ลิ้นเป็นฝ้าในเด็ก สำหรับคุณแม่ทุกคน ที่พบแม้ความผิดปกติที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ย่อมเกิดความวิตกกังวลในทันทีแล้วใช่ไหมค่ะ เพราะด้วยความเป็นแม่ ต้องการให้ลูกน้อยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่ต้องการเห็นลูกมีอาการเจ็บป่วย หรือไม่สบาย เมื่อคุณแม่พบว่าลิ้นของลูกเกิดเป็นฝ้า สิ่งหนึ่งที่สงสัยอยู่ในใจนั่นก็คือ ฝ้าขาวที่เกิดกับลิ้นของลูกคืออะไร และต้องทำอย่างไรถึงจะดูแลสุขภาพลิ้นของลูกได้ วันนี้เรามีคำตอบดี ๆ มาฝากคุณแม่มือใหม่ค่ะ
ลิ้นเป็นฝ้าในเด็ก
ทำความรู้จักกับ “ฝ้าขาว” ที่บริเวณลิ้น
โดยปกติแล้ว คนเราจะพบเชื้อราในช่องปากของลูกตั้งแต่แรกคลอด จนถึงเด็กวัย 6 เดือนค่ะ เพราะเชื้อราที่พบนั้น จะเกิดขึ้นจากธรรมชาติ และหายได้เอง แต่สำหรับเชื้อราในช่องปากส่วนที่พบ และต้องรีบรักษา นั่นคือ เชื้อราที่เกิดขึ้นเป็นฝ้าขาว จับตัวหนาอยู่ตามลิ้นของลูก และหากพบในปริมาณที่มากเกินไป คุณพ่อ คุณแม่ต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษด้วยนะคะ
การสังเกตอาการแบบง่าย ๆ นั่นคือ
- เชื้อราที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คุณแม่ทำความสะอาดเพียงเล็กน้อย เชื้อราก็จะหายไปเองได้ แต่สำหรับเชื้อราที่เกิดจากการทำความสะอาดไม่ทั่งถึง จะเกิดคราบสะสมเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดจากนมที่ลูกกินเข้าไป ทำให้แบคทีเรียสะสมเป็นฝ้าหนา แม้จะแปลงฟัน แปลงลิ้น แต่ฝ้าก็ยังไม่ลดลง อย่างนี้ต้องรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไปค่ะ
- คุณแม่จะพบว่าฝ้าขาวเกิดขึ้นบริเวณลิ้น กระพุ้งแก้มทั้งสองข้าง และตามเหงือก ลูกน้อยจะมีอาการงอแง กินนมได้น้อย กินอาหารเสริมได้น้อย น้ำหนักตัวลดลง อาการเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะ ลูกเจ็บจากการสะสมของเชื้อราในช่องปากนั่นเอง
เมื่อคุณแม่พบว่าลูกน้อยเป็นฝ้าขึ้นตามลิ้น แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร แนะนำให้คุณแม่ลองปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้ค่ะ
ป้องกันอย่างไร เมื่อลิ้นของลูกน้อยเป็นฝ้าขาว
- ทำความสะอาดช่องปากของลูกอย่างสม่ำเสมอ คุณแม่ต้องหมั่นเช็ดช่องปากของลูก เช้า – เย็น หรือก่อนนอนเป็นประจำทุกวัน
- ให้ลูกน้อยดื่มน้ำต้มสุกหลังกินนม หรือหลังมื้ออาหารทุกครั้ง แล้วใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตามอีกครั้งหนึ่งค่ะ
- คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรดูแลรักษาความสะอาดของหัวนมอยู่เสมอ
- หมั่นรักษาความสะอาดรอบ ๆ บริเวณที่ลูกน้อยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นของเล่น หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่ใกล้มือ ควรฆ่าเชื้อเป็นประจำอย่างน้อย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ก็ถือว่าช่วยป้องกันได้ส่วนหนึ่งแล้วล่ะค่ะ
- ถ้าคุณแม่เริ่มเห็นลิ้นของลูกเป็นฝ้าขาว ควรรีบทำความสะอาดทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้จนหนา เพราะจะทำความสะอาดยากขึ้น
