ในนมแม่มีอะไร ร่างกายของคุณแม่ถูกสร้างมาเพื่อผลิตน้ำนมให้เพียงพอกับการเลี้ยงดูของลูกน้อยอยู่แล้วค่ะ คุณแม่ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ จึงไม่ต้องเป็นกังวลเลยในเรื่องนี้ แต่สำหรับคุณแม่บางท่านที่ไม่รู้ว่าในน้ำนมแม่มีสารอาหารสำคัญอะไรบ้าง แล้วดีต่อพัฒนาการของลูกน้อยอย่างไร วันนี้มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
สารอาหารสำคัญในนมแม่ มีอะไรบ้าง
นมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และพัฒนาการต่าง ๆ ของลูกน้อย สารอาหารสำคัญในนมแม่ประกอบไปด้วย
- โปรตีนคุณภาพสูง ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต
โปรตีนในนมแม่นั้น ได้แก่ เคซินชนิดเบต้า ซึ่งจะถูกย่อยเป็นไมเซลล์ที่มีขนาดเล็ก ๆ ช่วยดูดซึมแคลเซียม เหล็ก สังกะสีและทองแดง เข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็ว ดีต่อการเจริญเติบโตของลูกรัก, อัลฟาแลคตาบูมิน เป็นตัวช่วยสำคัญต่อการสร้างสารสื่อประสาทในสมองของเด็ก ช่วยในการพัฒนาสมอง และช่วยป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กได้อีกด้วย, แลคโตเฟอริน โปรตีนที่ยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคบางชนิด เป็นโปรตีนย่อยง่าย ทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร มีคุณสมบัติพิเศษ ในการดักจับธาตุเหล็กในลำไส้ได้ ทำให้แบคทีเรียที่ต้องใช้โมเลกุลของธาตุเหล็กอิสระไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ และช่วยป้องกันการติดเชื้อในเด็กเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ, อิมมูโนโกลบูลิน A เป็นโปรตีนขนาดใหญ่ในระบบภูมิคุ้มกันที่ร่างกายของลูกน้อยต้องการ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสในเด็ก, ไลโซไซม์ เป็นเอนไซม์ที่มีฤทธิ์ทำลายผนังเซลล์ของแบคทีเรียตัวร้าย ลดปัญหาการอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้ และซีรั่มอัลบูมิน เป็นโปรตีนคุณภาพสูงในนมแม่ ย่อยง่าย และร่างกายของทารกสามารถดูดซึมได้เกือบทั้งหมด สามารถนำไปใช้ได้ทันที
- ไขมันดี ช่วยพัฒนาการทางสมองและระบบประสาท
ไขมันในนมแม่ประกอบด้วย ไขมันหลายชนิด ได้แก่ ไตรกลีเซอไรด์ ฟอสโฟไลปิดส์ โคเลสเตอรอล ไดกลีเซอไรด์ โมโนกลีเซอไรด์ กรดไขมันสายยาวชนิดไม่อิ่มตัว (Long chain poly unsaturated fatty acids, LCPUFA) ได้แก่ DHA (Docoshaexaenoic acid) ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์สมอง และกระตุ้นพัฒนาการระบบประสาท และ AA (Arachidonic acid) เป็นกรดไขมันจำเป็นที่สำคัญต่อพัฒนาการระบบประสาทและการมองเห็น ซึ่งไขมันในนมแม่ ส่วนหลัง (Hind milk) อาจมีปริมาณที่มากกว่าน้ำนมแม่ส่วนหน้า (Foremilk) ถึง 3 – 5 เท่า
ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ไขมันในนมแม่ ที่ผลิตในช่วงกลางคืน และช่วงเช้าของวัน จะมีปริมาณไขมันน้อยกว่า น้ำนมที่ผลิตในช่วงกลางวัน หรือช่วงเย็นของวันค่ะ ช่วงเวลาการให้นมลูกจึงเป็นส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดีสมวัย เพราะปริมาณไขมันมีความสัมพันธ์กับอาหารที่คุณแม่รับประทาน โดยเฉพาะไขมันชนิด LCPUFA พบว่าปริมาณ DHA ในน้ำนมขึ้นอยู่กับปริมาณ DHA ที่คุณแม่รับประทานเข้าไปอีกด้วยค่ะ
- น้ำตาล พลังงานสำคัญในการเคลื่อนไหวร่างกาย
