย้ำทำ คือแพทย์จะทำการรักษาด้วยจิตบำบัดความคิด และพฤติกรรม โดยให้ผู้ป่วยฝึกเผชิญหน้ากับความกลัวทีละน้อย เพื่อช่วยปรับการรับรู้ และจัดการกับความวิตกกังวลได้อย่างถูกต้อง การรักษาด้วยวิธีนี้ จะต้องใช้เวลา และตัวผู้ป่วยเองก็ต้องมีความพยายามด้วยเช่นกัน อาจเข้ารับการบำบัดร่วมกับสมาชิกในครอบครัวด้วย การรักษาวิธีนี้อาจได้ผลดี ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยารักษาโรคทางจิตเวช
สามารถป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร
อาการ ย้ำคิดย้ำทำ เป็นโรคที่เรามักจะพบได้บ่อยๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน อยากห่างไกลจาก โรคย้ำคิดย้ำทำ เราสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ดูแลตนเองด้วยการ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ
- หากิจกรรมอื่นๆ ทำ เพื่อผ่อนคลายความเครียดเช่น การดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงความคิดที่เป็นกังวล พยายามเสริมความมั่นใจให้กับตนเอง
- หากรู้สึกว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็น ย้ำคิดย้ำทำ ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจดูความผิดปกติ
ถึงแม้ว่าอาการ ย้ำคิดย้ำทำ จะไม่รุนแรง หรือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ หากสงสัยว่าป่วยด้วยโรคดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อลดความรุนแรงของโรค ด้วยการรักษาโดยการทานยา และการบำบัดจิต จะช่วยให้อาการทุเลาลง และสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติได้
= = = = = = = = = = = =