- ถ้าฝ้าที่พบบนลิ้นของลูกหนามากทำความสะอาดบ่อย ๆ แล้วยังไม่หาย แนะนำให้พาไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว
วิธีการรักษาอาการที่ถูกต้อง
- สำหรับทารกที่ลิ้นเป็นฝ้า ที่เกิดจากน้ำนมที่เกาะเป็นคราบ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแต่คราบที่ลิ้นเท่านั้น แต่อาจจะพบว่าเกาะติดอยู่เพดานปากด้วย การรักษาอย่างถูกต้อง คุณแม่ก็เพียงคอยดูแลทำความสะอาด โดยหลังจากกินนมเสร็จทุกครั้ง ต้องให้ลูกดื่มน้ำ และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม
- สำหรับทารกที่ลิ้นเป็นฝ้าที่เกิดจากเชื้อรานั้น เป็นเพราะหลังกินนมเสร็จ คุณแม่ไม่ได้ให้ลูกกินน้ำตาม และไม่ได้เช็ดทำความสะอาดให้ลูก คราบน้ำนมที่ตกค้างจึงกลายเป็นอาหารของเชื้อรา ทำให้เป็นคราบน้ำนมฝังแน่น จนไม่สามารถเช็ดทำความสะอาดได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ให้ยาป้ายลิ้น เพื่อฆ่าเชื้อรา และลดความหนาของฝ้า
สำหรับยาที่นิยมนำมาใช้ป้ายลิ้น มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันค่ะ นั่นก็คือ Gentian Violet และ Daktarin Oral Gel ซึ่งมีวิธีใช้ที่ถูกต้องดังนี้ค่ะ
- คุณแม่ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนที่จะป้ายยาให้กับลูก
- ใช้ผ้าก๊อซ หรือผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นพอหมาด ๆ เริ่มโดยการเช็ดเบา ๆ ให้ทั่วทั้งปากตั้งแต่โคนลิ้นไปจนถึงปลายลิ้น ทั้งด้านบนและด้านล่างด้วย
- ใช้สำลีพันปลายไม้ หรือใช้คอตตอนบัดชุบน้ำยาพอประมาณ ป้ายให้ทั่วจากโคนลิ้นไปจนถึงปลายลิ้น โดยป้ายวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น จนกว่าคราบจะหายไปค่ะ
ลิ้นเป็นฝ้าในเด็ก รุนแรงหรือไม่
สำหรับอาการลิ้นเป็นฝ้าในเด็ก ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่หากคุณแม่ไม่ดูแลลูกน้อยอย่างถูกต้อง อาจจะทำให้พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกช้าลงได้ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านการเจริญเติบโตของร่างกาย เพราะลูกน้อยไม่สามารถทานอาหารได้เนื่อจากเป็นผลมาจากอาการเจ็บบริเวณลิ้นนั่นเอง สำหรับพัฒนาการด้านอื่นๆ ก็เช่นกัน เมื่อลูกน้อยมีอาการเจ็บจะทำให้อารมณ์ไม่ดี ไม่มีความสุข หงุดหงิดง่าย ไม่สนใจที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว เพื่อพัฒนาการที่ดีสมวัย
ข้อควรระวัง : สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ การนำยามาป้ายลิ้นให้ลูกน้อย คุณแม่จะต้องแน่ใจก่อนด้วยนะคะว่า ยาป้ายที่คุณต้องการใช้นั้น เป็นอันตรายต่อลูกหรือไม่ เพราะยาบางชนิดอาจมีสารตะกั่วเจือปนอยู่ก็ได้ ดังนั้น คุณจึงต้องรู้หลัก และวิธีการเลือกซื้อยาป้ายลิ้น ก่อนที่ลูกจะได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย จนเกิดอันตรายร้ายแรงกับตัวเด็กได้ ทั้งนี้ สำหรับคุณแม่มือใหม่ หากไม่แต่ใจในตัวยาควรปรึกษาแพทย์ก่อน น่าจะเป็นการดีที่สุดค่ะ
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..