โรคหัดเป็นโรคที่พบบ่อยมากในเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครบตามที่แพทย์นัด เพราะหากไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเด็กอาจจะป่วยเป็นโรคหัดและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย โรคหัดร้ายแรงกว่าที่คิดเพราะหากเด็กป่วยเป็นโรคหัดอาจจะอันตรายจนถึงขั้นชีวิตได้เลยทีเดียว โดยโรคหัดในเด็ก เกิดจากอะไร และคุณพ่อคุณแม่จะต้องเฝ้าระวังอย่างไรลูกถึงจะไม่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวนี้ เราจะพามารู้จักโรคหัดและวิธีดูและรักษาอย่างละเอียด เพื่อจะได้เตรียมพร้อมรับมือได้อย่างถูกวิธีมากขึ้น
โรคหัดในเด็ก มีสาเหตุจากอะไร
โรคหัด หรือไข้ออกหัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Measles ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่มักจะพบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี หรือเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคหัดเป็นเชื้อที่ติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสของเหลวของผู้ป่วย อย่างเช่น ละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย หรือทานอาหารร่วมกับผู้ที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าว โดยสามารถติดต่อจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โรคหัดจึงเป็นโรคที่ไม่ควรซะล่าใจ ถึงแม้จะไม่อันตรายมากแต่หากเกิดกับเด็กที่มีโรคประจำตัวอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายและนำไปสู่การเสียชีวิตได้
อาการของโรคหัดแบ่งตามระยะ
โรคหัดเป็น โรคในเด็ก ที่มีอาการไม่รุนแรงมาก สำหรับเด็กที่ได้รับเชื้อหัดก็จะมีอาการป่วยเป็นไข้ปวดหัวตัวร้อนมีผื่นขึ้น โดยได้แบ่งระยะของ โรคหัดในเด็ก ออกเป็น 4 ระยะด้วยกันดังนี้
1.ระยะติดเชื้อและฟักตัวของโรค (Infection and incubation)
ระยะแรกที่เด็กติดเชื้อซึ่งอยู่ในระยะฟักตัวของโรค เชื้อจะใช้เวลาฟักตัวอยู่ประมาณ 8 - 10 วัน หลังจากที่ได้รับเชื้อระยะนี้เด็กจะยังไม่มีอาการใดๆ ของโรคออกมาเลย
2.ระยะก่อนออกผื่น(Nonspecific signs and symptoms)
ระยะก่อนออกผื่นจะยังไม่แสดงอาการของโรคออกมาอย่างเด่นชัด โดยเด็กจะมีอาการคล้ายๆ กับป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา ตามมาด้วยมีน้ำมูกไหล ไอแห้งๆ ตาแดง ตาไม่สู้แสง เจ็บคอและมักจะมีจุดสีเทาขาวขอบสีแดงบริเวณกระพุ้งแก้ม ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่าตุ่มค็อปลิค โดย โรคหัดในเด็ก ระยะก่อนผื่นจะออกนี้ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 – 3 วัน
3.ระยะเวลาผื่นออก (Acute illness and rash)
ระยะที่ผื่นออก เด็กจะมีผื่นสีแดงขนาดเล็กออกบริเวณผิวหนัง โดยจะมีลักษณะราบเรียบ หรือเด็กบางคนอาจจะขึ้นติดต่อกันจนเป็นปื้นขนาดใหญ่และจะมีอาการคันร่วมด้วย โดยบริเวณที่ผื่นมักจะขึ้นก็จะเป็นตรงชิดขอบหู ลำคอ ลำตัว แขน ขา และใบหน้า ซึ่งเด็กก็จะมีอาการไข้ตัวร้อนอุณหภูมิร่างกายสูงถึง 40 – 41 องศา จากนั้นผื่นก็จะค่อยๆ จางหายไป ใช้เวลาประมาณ 7 – 10 วัน
4.ระยะติดต่อ (Communicable period)
เด็กที่ป่วยเป็นโรคหัดจะสามารถแพร่กระจายเชื้อติดต่อไปสู่คนอื่นได้เป็นเวลา 8 วัน ซึ่งตั้งแต่ก่อนวันที่ผื่นจะขึ้น 4 วันและหลังจากที่ผื่นขึ้นอีก 4 วันนั่นเอง
วิธีการรักษา
โรคหัดเป็น โรคในเด็ก ที่ถึงแม้จะไม่อันตรายแต่ก็สามารถที่จะติดต่อสู่คนอื่นได้ การรักษาโรคหัดจึงเน้นรักษาตามอาการคือเมื่อเด็กมีไข้ก็ให้ทานยาลดไข้ เช็ดตัวระบายความร้อน หรือหากมีอาการไอเสมหะก็ให้ทานยาแก้ไอลดเสมหะ เนื่องจาก โรคหัดในเด็กเป็นโรคที่ไม่มียารักษาจึงต้องคอยดูแลรักษาตามอาการ ให้เด็กนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ แต่หากพบว่าอาการยังไม่ดีขึ้น คือมีอาการไข้ไม่ลด ไอมาก เสมหะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว หายใจติดขัดหายใจหอบเหนื่อย คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ด่วนเพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
การป้องกันโรคหัด
โรคในเด็ก ส่วนใหญ่ จะสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โรคหัดในเด็ก ก็เช่นกันสามารถป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน เข็มแรกจะสามารถป้องกันโรคหัดได้ประมาณ 90% และเมื่อได้รับเข็มที่สองจะสามารถป้องกันได้สูงถึง 97% เลยทีเดียว
ภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระวัง
เด็กที่ป่วยเป็นโรคหัดเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนโรคอื่นๆ ตามมาฉับพลันได้เช่นกัน โดยในเด็ก 1,000 คนจะพบเด็กที่มีภาวะอาการแทรกซ้อนได้ 1 คน และจะพบอัตราการเสียชีวิตได้ 1 – 2 คนจากภาวะแทรกซ้อนทางเดินหายใจและระบบประสาท เพราะฉะนั้น โรคหัดในเด็ก คุณแม่จึงไม่ควรซะล่าใจ โดยโรคภาวะแทรกซ้อนที่พบในเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัดก็จะมีโรคดังนี้
1. หูติดเชื้อ ซึ่งเป็นอาการภาวะแทรกซ้อนที่พบในเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัด พบได้บ่อยคือหูติดเชื้อแบคทีเรีย
2. โรคหลอดลมอักเสบ หรือกล่องเสียงอักเสบ
3. โรคลำไส้อักเสบ ทำให้เด็กที่ป่วยเป็นโรคหัดเกิดอาการท้องเสียหรือปวดท้อง
4. ปอดบวมปอดอักเสบ จะพบได้บ่อยกับเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และอาจจะรุนแรงจนถึงขั้นเด็กเสียชีวิตได้
5. อาการแทรกซ้อนอย่างรุนแรงอีกโรคก็คือ สมองอักเสบ มักจะพบภาวะสมองอักเสบหลังจากผื่นขึ้นประมาณ 3 – 5 วันทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้
ถึงแม้ว่า โรคหัดในเด็ก จะเป็นโรคที่ไม่รุนแรงแต่หากเกิดกับเด็กที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำหรือมีโรคประจำตัวเด็กก็จะมีอาการของโรคที่รุนแรงและเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนโรคอื่นๆ ตามมาได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สามารถป้องกันลูกน้อยได้ดีที่สุดก็คือวัคซีน คุณแม่ควรพาลูกไปรับวัคซีนตามที่หมอนัดอย่าละเลยเป็นอันขาด เพื่อป้องกันและห่างไกลจากโรคหัดนั่นเอง
= = = = = = = = = = =