เมื่ออากาศเปลี่ยน ลูกน้อยก็อาจเจ็บป่วยไม่สบาย หรือติดหวัดจากคนอื่นได้ง่าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง ซึ่งก็มักจะมีอาการตัวร้อน คัดจมูก และมีน้ำมูก ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้คุณแม่รู้สึกกังวลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ที่มักจะเกิดความกังวลใจว่าจะใช้ น้ำเกลือล้างจมูก ดีไหม และควรล้างอย่างไรให้ถูกวิธี ดังนั้นเราจะไปตอบข้อสงสัยให้กับคุณแม่กันค่ะ พร้อมคำแนะนำในการดูแลเมื่อลูกป่วย และการล้างจมูกลูกที่ถูกต้อง
ทำอย่างไรดี เมื่อลูกไม่สบาย
หากลูกน้อยไม่สบาย คุณแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิดและถูกวิธี โดยเราก็มีคำแนะนำในการดูแลเมื่อลูกป่วยมาแนะนำกันดังนี้
1.เช็ดตัวลูกบ่อยๆ
คุณแม่ควรเช็ดตัวลูกบ่อยๆ เพื่อลดอาการตัวร้อนและป้องกันอาการชักที่อาจเกิดจากภาวะไข้สูงได้ โดยให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ แล้วนำมาเช็ดตามตัวลูก เน้นบริเวณข้อพับมากเป็นพิเศษ ที่สำคัญให้เช็ดย้อนรูขุมขนขึ้นไป จะช่วยระบายความร้อนได้ดีที่สุด
2.ให้กินยาลดไข้สำหรับเด็ก
ในกรณีที่เช็ดตัวแล้วแต่ไข้ไม่ลดลง คุณแม่ควรให้ลูกกินยาลดไข้สำหรับเด็ก แต่ต้องเลือกยาลดไข้ที่เหมาะกับวัยของลูกน้อยด้วย
3.ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
หากมีน้ำมูกทำให้ลูกหายใจไม่สะดวก แนะนำให้คุณแม่ใช้น้ำเกลือล้างจมูกเพื่อลดน้ำมูก แต่ในกรณีที่เป็นเด็กทารกวัยไม่ถึง 1 ปี อาจใช้สเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูกแทน เพราะใช้ง่ายและปลอดภัยต่อลูกน้อยมากกว่า อย่างไรก็ตามคุณแม่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจกับการใช้น้ำเกลือล้างจมูกทารกที่ถูกต้อง จะได้ไม่ทำผิดวิธีจนเป็นอันตรายได้นั่นเอง
ล้างจมูกลูกดีไหม ควรล้างเมื่อไหร่
การล้างจมูกลูก เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น ทำให้ลูกน้อยหายใจได้สะดวกกว่าเดิม และลดน้ำมูกได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถทำได้ทั้งกับเด็กเล็กและเด็กโตเลยทีเดียว ส่วนจะล้างจมูกลูกเมื่อไหร่ดีนั้น ก็คือล้างเมื่อลูกมีน้ำมูกเหนียวข้นจำนวนมาก ทำให้หายใจไม่ออกนั่นเอง
ข้อดีของการใช้ น้ำเกลือล้างจมูก
การใช้น้ำเกลือล้างจมูกลูกมี 2 วิธีที่นิยมทำกัน และมั่นใจได้ว่าปลอดภัยต่อลูกน้อยแน่นอน ซึ่งแต่ละวิธีก็จะมีข้อดีแตกต่างกันดังนี้
1.การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือแบบสเปรย์
