มดลูกนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของทารกในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ และขนาดมดลูกที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละเดือน ยังช่วยบอกขนาดของทารกในครรภ์อีกด้วย ทั้งนี้คุณแม่หลายคนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ มดลูกลอยตัว มาบ้าง แต่สงสัยใช่ไหมว่าคืออะไรและอันตรายหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันแล้ว

มดลูกลอยตัว คืออะไร? อันตรายหรือไม่

มดลูกลอยตัว คือ ลักษณะของมดลูกที่ใหญ่ขึ้น ตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น โดยในช่วงไตรมาสแรกนั้น มดลูกยังมีขนาดเล็ก และอยู่ภายในอุ้งเชิงกราน ซึ่งแพทย์จะใช้การตรวจภายในแทนการคลำหาทางหน้าท้อง เพื่อประมาณขนาดของมดลูก จนเมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป มดลูกจะลอยตัวขึ้นพ้นอุ้งเชิงกราน และโตขึ้น จนสามารถคลำยอดมดลูกได้ โดยขนาดของมดลูกที่เล็กกว่าอายุครรภ์นั้น มีสาเหตุมาจากการจำวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายผิด หรืออาจเกิดจากภาวะไข่ตกช้า ทารกหยุดเติบโต และตั้งครรภ์นอกมดลูก ส่วนกรณีที่ขนาดของมดลูกโตกว่าอายุครรภ์นั้น อาจมีสาเหตุมาจาก ตั้งครรภ์แฝด มีเนื้องอกที่มดลูก หรือมดลูกผิดปกติ เป็นต้น

การที่มองว่า มดลูกลอยตัว เป็นเรื่องปกติหรือไม่ แพทย์ได้ให้คำตอบไว้ว่า มดลูกในขณะตั้งครรภ์นั้น จะลอยขึ้นพ้นกระดูกหัวหน่าว นับเป็นภาวะปกติ แต่ในขณะเดียวกัน มดลูกที่ลอยนั้น อาจส่งผลให้เกิดอันตรายได้ ถ้าสาเหตุที่ทำให้มดลูกลอยมาจากความผิดปกติ เช่น ทารกหยุดเติบโต ตั้งครรภ์นอกมดลูก มีเนื้องอก เป็นต้น อีกทั้งเมื่อหลังคลอดแล้ว มดลูกลอยตัว มดลูกยังไม่หดตัวเล็กลงสู่ขนาดปกติในเวลาอันควร ก็ถือเป็นความผิดปกติ ดังนั้นการไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันอันตรายที่อาจตามมาได้

ขนาดมดลูก บอกอายุครรภ์อย่างไร

การจะรู้ว่ามีอายุครรภ์เท่าไหร่แล้วนั้น นอกจากการจะต้องจำวันที่ประจำเดือนมาครั้งล่าสุดให้ได้แล้ว ยังมีวิธีรู้อายุครรภ์ด้วยวิธีอื่นๆ อีก เช่นการฟังเสียงหัวใจของทารกในครรภ์ การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ รวมทั้งการวัดขนาดความสูงของยอดมดลูก ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถคำนวณอายุครรภ์ของคุณแม่ได้เช่นกัน

โดยเมื่อครรภ์ของคุณแม่ใหญ่ขึ้น ก็หมายถึงขนาดมดลูกที่โตขึ้นด้วย ซึ่งนั่นเป็นเพราะว่ามดลูกขยายเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โดยสูติแพทย์จะวัดความสูงจากยอดของมดลูก เพื่อนำมาประเมินขนาดของทารก โดยความสูงของยอดมดลูกนั้น จะบ่งบอกถึงอายุครรภ์ที่แตกต่างกันไปดังนี้

·      ยอดมดลูกประมาณ  1/3 เหนือกระดูกหัวหน่าว สัมพันธ์กับ อายุครรภ์ที่ 12 สัปดาห์

·      ยอดมดลูกสูงประมาณ  2/3 เหนือกระดูกหัวหน่าว สัมพันธ์กับ อายุครรภ์ที่ 16 สัปดาห์

