คุณแม่น้ำนมน้อย คุณแม่มือใหม่ มักกังวลว่าตัวเองจะมีน้ำนมน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก พอเห็นลูกร้องบ่อย ๆ ก็ยิ่งเครียด ยิ่งกังวล จนบางครั้งจากที่เคยมีน้ำนมให้ลูกแบบพอดี ๆ กลับทำให้น้ำนมลดลงไปจริง ๆ เพราะความเครียดจากการคิดไปเองว่า “น้ำนมตัวเองไม่เพียงพอ และมีน้อยเกินไป” สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่กำลังคิดเอาเองว่าน้ำนมของตัวเองมีปริมาณน้อยเกินไป และเกิดความสับสนว่าจะเลือกเสริมด้วยนมอื่นดีหรือไม่ วันนี้เราขออธิบายเกี่ยวกับน้ำนมแม่ก่อนว่า มีปริมาณที่เพียงพอหรือไม่ และทำไมน้ำนมแม่ถึงลดน้อยลงไปได้ มาดูสาเหตุที่ทำให้น้ำนมแม่ลดลงกันดีกว่าค่ะ

คุณแม่น้ำนมน้อย

น้ำนมแม่ลดน้อยลงเพราะอะไรนะ

  • เริ่มให้ลูกดูดนมครั้งแรก เพื่อกระตุ้นกระบวนการสร้างน้ำนมหลังคลอดช้าเกินไป
  • ให้ลูกน้อยดูดผิดวิธี ลูกอมงับได้ไม่ลึกพอ ลูกได้ดูดนมแม่ไม่บ่อยพอ (น้อยกว่า 8 ครั้งต่อวัน)
  • คุณแม่มือใหม่ให้นมผสม ให้ดื่มน้ำ หรือให้อาหารเสริม (ก่อนวัยอันสมควรคือ 6 เดือน) ทำให้ลูกอิ่มไม่ยอมดูนมแม่
  • คุณแม่กลับไปทำงานแล้วปั๊มนมออกน้อยเกินไป หรือทิ้งระยะห่างเกินกว่า 3 – 4 ชั่วโมง
  • คุณแม่เกิดความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ และรับประทานอาหารน้อยเกินไป
  • การทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่เป็นฮอร์โมนรวมในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด

ซึ่งคุณแม่ที่พบกับปัญหาเกี่ยวกับปริมาณน้ำนมที่น้อยนี้ ส่วนมากจะเป็นกับคุณแม่มือใหม่ที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการให้นมลูกอย่างถูกน้อย และวิธีการกระตุ้นน้ำนมของคุณแม่ยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ถ้าถามว่า ปริมาณน้ำนมแม่จะเพียงพอต่อความต้องการของลูกหรือไม่ เราขอบอกเลยค่ะว่า น้ำนมแม่มีปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของลูกอยู่แล้ว เพราะธรรมชาติของร่างกายผู้หญิงที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง น้ำนมที่ถูกผลิตมามีความเพียงพอต่อร่างกายของทารกเพื่อให้เติบโตสมวัย พร้อมด้วยสารอาหารจำเป็นที่ดีต่อสุขภาพของทารกแรกเกิด

สาเหตุที่ทำให้คุณแม่เข้าใจผิด… คิดว่าน้ำนมน้อย

  • การที่เต้านมไม่คัด จึงทำให้คุณแม่มือใหม่เข้าใจผิดคิดว่า ตัวเองมีน้ำนมน้อยลง แต่ที่จริงเกิดจากกระบวนการทำงานของร่างกายที่สามารถปรับการผลิตได้พอดีกับความต้องการของลูกน้อยนั่นเองค่ะ
  • ลูกดูดนมแล้วหลับก่อนจะอิ่ม เมื่อเอาลูกออกจากเต้าไม่นาน ก็ร้องไห้ใหม่ คุณแม่ก็คิดว่าลูกน้อยยังหิวอยู่ ที่จริงทารกแรกเกิดจะมีพฤติกรรมการดูดนาน และบ่อยมากในช่วงแรก นั่นเพราะกระบวนการสร้างน้ำนมในระยะนี้จะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทำให้ลูกน้อยต้องดูดนานขึ้นและบ่อยมาก ๆ ตามสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของทารกค่ะ
  • ให้ลูกดูดนมสลับเต้าไปมาในมื้อเดียวกัน ลูกได้แต่น้ำนมส่วนหน้า ไม่ได้น้ำนมส่วนหลังที่มีไขมันมากกว่า จึงทำให้ลูกน้อยหิวเร็ว น้ำนมพุ่งจนลูกสำลัก และไม่ยอมดูดนมแม่อีก
  • ลูกเข้าสู่ระยะการเติบโตแบบเร็ว ๆ (Growth Spurt)

