เกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)  เป็นภาวะที่เกล็ดเลือดมีจำนวนน้อยกว่า 150,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร ส่งผลทำให้ร่างกายมีจุดแดงใต้ผิวหนัง มีรอยช้ำ เป็นจ้ำได้ง่ายเมื่อได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เพราะเกล็ดเลือดของคนเรานั้นมีหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดหยุดไหลได้เมื่อเกิดบาดแผล หากร่างกายมีการฉีกขาด หรือมีแผล เยื่อบุผิวหลอดเลือดจะมีการหลั่งสารบางอย่าง เพื่อกระตุ้นเกล็ดเลือดจำนวนมากให้มารวมตัวกันเกาะกลุ่มกัน บริเวณที่ฉีกขาด เพื่อกระตุ้นการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดหยุดไหลนั่นเอง ภาวะ เกล็ดเลือดต่ำ อันตรายหรือไม่ และจะมีวิธีดูแลตัวเองอย่างไรหากเกิดภาวะดังกล่าวขึ้น เรามาหาคำตอบในบทความนี้กันดีกว่า

เกล็ดเลือดต่ำ เกิดจากอะไร อันตรายไหม

ภาวะ เกล็ดเลือดตำ เกิดจาก 3 สาเหตุหลักได้แก่ การที่เกล็ดเลือดถูกทำลายมากกว่าปกติเช่น ภาวะที่ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ต่อเกล็ดเลือด ทำให้เกล็ดเลือดโดนทำลายมากขึ้น เกิดจากไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดได้น้อยลง ส่งผลทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ รวมทั้งเกิดจากคนไข้มีภาวะโรคตับ ทำให้ม้ามโต เกล็ดเลือดส่วนหนึ่งจึงเข้าไปสู่ม้าม เมื่อเจาะเลือดจะพบว่าเกล็ดเลือดต่ำได้ โรคเกล็ดเลือดต่ำเป็นภาวะอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม หากพบว่าร่างกายมีรอยช้ำ มักจะมีจุดแดงใต้ผิวหนัง รวมถึงมีเลือดออกมาก ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

อาการเกล็ดเลือดต่ำเป็นอย่างไร

สำหรับผู้ที่มีภาวะ เกล็ดเลือดต่ำ บางรายอาจจะไม่แสดงอาการจนกระทั่งมีการเจาะเลือด แต่บางรายอาจจะมีเลือดออก ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย และจำนวนเม็ดเลือดว่ามากหรือน้อยเพียงใด หากมีอาการที่รุนแรงอาจทำให้เลือดไหลไม่หยุด รวมถึงมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยดังนี้

  • มีรอยช้ำสีแดง สีม่วง หรือสีน้ำตาล กระจายใต้ผิวหนัง
  • ร่างกายจะเกิด รอยช้ำสีม่วง ได้ง่ายเมื่อเกิดกระแทกเล็กน้อย หรือได้รับอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง
  • มีเลือดออกที่จมูก และตามเหงือก
  • เลือดออกจำนวนมาก หลังเกิดบาดแผล ถึงแม้จะเป็นบาดแผลขนาดเล็ก
  • ประจำเดือนมามากผิดปกติ
  • หาก เกล็ดเลือดต่ำ มากอาจจะมีภาวะเลือดออกภายใน ทำให้ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีสีเข้ม

วิธีการรักษาเมื่อมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

หากมีภาวะ โรคเกล็ดเลือดต่ำ แพทย์จะทำการรักษา เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และพิการที่อาจเกิดขึ้น โดยวิธีรักษา อาการเกล็ดเลือดต่ำจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ และความรุนแรงของอาการ ในผู้ป่วยแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน

