การตั้งครรภ์เป็นเรื่องธรรมชาติของผู้หญิงที่มีคู่ และเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่สุดในชีวิตที่ผู้หญิงคนหนึ่งสามารถให้กำเนิดทารกน้อยออกมาได้ เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์แล้วไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี ให้มาอ่านบทความนี้ คู่มือคุณแม่มือใหม่ ที่ได้นำข้อมูลจำเป็นต้องรู้ ซึ่งยุคดิจิตอลเฟื่องฟูจะทำทุกอย่างให้ง่ายขึ้น คุณแม่ไม่ต้องไปหาซื้อหนังสือคู่มือเลี้ยงลูกให้ยุ่งยากอีกแล้ว เพียงแค่เปิดมือถือก็เข้ามาอ่านคู่มือคุณแม่จากเว็บของเรา
คู่มือคุณแม่มือใหม่ ตั้งแต่เริ่มรู้ว่าท้อง
สำหรับคุณแม่ที่เริ่มรู้ว่าตั้งครรภ์ ควรมีเคล็ดลับในการเตรียมตัวเป็นคุณแม่ ตั้งแต่เริ่มรู้ตัว ซึ่งไม่ใช่แค่การดูแลตัวเอง แต่จำเป็นต้องดูแลครรภ์ให้มีคุณภาพที่สุด
1.ร่างกายคุณแม่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย
อาการที่แสดงออกทางร่างกายของคุณแม่ เริ่มจากเจ็บหน้าอกแบบตึงๆ คลื่นไส้ อาเจียน ส่วนในคุณแม่บางราย อาจมีอาการอื่นๆ ที่แสดงออกมาได้บ้างเหมือนกัน เช่น การปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น เหนื่อยง่าย เป็นต้น
2.มีอารมณ์แปรปรวน เครียด วิตกกังวล
เป็นช่วงที่มีความผิดปกติเกิดขึ้น คือประจำเดือนขาดหายไป ไม่มาตามกำหนด คุณแม่ก็จะเริ่มสงสัยว่าตัวเองกำลังจะมีการตั้งครรภ์หรือไม่ ในช่วงนี้ก็อาจทำให้คุณแม่มีอารมณ์เครียด วิตกกังวล และมีความตื่นเต้นระคนกันไป ประกอบกับเป็นช่วงที่ฮอร์โมนมีการปรับตัว จึงทำให้อารมณ์แม่ท้องบางราย เกิดการแปรปรวนได้
3.ต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด
ตอนนี้ลูกน้อยในครรภ์มีขนาดเล็กมาก และสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาการที่จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย และสมองของลูกในอนาคตเป็นอย่างมาก ช่วงนี้คุณแม่พยายามหลีกเลี่ยง การเข้าไปอยู่ในสถานที่อากาศอบอ้าว หรือร้อนจัด เลี่ยงการได้รับควันบุหรี่จากบุคคลอื่น หากเคยสูบเองก็ควรงด และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ของมึนเมา เพราะมีผลเสียต่อลูกน้อยในครรภ์อาจทำให้พิการ หรือเกิดการแท้งได้
4.ควรกินอาหารที่มีประโยชน์
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรให้ความสำคัญในเรื่องอาหารเป็นอันดับแรก ในการเลือกกินอาหารว่ากินแบบไหนให้เหมาะสมตามช่วงวัยของอายุครรภ์ ลูกน้อยในครรภ์ก็จะได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ จึงทำให้มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงไปด้วย ในคู่มือคุณแม่มือใหม่ บทนี้จะนำเสนออาหาร ที่เหมาะสมกับแม่ท้องโดยเฉพาะช่วงเดือนที่ 1- เดือนที่ 3 ว่าควรกินอะไรบ้าง
- เนื้อปลาควรเน้นปลาทะเลน้ำลึก เพราะอุดมไปด้วยโอเมก้า3 และ DHA ที่มีส่วนช่วยสร้างเซลล์สมองของลูกน้อยให้มีพัฒนาการที่สมบูรณ์
- เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน กินได้ตั้งแต่ เนื้อวัว เนื้อไก่ และเนื้อหมู ซึ่งเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง มีวิตามินบี ธาตุเหล็ก และโคลีน ที่ช่วยเสริมสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงของคุณแม่ ส่งผลให้ออกซิเจนสามารถไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกายของลูกน้อยในครรภ์ได้เป็นอย่างดี
- ไข่ไก่ มีโปรตีน ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส แคลเซียม โคลีน และวิตามินต่างๆ ครบถ้วน ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์ของลูกน้อยมาก
- ผักสีเขียวถือแหล่งของสารโฟเลต มีความสำคัญในสร้างเซลล์สมองของลูกน้อย และป้องกันภาวะโลหิตจาง ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับแม่ท้องได้
