ในระหว่างการตั้งครรภ์ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายในร่างกายของคุณแม่มากมาย ดังนั้นการตรวจช่องคลอดหลังคลอดลูก จะช่วยให้แพทย์ได้ประเมินสุขภาพของคุณแม่ได้ ซึ่งจะมีขั้นตอนการตรวจอย่างไร และคุณแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากกันค่ะ
ตรวจช่องคลอด หลังคลอดลูก มีขั้นตอนอย่างไร
หลังการคลอดลูก 4-6 สัปดาห์ แพทย์จะนัดตรวจช่องคลอด โดยการตรวจนั้น จะประกอบไปด้วยการตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจภายใน เพื่อแพทย์จะได้ดูว่าร่างกายของคุณแม่กลับคืนสู่ภาวะปกติเหมือนช่วงก่อนตั้งครรภ์หรือยัง อีกทั้งถ้าคุณแม่มีอาการแทรกซ้อนในขณะคลอด หรือหลังคลอด จะได้ติดตามอาการว่าหายดีแล้วหรือไม่ นอกจากนี้แพทย์ยังจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการคุมกำเนิด เพื่อป้องกันไม่ให้ตั้งครรภ์ในครั้งถัดไปเร็วเกินไป แต่ในกรณีที่คุณแม่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นก่อนวันนัด ก็สามารถมาพบแพทย์ได้ทันที
หมอจะตรวจอะไรบ้าง
ก่อนที่จะตรวจร่างกาย แพทย์จะสอบถามถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังคลอด หรือขณะที่พักฟื้นที่บ้าน รวมทั้งสุขภาพของเด็ก และปัญหาต่างๆ ในการเลี้ยงดูลูกน้อย หลังจากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายคุณแม่ ดังต่อไปนี้
1.ชั่งน้ำหนัก
อย่างแรกเลย แพทย์จะให้คุณแม่ชั่งน้ำหนัก เพื่อเปรียบเทียบกับน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ โดยปกติแล้ว หลังคลอด 6 สัปดาห์ คุณแม่ควรมีน้ำหนักลดลงประมาณ 8-12 กิโลกรัม หรือมีน้ำหนักมากกว่าก่อนตั้งครรภ์ 2-3 กิโลกรัม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของคุณแม่ในช่วงก่อนตั้งครรภ์ด้วยว่ามากน้อยเพียงใด และถ้าน้ำหนักคุณแม่ไม่ค่อยลด แพทย์ก็จะแนะนำให้คุณแม่ควบคุมอาหารและเริ่มออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย
2.วัดความดันโลหิต
ความดันโลหิตที่เรียกว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติคือ 80/120มิลลิเมตรปรอท ดังนั้นคุณแม่บางคนที่มีความดันโลหิตขึ้นสูงในขณะตั้งครรภ์ หรือในระหว่างคลอด จำเป็นต้องมาติดตามอาการ และปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาในกรณีที่ความดันโลหิตยังไม่ลดลง
3.ตรวจเต้านม
แพทย์จะตรวจเต้านมคุณแม่ เพื่อดูว่ามีก้อนน้ำเหลืองหรือไม่ รวมทั้งตรวจมะเร็งเต้านม และถ้าคุณแม่มีปัญหาหัวนมบอด หัวนมแตก เต้านมอักเสบจากการให้นมลูก แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลเต้านม และวิธีการให้นมลูกอย่างถูกต้อง เพื่อให้ลูกน้อยมีนมแม่กินอย่างเพียงพอ
4.ตรวจหน้าท้อง
การตรวจหน้าท้องโดยทั่วไปนั้น ก็เพื่อตรวจดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง และผนังหน้าท้อง ดังนั้นถ้าคุณแม่คนไหนไม่ค่อยได้ออกกำลังกายหลังคลอด ผนังหน้าท้องก็จะไม่กระชับ และดูหย่อนยาน ซึ่งการตรวจหน้าท้องนั้น แพทย์ยังจะได้ดูด้วยว่าแผลผ่าตัดคลอดที่หน้านท้องนั้น หายสนิทดีแล้วหรือยัง
5.ตรวจภายใน