น้ำเกลือแบบสเปรย์จะนิยมนำมาใช้ล้างจมูกลูกวัยแรกเกิด – 1 ปี เพราะใช้ง่าย เหมาะกับช่วงวัยของลูกน้อยที่สุด เพียงฉีดพ่นน้ำเกลือเข้าไปก็จะทำให้น้ำมูกนิ่มลง และเช็ดหรือดูดออกมาได้ง่าย โดยข้อดีของการใช้น้ำเกลือแบบสเปรย์ล้างจมูกลูกก็มีดังนี้
- ทำให้น้ำมูกนิ่มลงและกำจัดออกมาได้ง่ายกว่าเดิม
- มีความอ่อนโยน ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
- ช่วยให้ลูกหายใจสะดวก ลดอาการงอแงได้ดี
- ใช้ง่าย เพียงแค่พ่นเข้าไปในช่องจมูกลูกน้อยเท่านั้น

2.การล้างจมูกลูกโดยใช้ไซริงค์(กระบอกฉีดยา )
สำหรับการล้างจมูกลูกด้วยไซริงค์ นั้นสามารถทำได้ตั้งแต่วัยทารกเลย แต่ถ้าเด็กเล็กมากๆ คุณแม่ต้องระวังเรื่องการสำลักเป็นพิเศษ ดังนั้นถ้าจะล้างจมูกลูกทารกแนะนำให้ทำในคุณแม่ที่มีความชำนาญจริงๆ แต่ถ้าโดยทั่วไป คุณแม่มือใหม่จะแนะนำให้ล้างจมูกได้ตั้งแต่อายุ 4เดือนขึ้นไปจะเหมาะค่ะ เพราะน้องจะเริ่มคอแข็งและนั่งในท่านั่งได้แล้ว โดยการล้างจมูกนั้นมีข้อดีดังนี้
- ช่วยล้างน้ำมูกและสารก่อภูมิแพ้ จึงลดอาการน้ำมูกไหลจากภูมิแพ้ได้ดี
- ชะล้าง ทำความสะอาดสิ่งสกปรกที่ลูกหายใจเข้าไปในโพรงจมูก
- ลดอาการคัดแน่นจมูก ทำให้ลูกหายใจสะดวกขึ้น

ขั้นตอนการใช้น้ำเกลือแบบสเปรย์
ในน้องทารกที่มีน้ำมูกไม่มากนัก หรือ หรือเด็กๆไม่ให้ความร่วมมือในการล้างจมูกเลย หรือ คุณแม่ไม่มั่นใจในการล้างจมูก สามารถใช้น้ำเกลือแบบสเปรย์แทนได้ค่ะ
การใช้น้ำเกลือแบบสเปรย์นี้สามารถใช้ได้ตั้งแต่อายุแรกเกิดเลยค่ะ มีอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมและวิธีการใช้ดังนี้
อุปกรณ์ : น้ำเกลือแบบสเปรย์ + คอตตอนบัต (ไม้พันสำลีก้านเล็ก) + ลูกยางดูดน้ำมูก
วิธีการล้างจมูก
1.นำน้ำเกลือแบบสเปรย์มาแหย่เข้าไปในช่องจมูกของลูกน้อย แต่ไม่ต้องแหย่เข้าไปลึก
2.ฉีดพ่นน้ำเกลือเข้าไปในจมูก โดยฉีดประมาณข้างละ 1-2 ครั้ง
3.เมื่อน้ำมูกอ่อนนิ่มลงแล้ว ให้ใช้คอตตอนบัต (ไม้พันสำลีก้านเล็ก) ค่อยๆ เช็ดน้ำมูกออกมา หรือใช้ลูกยางดูดน้ำมูกก็ได้
ขั้นตอนการล้างจมูก
จะใช้ไซริงค์เป็นอุปกรณ์หลัก แต่ปัจจุบันมีจุกที่ต่อเข้ากับตัวไซริงค์ใช้สำหรับล้างจมูกโดยเฉพาะ ทำให้ล้างจมูกได้ง่ายขึ้น
มีอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมและวิธีการล้างจมูกดังนี้
อุปกรณ์ : ไซริงค์ +จุกสำหรับการล้างจมูก + น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% + ถ้วยใส่น้ำเกลือ + กระดาษทิชชู + ภาชนะรองน้ำมูก
วิธีการล้างจมูก
1.ถ้าเป็นเด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 4 เดือนให้ทำในท่านอนตะแคง แต่ถ้าน้องอายุมากกว่า 4 เดือนที่สามารถจับนั่งในท่านั่งได้แล้ว ให้ทำในท่านั่งจะสะดวกกว่าค่ะ