- ผลไม้ทั้งสีเหลืองและสีส้มมีสารโฟเลตสูง ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางในคุณแม่ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาสมอง และระบบประสาทไขสันหลังของลูกน้อยให้สมบูรณ์
- ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ จะให้วิตามินซีสูง เมื่อทำงานร่วมกันกับธาตุเหล็ก ทำให้ร่างกายดูดซึมไปใช้ได้มากขึ้น
คู่มือคุณแม่มือใหม่ เมื่อใกล้คลอด
เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นย่างเข้าสู่เดือนท้ายๆ ของกันตั้งครรภ์จะมีอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ดังนี้
1.มีเมือกไหลออกมาทางช่องคลอด
ช่วงตั้งครรภ์บริเวณปากมดลูกจะมีเมือก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในมดลูกในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งเมื่อถึงเวลาใกล้คลอด ปากมดลูกจะเริ่มเปิดและบางขึ้น ทำให้อาจมีมูกปนเลือดออกมาได้
2.การเจ็บท้องจริง
คุณแม่จะรู้สึกเจ็บท้องเป็นระยะอย่างต่อเนื่องและเริ่มถี่ขึ้น เป็นสัญญาณว่าจะคลอดแล้ว
3.ท้องเสีย
อาการท้องเสียก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณของการใกล้คลอด และเมื่อใกล้คลอด ร่างกายจะปล่อยสารโพรสตาแกลนดิน เป็นสาเหตุทำให้มดลูกหดตัว หากท้องเสียมาก อาจเกิดอาการอ่อนเพลียเพราะขาดน้ำได้
4.ปวดหลัง
การปวดหลัง เป็นอาการที่มักเกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงใกล้คลอดซึ่งศีรษะของลูกน้อยไปสัมผัสกับกระดูกสันหลังของคุณแม่จึงทำให้มีอาการปวดหลังรุนแรงได้
5.ถุงน้ำคร่ำแตก
อาการถุงน้ำคร่ำแตก หรือน้ำเดินเป็นเพราะมดลูกเริ่มบีบตัวหดเล็กลงเพื่อบีบให้ศีรษะลูกน้อยเคลื่อนลงสู่อุ้งเชิงกรานของแม่ หากคุณแม่มีอาการน้ำเดินโอกาสคลอดลูกมีได้สูงมาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
คู่มือคุณแม่มือใหม่ หลังคลอดแล้ว
หลังจากคลอดลูกแล้วคุณแม่ก็ยังต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งต่างๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการดูแลแผล หรือน้ำคาวปลา ซึ่งมีคู่มือคุณแม่มือใหม่ ที่ต้องรู้ดังนี้
1.การดูแลแผล
หากคลอดเองการดูแลแผลจะไม่ยุ่งยากมากนัก ซึ่งแผลจะค่อยๆ หายไปภายใน 7 วัน ส่วนแผลผ่าตัด หากเย็บด้วยไหมละลายก็ไม่ต้องตัดไหม แผลจะสมานกันได้ดีภายใน 7-14 วัน แต่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ไปก่อนจนกว่าแผลจะหายดี
2.น้ำคาวปลา
น้ำคาวปลา เป็นของเหลวในช่องคลอดที่ถูกขับออกมา ซึ่งในช่วงวันแรกๆ จะมีสีแดงเข้ม หลังนั้นสีจะจางลงเรื่อยๆ และหมดไปภายใน 2-4 สัปดาห์
3.การฟื้นตัวตัวของมดลูก
หลังคลอดคุณแม่ควรได้นอนพักผ่อนมากๆ เพื่อให้มดลูกได้พักฟื้นและหดตัวกลับสู่สภาพปกติ
4.การดูแลเต้านม
หลังคลอด 1-2 วันอาจจะมีอาการคัดตึงเต้านมมาก ให้คุณแม่ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ แล้วหากปวดเต้านมให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นมาประคบบริเวณเต้านม และใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดทำความสะอาดบริเวณหัวนม ก่อนให้ลูกดูด
5.การรับประทานอาหาร
อาหารหลังคลอดที่ทางโรงพยาบาลจัดมาให้คุณแม่ควรกินทันที เพื่อจะได้มีพละกำลังในการฟื้นฟูร่างกายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด
6.การพักผ่อน
การพักผ่อนเป็นการฟื้นฟูร่างกายที่ดีที่สุด หลังคลอดลูกคุณแม่อาจจะมีอาการเหนื่อยอ่อนเพลียจากการเลี้ยงลูก หากมีเวลาว่างควรรีบนอนพักทันที
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หากได้อ่านคู่มือคุณแม่มือใหม่ไว้เป็นแนวทางบ้างแล้ว เวลาเหตุการณ์นั้นมาถึง ก็จะได้มีสติคิดได้ไม่ตื่นเต้นตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะช่วยให้คุณแม่หลายๆ ท่านได้ประโยชน์จากการนำไปปฏิบัติจริง ตามคำแนะนำที่กล่าวมาแล้วนี้
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่