การเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกาย และฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ ย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจของคุณแม่ จึงทำให้คุณแม่บางคนเกิดอาการเครียด และวิตกกังวล ดังนั้นถ้าคุณแม่รู้เท่าทันอารมณ์ และหาทางรับมือกับอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ คงจะดีมิใช่น้อย แต่คุณแม่ท่านไหน ยังไม่รู้จะจัดการอาการนี้อย่างไร วันนี้เรามีวิธีแก้อาการวิตกกังวล มาฝาก

6 วิธีแก้อาการวิตกกังวลในคนท้อง

เรามีวิธีแก้อาการวิตกกังวลดีๆ มาฝากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่มีอารมณ์ที่ผ่อนคลายขึ้น ดังต่อไปนี้

1.เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้คนใกล้ตัวฟัง

คุณแม่มือใหม่ที่เริ่มตั้งครรภ์ อาจเกิดความกังวลได้หลายเรื่อง เช่น ลูกในครรภ์จะสมบูรณ์ไหม จะได้รับสารอาหารเพียงพอหรือเปล่า หรือแม้กระทั่งว่าจะคลอดลูกด้วยวิธีไหนดี ซึ่งการที่คุณแม่ครุุ่นคิดอยู่คนเดียว อาจยิ่งทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น ดังนั้นลองพูดคุยกับคุณแม่ที่เคยมีประสบการณ์การมีลูกมาก่อน หรือแม้แต่คุณแม่ของคุณเอง ก็จะทำให้รู้สึกดีขึ้น รวมทั้งสามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์ที่ดูแลครรภ์ได้อีกด้วย

2.ระบายความเครียดลงในบันทึกประจำวัน

คุณแม่หลายคนอาจไม่ถนัดที่พูดคุยเรื่องต่างๆ ให้คนอื่นฟัง หรืออาจไม่อยากให้คนในครอบครัวเป็นกังวลมากนัก ก็สามารถที่จะเขียนบรรยายความรู้สึกที่ทำให้วิตกกังวล ลงในสมุดบันทึกส่วนตัวของคุณแม่ได้ ซึ่งรับรองว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความวิตกกังวลได้ดีเช่นกัน

3.ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย

วิธีแก้อาการวิตกกังวล อีกวิธีหนึ่งคือการได้ทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม แม้กระทั่งการนั่งสมาธิ ฝึกลมหายใจเข้าออก การนวดผ่อนคลาย กิจกรรมเหล่านี้ช่วยทำให้ใจของคุณแม่ไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ จึงลดอาการวิตกกังวลในช่วงตั้งครรภ์นี้ได้

4.เข้าคอร์สอบรมเกี่ยวกับการตั้งครรภ์

เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล อาจได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับโปรแกรมการอบรมตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นการให้ความรู้กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ในเรื่องต่างๆ เช่น ความรู้เรื่องอาหารที่มีประโยชน์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ การออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ พัฒนาการของทารกในครรภ์และการดูแล การคลอดลูก การให้นมแม่ เหล่านี้เป็นต้น โดยการอบรมจะช่วยให้คุณแม่ได้เตรียมความพร้อม ทางร่างกายและจิตใจ ทำให้มีความเข้าใจและมั่นใจมากขึ้น จึงช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลของคุณแม่ลงได้

5.ออกกำลังกาย

การออกกำลังกาย เป็นวิธีแก้อาการวิตกกังวลที่ดี โดยขณะที่คุณแม่ออกกำลังกายอยู่นั้น สมาธิก็จะจดจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหว ทำให้สมองลืมเรื่องที่วิตกได้ นอกจากนี้เมื่อเลือดสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะสมอง จะทำให้สมองสดชื่น ปลอดโปร่งขึ้นด้วย รวมทั้งเมื่อร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมา ก็จะยิ่งช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการออกกำลังกายสำหรับคนท้อง ควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีโรคแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์