·      ยอดมดลูกอยู่ระดับสะดือ สัมพันธ์กับ อายุครรภ์ที่ 20 สัปดาห์

·      ยอดมดลูกสูงกว่าระดับสะดือเล็กน้อย สัมพันธ์กับ อายุครรภ์ที่ 24 สัปดาห์

·      ยอดมดลูกอยู่ 1/4 เหนือระดับสะดือ สัมพันธ์กับ อายุครรภ์ที่ 28 สัปดาห์

·      ยอดมดลูกอยู่ 2/4 เหนือระดับสะดือ สัมพันธ์กับอายุครร์ที่ 32 สัปดาห์

Sponsored

·      ยอดมดลูกอยู่ 3/4 เหนือระดับสะดือ สัมพันธ์กับอายุครรภ์ที่ 36 สัปดาห์

การวัดความสูงของยอดมดลูก ซึ่งทำให้รู้ถึงอายุครรภ์ของคุณแม่แล้ว ยังทำให้แพทย์สามารถประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ได้อีกด้วย ซึ่งถ้าพบว่าระดับของยอดมดลูกอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ อาจเป็นเครื่องชี้ว่า ทารกมีภาวะการเจริญเติบโตในครรภ์ช้า ซึ่งทารกที่เติบโตช้า มักมีน้ำหนักและขนาดตัวน้อยกว่าทารกที่เจริญเติบโตปกติ ดังนั้นการฝากครรภ์จะช่วยให้แพทย์ได้ติดตามพัฒนาการของทารกได้อย่างใกล้ชิด

ทำไมหลังคลอด มดลูกยังลอยตัวอยู่

ในขณะที่ตั้งครรภ์ ถ้าคุณแม่สงสัยปัญหาการลอยตัวของมดลูก ว่าผิดปกติไหม ควรปรึกษาแพทย์ โดยถ้าแพทย์ระบุว่ามดลูกลอยตัวในขณะที่ตั้งครรภ์ของคุณแม่เป็นภาวะปกติ ก็คงไม่มีอะไรน่าหนักใจ แต่หลังคลอดลูกแล้ว แพทย์จะนัดตรวจภายในอีกครั้ง เพื่อดูว่ามดลูกนั้นเข้าอู่หรือยัง ซึ่งอาการที่บ่งบอกว่า มดลูกยังลอยอยู่ ได้แก่ การผายลมทางช่องคลอด เมื่อก้าวเดินจะรู้สึกเสียวที่ช่องคลอด ปวดต้นคอ ปวดร้าวลงมาที่ท้องน้อย ไม่ทนร้อนทนหนาว ใจหวิว ใจสั่น และ อ่อนเพลียง่าย เป็นต้น

ส่วนสาเหตุที่ทำให้มดลูกลอยตัว อยู่นั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น หลังคลอดบุตรแล้วไม่ได้อยู่ไฟ ทำให้มดลูกไม่เข้าอู่ หรือเข้าอู่ไม่สนิท หรืออาจเกิดจากกระบังลมหย่อนตัว การกลั้นปัสสาวะอุจจาระ หรือท้องผูกเรื้อรัง รวมทั้งอาจเกิดจากอุบัติเหตุก้นกระแทกเหล่านี้ ซึ่งมดลูกเองนั้นเป็นอวัยวะที่ไม่ได้ยึดติดกับสิ่งใด จึงทำให้มดลูกสามารถเคลื่อนที่หรือลอยขึ้นได้ เมื่อเกิดแรงดันขึ้นจากด้านล่างมดลูกนั่นเอง

ดังนั้นเมื่อหลังคลอดแล้วยังพบว่ามีปัญหามดลูกลอยตัว อยู่ ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ และแพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุนั้นๆ นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยอาการไว้นาน เพราะอาจจะส่งผลให้โอกาสในการรักษาให้หายได้ยากขึ้น และถ้าจำเป็นแพทย์อาจใช้วิธีผ่าตัดช่วยในการรักษา

สำหรับคุณแม่ทุกคน ตั้งแต่ที่เริ่มตั้งครรภ์ ต่างก็อยากดูแลและทะนุถนอมลูกในครรภ์เป็นอย่างดี จึงจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่การดูแลมดลูก เพื่อให้มดลูกแข็งแรง รองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้ และตลอดการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรกินอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายเบาๆ ไปพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ จนกระทั่งเมื่อคลอดลูก และหลังคลอดลูก ถ้าพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติ หรือไม่มั่นใจว่ามดลูกของตัวเองเข้าอู่หรือยัง ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ โดยไม่ปล่อยไว้จนเกิดอาการเรื้อรัง

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.ไขข้อข้องใจ การคลอดลูกเอง จะคลอดตรงกำหนดไหม

2.รองผกก. โวยลั่น รพ.ทำหลานแรกคลอดขาหัก หมอออกมายอมรับแล้ว