การตรวจภายใน เพื่อให้แพทย์ดูว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นภายในหรือไม่ เช่นแผลฝีเย็บอักเสบ หรือมีตกขาวออกมากเกินไป ปากมดลูกปิดไหม ขนาดของมดลูกหดลงมีขนาดใกล้เคียงเท่ากับช่วงก่อนการตั้งครรภ์หรือยัง รวมทั้งแพทย์จะทำการตรวจมะเร็งปากมดลูกให้อีกด้วย
6.ตรวจสภาพจิตใจ
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงคลอด ส่งผลต่อสภาพจิตใจของคุณแม่ด้วย อาจทำให้คุณแม่รู้สึกหดหู่ กังวล เครียด ไม่มั่นใจในการเลี้ยงดูลูกน้อย และอาจทำให้คุณแม่เป็นโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด ดังนั้นการมาพบแพทย์หลังคลอด แพทย์จะสอบถามถึงปัญหาที่คุณแม่ต้องเผชิญในช่วงนี้ เพื่อช่วยกันหาหนทางแก้ไข
เตรียมตัวอย่างไรก่อนไปตรวจ
ก่อนที่คุณแม่จะไปตรวจช่องคลอด หลังคลอดลูก จำเป็นต้องเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อม ดังต่อไปนี้
1.ห้ามมีเพศสัมพันธ์
ก่อนไปตรวจช่องคลอดนั้น จะมีข้อห้ามว่าไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนไปตรวจอย่างน้อย 3วัน ซึ่งในช่วง1-1เดือนครึ่งหลังคลอด แพทย์จะไม่แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์อยู่แล้ว เนื่องด้วยอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในช่องคลอดได้ง่าย นอกจากนี้แผลฝีเย็บอาจฉีกขาดได้
2.ถ่ายปัสสาวะออก
ก่อนให้แพทย์ตรวจช่องคลอด จำเป็นที่คุณแม่ต้องถ่ายปัสสาวะออกก่อน เพื่อให้แพทย์สามารถคลำขนาดของมดลูกและปีกมดลูกได้อย่างชัดเจน
3.ถอดกางเกงใน
เมื่อแพทย์จะทำตรวจช่องคลอด คุณแม่ต้องถอดกางเกงชั้นในออกก่อน โดยแต่ละโรงพยาบาลก็จะมีชุดให้เปลี่ยน ซึ่งเป็นชุดสำหรับการตรวจโดยเฉพาะ เพื่อให้แพทย์สะดวกในการทำงาน
4.การตรวจมะเร็งปากมดลูก
การตรวจเพื่อหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกนั้น จะทำได้ในกรณีที่ไม่มีน้ำคาวปลา หรือมีประจำเดือนอยู่ ถ้าคุณแม่มาตรวจหลังคลอด แล้ว คุณแม่ยังไม่หมดน้ำคาวปลา หรือยังมีเลือดไหลอยู่ แพทย์ก็จะไม่สามารถตรวจหาเซล์มะเร็งให้ได้ แต่เป็นเพียงการตรวจภายในเท่านั้น
5.การคุมกำเนิด
คุณแม่ต้องจำเป็นต้องเตรียมคำตอบ สำหรับคำถามเรื่องวิธีการคุมกำเนิดมาด้วย ซึ่งวิธีการคุมกำเนิดมีทั้งแบบยาเม็ดสำหรับคุณแม่ที่ให้นม ยาคุมกำเนิดแบบฉีด ยาฝังคุมกำเนิดหรือการใส่ห่วงคุมกำเนิด โดยคุณแม่สามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมที่สุด
6.พาลูกไปด้วย
คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ด้วย เพื่อให้แพทย์ตรวจดูอาการผิดปกติต่างๆ เช่นอาการตัวเหลือง สะดืออักเสบ รวมทั้งดูว่าลูกได้รับนมแม่ในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวันหรือไม่
คุณแม่ควรให้ความสำคัญการกับตรวจช่องคลอด เพราะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณแม่เอง ทั้งติดตามอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ หรือหลังคลอด รวมทั้งยังดีต่อสุขภาพของลูกน้อย ในการเฝ้าติดตามการให้นมอย่างเพียงพอ นอกจากนี้การตรวจยังช่วยให้คุณแม่มีที่ปรึกษา ช่วยหาทางออกที่ดีได้อีกด้วย
= = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่