2.ใส่น้ำเกลือในถ้วย จากนั้นนำไซริงค์มาดูดน้ำเกลือให้เต็มหลอด ขนาดของไซริงค์และน้ำที่ใช้แต่ละครั้ง ควรขึ้นอยู่กับขนาดของเด็ก ถ้าเป็นเด็กทารกอายุน้อยกว่า 1ปี ใช้น้ำประมาณ5 ซีซี , ถ้าเด็ก 1-8 ปี ใช้น้ำ10 ซีซี , ถ้าเด็กอายุมากกว่า 8 ปีขึ้นไปใช้น้ำครั้งละ 20 ซีซีเท่าในผู้ใหญ่ได้เลย
3.สอดปลายไซริงค์เข้าไปในรูจมูกลูก โดยให้ปลายจุกล้างจมูกที่ติดกับกระบอกชิดกับด้านบนขอบรูจมูกพอดี แล้วค่อยๆ ฉีดน้ำเกลือเข้าไป
4.ล้างสลับข้างไปมา โดยทำซ้ำจนกว่าน้ำมูกจะหมด อาจจะให้เด็กสั่งน้ำมูกเบาๆ หรือ บ้วนน้ำลายออกมา ควรเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ เนื่องจากจะทำให้หูอื้อ เจ็บหูได้
การทำความสะอาดอุปกรณ์หลังล้างจมูกเสร็จ
- ในกรณีที่เป็นน้ำเกลือแบบสเปรย์ ให้เช็ดทำความสะอาดหัวสเปรย์แล้วปิดฝาขวดเก็บไว้ได้เลย โดยไม่ต้องถอดออกมาล้าง
- ส่วนไซริงค์ ภาชนะใส่น้ำเกลือ และภาชนะรองน้ำมูก ให้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด แล้วนำไปผึ่งให้แห้ง
- สำหรับลูกยางดูดน้ำมูก จะต้องล้างด้วยน้ำสบู่ แล้วนำไปฆ่าเชื้อด้วยการต้มในน้ำเดือดวันละครั้งประมาณ 10 นาที หลังจากต้มเสร็จจะต้องวางคว่ำลูกยางไว้เพื่อให้น้ำในลูกยางไหลออกมาจนหมด
ข้อควรระวังที่ต้องรู้
สิ่งที่คุณแม่ต้องระวังในการล้างจมูกลูกน้อยด้วยน้ำเกลือ ก็คือเรื่องของความสะอาด ซึ่งจะต้องล้างมือของคุณแม่เองให้สะอาดทุกครั้งก่อนเริ่มล้างจมูกให้ลูก รวมถึงอุปกรณ์ที่นำมาใช้ก็ต้องมั่นใจด้วยว่ามีความสะอาดมากพอ ส่วนกรณีที่ล้างจมูกด้วยไซริงค์ จะต้องระวังการสำลัก ซึ่งจะต้องจับลูกให้นอนในท่าที่ถูกต้อง และล้างจมูกให้ถูกวิธี ก็จะช่วยป้องกันการสำลักได้
ล้างจมูกลูกน้อยให้ถูกวิธี โดย “คุณหมอแป๊กกี้”
เพื่อให้คุณแม่ล้างจมูกลูกน้อยอย่างถูกวิธี ไม่เป็นอันตราย เราก็มีคลิปวิดีโอสาธิตการล้างจมูกลูกโดย คุณหมอแป๊กกี้ มาให้ชมกันด้วย คลิกที่วิดีโอด้านล่างนี้กันเลยค่ะ
เมื่อลูกน้อยมีอาการป่วย ไม่สบาย คุณแม่ควรดูแลอย่างถูกวิธีเพื่อให้ลูกหายจากอาการป่วยเร็วขึ้น ซึ่งการใช้น้ำเกลือล้างจมูกก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก ที่คุณแม่ควรทำเมื่อลูกมีน้ำมูกเยอะ แต่ก็ต้องทำให้ถูกวิธีตามขั้นตอนด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของลูกรักนั่นเอง
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..
1.เชื้อไวรัส hMPV คืออะไร ทำไมลูกน้อยจึงป่วยบ่อย
2.กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ในเด็กเล็ก วิธีสังเกตและการดูแลเมื่อลูกน้อยป่วย