6.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

ไม่เพียงแต่เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังบ่อยๆ แล้ว คุณแม่ควรมีเวลานอนหลับอย่างเพียงพอ เพราะการพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลต่อสภาวะทางอารมณ์ของคุณแม่ ทำให้เครียดง่ายไม่ร่าเริงเหมือนเคย ดังนั้นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เมื่อง่วงนอน ควรหาเวลางีบหลับบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะพบว่าคนท้องมักต้องการการพักผ่อนมากกว่าคนทั่วไป

วิตกกังวลมากไป ส่งผลเสียกว่าที่คิด

การที่คุณแม่มีอาการวิตกกังวลมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่ตั้งครรภ์นั้น มีแต่ผลร้ายที่จะตามมา เพราะอาจส่งผลทำให้เกิดโรคซึมเศร้า และถ้ายังไม่เข้ารับการรักษา อาจทำให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นสูญเสียชีวิตทั้งแม่และทารกในครรภ์ จึงจำเป็นหาวิธีแก้อาการวิตกกังวลก่อนที่จะสายเกินไป

ผลเสียต่อตัวคุณแม่เอง

ความเครียด และวิตกกังวลที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่มีดังต่อไปนี้

1. แท้ง ความกังวลส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ เมื่อปริมาณออกซิเจนถูกส่งไปยังทารกไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้ทารกเติบโตช้า จนกระทั่งแท้งได้

2. ครรภ์เป็นพิษ เมื่อเกิดความเครียด จนวิตกกังวลขึ้น จะทำให้หลอดเลือดหดเกร็ง เกิดภาวะความดันโลหิตสูง และครรภ์เป็นพิษได้ในที่สุด

Sponsored

3. คลอดก่อนกำหนด เมื่อคุณแม่เครียดกังวล ร่างกายจะหลั่งสารเคมีตัวหนึ่งออกมา ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัว มีผลทำให้เกิดการเจ็บครรภ์และคลอดลูกก่อนกำหนดได้

4. ซึมเศร้าหลังคลอด เมื่อคนท้องเกิดอาการวิตกกังวลบ่อยๆ และไม่หาวิธีแก้อาการวิตกกังวลนี้ให้หมดไป จะทำให้เป็นโรคซึมเศร้าตามมาในภายหลัง

5. ฆ่าตัวตาย คนท้องที่ฆ่าตัวตายหลังคลอด มักมีสาเหตุเบื้องต้นมาจากการวิตกกังวล ที่เป็นมาตลอดการตั้งครรภ์ และท้ายสุดก็จบลงที่การฆ่าตัวตาย

ผลเสียต่อทารกในครรภ์

คนท้องที่มีความเครียด และวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา นอกจากจะมีผลเสียต่อตนเองแล้ว ยังส่งผลต่อทารกในครรภ์ดังนี้

1. ทารกคลอดก่อนกำหนด ตามที่กล่าวมาข้างต้นอาการวิตกกังวลทำให้คุณแม่คลอดทารกก่อนกำหนดได้

2. ทารกมีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อทารกคลอดก่อนกำหนด ย่อมส่งผลให้น้ำหนักของทารกต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานนั่นเอง

3. ระบบร่างกายของทารกปรับตัวได้ช้า ทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทำให้ตัวเล็กกว่าเด็กทั่วไป และย่อมส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกายที่ไม่ปกติอีกด้วย

ในขณะตั้งครรภ์ไม่เพียงแค่การดูแลร่างกายของคุณแม่ให้สมบูรณ์ ยังจำเป็นต้องหมั่นสำรวจจิตใจว่าอยู่ในภาวะปกติหรือไม่ เช่นคุณแม่วิตกกังวลมากเกินไปหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ควรหาวิธีแก้อาการวิตกกังวลที่เกิดขึ้นทันที เพื่อนำไปสู่การเลี้ยงลูกอย่างมีคุณภาพต่อไป

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่ https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about growing up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.แป้งเด็กแรกเกิด เลือกใช้แบบไหนดี อ่อนโยน ปลอดภัยต่อผิวลูก

2.เตรียมของใช้เด็กแรกเกิด กับ Enfant เช็คให้ชัวร์ ต้องเตรียมอะไรบ้าง