การดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยถือเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พึงปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทารกที่ลูกน้อยยังไม่สามารถบอกความต้องการของตนเองได้ รวมถึงพัฒนาการต่าง ๆ ของลูกน้อยก็ยังไม่สมบูรณ์ ทั้งระบบภูมิคุ้มกันที่ยังไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ หรือ การพัฒนาการของร่างกายก็ยังไม่สมบูรณ์ อาทิเช่น ในส่วนของผิวหนังของทารกก็จะมีความบางกว่าของผู้ใหญ่ หรือ ยังคงมีขนอ่อนซึ่งเป็นเส้นขนที่มีเฉพาะในครรภ์มารดาติดตัวออกมาบ้าง ในส่วนนี้คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตเห็นโรคขนแปรง หรือ ขนพิษ หรือ ตุ่มขนบนผิวหนังของลูกน้อย ซึ่งก็ทำให้เกิดความกังวลได้ว่าจะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยหรือไม่ และหากเป็นแล้วมีวิธีรักษาอย่างไร ซึ่งเราก็ขอมาร่วมไขข้อสงสัยเหล่านี้ให้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านในบทความนี้กัน
โรคขนแปรง คืออะไร
โรคขนแปรง คือ โรคขนคุด (Keratosis pilaris) หรือ Eruptive Villus Hair Cyst จัดเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งอายุ 2 ขวบ โดยโรคขนแปรงเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากกรรมพันธุ์ในส่วนของเซลล์สร้างผิวหนัง ซึ่งปกติแล้วเซลล์สร้างผิวหนังนี้จะมีการสร้างเคราตินซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเส้นขนและมีการสร้างที่สมดุลและพอดี แต่หากเป็นโรคขนแปรงทารกเซลล์สร้างผิวหนังจะสร้างเคราตินออกมามากเกินสมดุล แล้วเคราตินที่เป็นองค์ประกอบของเส้นขนเหล่านี้เกิดการทับถมและอุดตันในร่องขุมขน ทำให้เส้นขนไม่สามารถแทงทะลุหรืองอกออกมาจากร่องขุมขนได้ จนเกิดเป็นลักษณะของขนคุดที่อยู่ภายใต้ผิวหนังของลูกน้อยขึ้น โดยปกติโรคขนแปรงมักเกิดขึ้นบริเวณแผ่นหลัง ต้นแขน และ ต้นขาของลูกน้อย ซึ่งโรคขนแปรงเป็นโรคที่เกิดกับลูกน้อยได้โดยทั่วไป บางรายสามารถหายเองได้เมื่อโตขึ้น จึงนับว่าโรคดังกล่าวเป็นโรคผิวหนังที่ไม่รุนแรง และไม่เป็นโรคติดต่อ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ต้องเป็นกังวลหากเกิดโรคขนแปรงนี้ขึ้นกับลูกน้อยของตน
อาการของโรคขนแปรง
อาการโรคขนแปรงที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ก็คือ ตามบริเวณผิวของลูกน้อยโดยเฉพาะบริเวณที่กล่าวไปก่อนหน้าอย่างบริเวณแผ่นหลัง ต้นแขน และ ต้นขามีลักษณะของเส้นขนสีดำที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง และไม่มีท่าทีว่าจะแทงทะลุออกมาจากผิวหนัง แต่เดิมมักมีความเข้าใจผิดว่าลักษณะอาการดังกล่าวนี้คือขนพิษ ที่เมื่อเกิดขึ้นบนผิวหนังของลูกน้อยแล้วทำให้ลูกน้อยเกิดความไม่สบายตัว เกิดการเสียดสีภายใน แล้วทำให้เกิดการกระตุกเมื่อลูกน้อยนอนหลับอยู่ได้ ซึ่งความเชื่อดังกล่าวล้วนเป็นความเชื่อที่ผิดทั้งสิ้น เพราะโรคขนแปรงทารกนี้ไม่ทำให้ลูกน้อยเกิดความรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวแต่อย่างใด ส่วนอาการกระตุกของลูกน้อยที่เกิดขึ้นขณะลูกน้อยหลับก็ล้วนเกิดจากความไวของประสาทสัมผัสของลูกน้อยนั่นเอง
วิธีการดูแลรักษาเมื่อลูกเป็นโรคนี้
โรคขนแปรงเป็นโรคที่เมื่อเกิดขึ้นกับลูกน้อยแล้วสามารถหายได้เอง เมื่อลูกน้อยโตขึ้น อย่างไรก็ดีเมื่อลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่เกิดโรคดังกล่าวขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลรักษาลูกน้อยได้ดังนี้
1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ซึ่งจะช่วยในการผลัดเซลล์ผิวหนังของลูกน้อยได้อย่างอ่อนโยน และเป็นการช่วยลดอาการขนคุดที่เกิดขึ้น
2. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเซราไมด์ โดยเฉพาะเซราไมด์ 3 ซึ่งเป็นเซราไมด์ที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญและเป็นเซราไมด์ชนิดที่มีมากที่สุดของผิว โดยเซราไมด์ 3 นี้จะช่วยเสริมเกราะปกป้องผิวหนัง และช่วยสร้างสมดุลการสร้างเซลล์ผิวหนัง รวมถึงเคราตินของลูกน้อยได้
3. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารให้ความชุ่มชื้น ซึ่งในปัจจุบันก็มีให้เลือกอย่างหลากหลายทั้งยูเรีย กลีเซอรีน บิวทิวลีนไกลคอล พอพพิวลีนไกลคอล ที่จะช่วยให้ผิวหนังของลูกน้อยเกิดความสมดุลของความชุ่มชื้น
4. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารช่วยปลอบประโลมและลดการระคายเคืองในผิว อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของอาลานโทอิน สารสกัดจากดอกคาโมมาย หรือ น้ำมันในกลุ่มน้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น
5. งดเว้นการขัดผิวของลูกน้อย จากความเชื่อเดิม ๆ ที่เชื่อว่าเมื่อขัดผิวแล้วจะช่วยเปิดร่องขุมขนแล้วทำให้ขนคุดงอกออกมาได้ แต่ในความเป็นจริงวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่าการขัดผิวลูกน้อยไม่เพียงแต่ไม่ช่วยให้ขนคุดงอกออกมา การขัดผิวลูกน้อยยังกลายเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผิวหนังของลูกน้อยอักเสบได้อีกด้วย
เราจะพบความกังวลของคุณพ่อคุณแม่ทั้งมือใหม่ และคุณพ่อคุณแม่ที่เคยมีลูกมาแล้ว เมื่อโรคใดเกิดขึ้นกับลูกของตนก็จะเกิดความกังวลขึ้นมากเป็นเท่าตัว เมื่อเกิดโรคใด ๆ ขึ้นกับลูกน้อยสิ่งแรกเลยที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำหรือควรมีก็คือสติ จากนั้นก็พิจารณาหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้สามารถดูแลรักษา หรือ ป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อยได้อย่างถูกวิธี รวมถึงโรคขนแปรงซึ่งเป็นโรคที่ไม่น่ากังวลและมีวิธีป้องกันรักษาได้ตามบทความที่กล่าวไปข้างต้น
= = = = = = = = = = = =