น้ำตาลชนิดที่พบในนมแม่ ก็คือ น้ำตาลแลคโตส ซึ่งคุณแม่ที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ สามารถผลิตน้ำนมได้มาก ปริมาณของน้ำตาลแลคโตสก็สูงมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ในนมแม่ยังมีโอลิโกแซคคาไรด์ หรือคาร์โบไฮเดรดสายสั้น (Human milk oligosaccharides: HMOs) ที่มีโมเลกุลของน้ำตาลประมาณ 3 – 32 โมเลกุล HMOs ขอมนุษย์มีมากว่า 200 ชนิด มากว่า โอลิโกแซคคาไรด์ที่พบในนมวัวถึง 5 เท่าเลยทีเดียวค่ะ ซึ่งโอลิโกแซคคาไรด์ที่พบในนมแม่ นั่นคือ พรีไบโอติกส์ที่ช่วยส่งเสริมการเจริญของจุลินทรีย์สุภาพ พร้อมช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่ทำให้ท้องเสีย ลดโอกาสการติดเชื้อในลำไส้ลงได้ ปรับสมดุลให้กับร่างกาย กระตุ้นให้ลูกขับถ่ายได้ดีขึ้น
- วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ
ในนมแม่นั้น อุดมไปด้วย วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตมากมาย วิตามินจำเป็น ได้แก่ วิตามิน A, วิตามิน B1, วิตามิน B2, วิตามิน B6, วิตามิน 12, วิตามิน C, วิตามิน D, วิตามิน E และวิตามิน K ส่วนแร่ธาตุสำคัญได้แก่ เหล็ก, แคลเซียม, และไอโอดีน ถึงแม้ว่าปริมาณสารอาหารสำคัญในนมแม่จะเพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อยก็ตาม แต่ ปริมาณธาตุอาหารหลายชนิดที่อยู่ในนมแม่ อาจมีความแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับการรับประทานอาหาร และสุขภาพร่างกายของคุณแม่ด้วยค่ะ
นอกจากนี้ ในน้ำนมแม่ยังประกอบด้วย สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลายชนิด ซึ่งสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพนั้น คือ สารที่มีผลต่อกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของลูกน้อย สารออกฤทธิ์ชีวภาพที่มีอยู่ในนมแม่ ได้แก่ แอนติออกซิแดนท์, โกรทแฟคเตอร์ ที่เสริมสร้างการทำงานของระบบการทำงานของร่างกาย ได้แก่ ระบบทางเดินลำไส้ เส้นเลือด ระบบประสาท และระบบต่อมไร้ท่อ ฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ควบคุมการเจริญเติบโต และกระบวนการเมแทบอลิซึมของร่างกาย รวมถึงแฟคเตอร์ และเซลล์ที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น แมคโครฟาจก์ T-cells ลิมโฟไซต์ ไซโตคายน์ แอนติบอดีชนิดต่าง ๆ
สารอาหารในนมแม่ ดีต่อพัฒนาการของลูกน้อย
นมแม่ที่ไหลออกมาในระยะแรก จะถูกเรียกว่า “นมน้ำเหลือง” ซึ่งจะมีสีเหลืองนวล นมชุดแรกนี้มีสารอาหารมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และภูมิคุ้มกัน ร่างกายของทารกแรกเกิดจะมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ การที่ได้รับน้ำนมแม่ จะทำให้ภูมิคุ้มกันภายในร่างกายเพิ่มขึ้น สามารถต่อต้านเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ดีขึ้น น้ำนมเหลือง เรียกกันว่า “น้ำนมระยะคอลอสตรัม” ที่มีสารภูมิคุ้มกันในปริมาณสูง ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อในทารกแรกเกิดได้ ซึ่งน้ำนมระยะคอลอสตรัมจะมีปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงสุด และน้ำนมคอลอสตรัมมีสีเหลืองก็เพราะมีปริมาณแคโรทีน (Carotene) มากกว่านมระยะหลังถึง 10 เท่า และยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ทำให้ขี้เทาถูกขับถ่ายสะดวก ช่วยลดปัญหาตัวเหลือง และอาการท้องผูกให้ลูกได้ด้วย คอลอสตรัมเป็นของเหลวที่มีชีวีต เช่นเดียวกับโลหิตที่มีส่วนประกอบมากถึง 60 ชนิด และถูกออกแบบมาเพื่อสนองตอบความต้องการทางโภชนการของลูกน้อย ดังนั้น นมหยดแรกมีคุณค่า คุณแม่ไม่ควรพลาดโอกาสดี ๆ ในการเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค พร้อมกระตุ้นพัฒนาการที่ดีสมวัยให้กับเจ้าตัวน้อยที่คุณรัก
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..