อยากมีน้ำนมมากขึ้น คุณแม่มือใหม่ต้องทำอย่างไร

  1. ให้นมลูกบ่อยขึ้นและนานขึ้น (ไม่ควรน้อยกว่า 8 ครั้งต่อวัน) หากคุณแม่ไม่ได้อยู่กับลูกตลอดเวลา ก็ควรบีบหรือปั๊มนมออกให้เกลี้ยงเต้าทุก 3 ชั่วโมงค่ะ การทำเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นกระบวนการสร้างน้ำนมแม่ให้เพิ่มขึ้น
  2. กระตุ้นเต้านม โดยใช้ผ้าอุ่นจัดประคบเต้านม 3 – 5 นาที ก่อนให้นม นวดเต้านมและคลึงหัวนมเบา ๆ วิธีนี้จะช่วยให้น้ำนมไหลออกมาได้มากขึ้น และช่วยลดอาการปวดคัดของเต้านมได้อีกด้วย
  3. ให้ลูกน้อยดูดนมอย่างถูกวิธี โดยการปรับท่าให้ลูกน้อยสามารถนอมหัวนม และลานนมได้ลึกพอ จึงเป็นการดูดที่ถูกต้อง การทำเช่นนี้ นอกจากลูกจะได้รับน้ำนมในปริมาณที่พอเหมาะแล้ว น้ำนมก็จะถูกกระตุ้นให้ผลิตออกมาอย่างสม่ำเสมอ
  4. หลีกเลี่ยงการให้น้ำ นมผสม หรืออาหารเสริมอื่น ก่อนอายุของลูกครบ 6 เดือน เพราะอาจจะทำให้ลูกอิ่มจนไม่ยอมดูดนมแม่อีก
  5. คุณแม่ต้องรู้สึกผ่อนคลายทุกครั้งที่ให้นมลูก หรือขณะปั๊มนม โดยหายใจเข้าลึก ๆ หรือนึกถึงสถานที่ ๆ น่าเที่ยว หรือคุณแม่อาจจะเลือกฟังเพลงที่มีจังหวะเบา ๆ ก็สามารถช่วยได้ค่ะ
  6. ทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการตามคำแนะนำ ของผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการสำหรับคุณแม่ให้นมลูก เพื่อให้น้ำนมทุกหยดที่ลูกดูดไปมีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด
  7. ในช่วงที่น้ำนมแม่ยังมีปริมาณที่น้อยอยู่ หากคุณแม่ต้องการเสริมด้วยนมอื่น ก็ไม่ควรให้ลูกดูดจากขวดโดยตรง ควรใช้วิธีหยดนมข้าง ๆ เต้าแม่ในขณะที่ลูกดูดนม หยดครั้งละน้อยๆ พอให้ลูกไม่หงุดงิด เมื่อน้ำนมสร้างได้มากขึ้น ก็ค่อย ๆ ลดปริมาณน้ำนมที่หยดลง จนงดเสริมได้ในที่สุดค่ะ
  8. หากลูกน้อยดูดนมแล้วหลับก่อนจะอิ่ม คุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกดูดนมต่อ โดยการขยับเต้านมและบีบน้ำนมเข้าปากลูกเป็นระยะ จนกว่าลูกจะอิ่มและคายปากออกเองค่ะ
  9. ในกรณีที่ลูกน้อยเข้าสู่ระยะการเติบโตแบบรวดเร็ว คุณแม่ควรให้ลูกดูดบ่อยขึ้น และให้ดูดนานขึ้นในแต่ละครั้ง ภายใน 2 – 3 วัน น้ำนมแม่ก็จะเพิ่มมากขึ้นจนพอสำหรับลูก

เมื่อคุณแม่ลองทำตามวิธีดังกล่างแล้ว ต่อมาก็คือการติดตามผลค่ะ โดยจะใช้เวลาประมาณ 4 – 7 วัน คุณแม่ถึงจะเห็นว่าน้ำนมมีมากขึ้นอย่างที่คุณแม่ต้องการ คุณแม่มือใหม่คงจะเข้าใจแล้วใช่ไหมค่ะว่า ปริมาณน้ำนมแม่จะมีมากหรือน้อย นั่นขึ้นอยู่กับความรู้สึกและวิธีปฏิบัติของคุณแม่เอง หากคุณแม่สามารถทำตามคำแนะนำข้างต้นได้ เราเชื่อว่าลูกน้อยของคุณจะได้น้ำนมแม่มากพอต่อการเจริญเติบโตอย่างแน่นอนค่ะ

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

Sponsored

1.ฝากครรภ์ ทำไมต้องตรวจปัสสาวะทุกครั้ง เรามีคำตอบ

2.ฝากครรภ์ช้า แม่รู้ไหม ส่งผลเสียได้มากกว่าที่คิด