1.การรักษาในผู้ป่วยที่ไม่รุนแรง

การรักษาผู้ป่วยที่ เกล็ดเลือดต่ำ ไม่มาก หากพบว่ามีอาการเลือดไหลไม่มาก อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา ในผู้ป่วยที่เกล็ดเลือดต่ำที่มีสาเหตุมาจากการใช้ยา แพทย์จะทำการรักษาโดยการเปลี่ยนยา หรือให้หยุดยาที่เป็นสาเหตุ หรือให้ยากับผู้ป่วยเพื่อยับยั้งภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยเกล็ดเลือดต่ำที่มีสาเหตุมาจากปัญหาระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย

2.การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก

ในผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดต่ำที่รุนแรงมาก แพทย์จะมีแนวทางการรักษา ด้วยการใช้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ที่มีทั้งรูปแบบฉีด และรับประทาน เพื่อชะลอการทำลายเกล็ดเลือดเช่น เพรดนิโซน (Prednisone) อิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulins) หรือ ริทูซิแมบ (Rituximab) เป็นยาชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด เพื่อยับยั้งระบบภูมิคุ้มกัน

3.การรักษาโดยการให้เลือด

ในผู้ป่วยที่มีเลือดออกอย่างรุนแรง แพทย์จะรักษา โดยการให้เลือด หรือเกล็ดเลือด กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเลือดออกมาก

4.การรักษาผ่าตัดม้าม

หากแพทย์รักษาโดยการใช้ยาไม่เป็นผล มักจะรักษาโดยการผ่าตัดม้ามให้ผู้ป่วยที่สูงอายุ ที่มีภาวะ Immune Thrombocytopenia: ITPในผู้ป่วยที่ผ่าตัดม้ามออกแล้ว ร่างกายจะติดเชื้อได้ง่าย หากมีอาการไข้ หรือพบอาการอื่นๆ ของการติดเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที รวมถึงอาจต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อในผู้ป่วย

Sponsored

การดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี

สำหรับผู้ป่วย โรคเกล็ดเลือดต่ำ การดูแลตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ปลอดภัย ลดความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต การดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีสามารถทำได้ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอาการฟกช้ำ หรือกระทบกระเทือนทำให้เกิดแผล เช่นกิจกรรมโลดโผน
  2. หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่อาจทำให้ติดเชื้อ เพราะอาจจะกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้ เกล็ดเลือดต่ำ ลงไปอีก
  3. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง และการทานยารักษาโรคอื่นๆ ภายใต้การดูแลตามแพทย์สั่งเท่านั้น
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะไปชะลอการสร้างเกล็ดเลือด
  5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีเช่น สารกำจัดศัตรูพืช สารหนู หรือเบนซีน (Benzene) เพราะจะเข้าไปชะลอการผลิตเกล็ดเลือดในร่างกาย
  6. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ส่งผลต่อจำนวนและการทำงานของเกล็ดเลือด อาจทำให้เกิดเลือดออก หรือทำให้เลือดจางลงได้ เช่น แอสไพริน (Aspirin) หรือไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)
  7. ปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งที่จะเข้ารับการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ เช่น วัคซีนป้องกันโรคคางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส เป็นต้น

ภาวะ เกล็ดเลือดต่ำ เป็นภาวะที่อันตราย ไม่ควรมองข้าม หากมีอาการ รอยช้ำ เป็นจ้ำ หรือจุดแดงใต้ผิวหนัง รวมถึงมีเลือดออกมากผิดปกติ หยุดไหลยาก ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย เพราะนี่อาจจะเป็นอาการของภาวะเกล็ดเลือดต่ำก็ได้ หากรู้ไวก็สามารถรักษาได้อย่างถูกต้อง ลดความเสี่ยงที่อาจถึงต่อชีวิตได้

= = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่www.konthong.com
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

youtube:KonThong Channel คนท้อง
IG :Team_konthong
Tiktok :Teamkonthonth

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.ท้องโตเหมือนคนท้อง แต่ไม่ท้อง เช็คสิ! คุณอาจกำลังป่วยอยู่หรือเปล่า

2.ระวัง! โรคเชื้อราแมว ติดต่อมาสู่คนได้ เช็คสิคุณกำลังเป็นโรคนี้หรือเปล่า