คุณแม่หลายท่านที่ไม่สามารถคลอดลูกแบบธรรมชาติได้ แพทย์ก็จะพิจารณาทำการผ่าตัดคลอดให้แทน แต่การผ่าตัดคลอดนั้นก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ทั้งระหว่างการผ่าตัด และหลังการผ่าตัด ดังนั้นคุณแม่ต้องมีความรู้และเข้าใจด้วยว่า เมื่อมีการตั้งท้องในครรภ์ถัดๆ ไปจะสามารถผ่าคลอดได้อีกหรือไม่ วันนี้เราจะมาบอกให้รู้กันค่ะว่า ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง
ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ถึงจะไม่อันตราย
ความแตกต่างกันของคุณแม่แต่ละคน ทำให้ไม่สามารถระบุอย่างแน่ชัดได้ว่า คุณแม่ที่ตั้งครรภ์สามารถผ่าตัดคลอดได้กี่ครั้ง เนื่องจาก เมื่อมีการผ่าคลอดเกิดขึ้นในครั้งแรก และจะมีการผ่าคลอดในท้องถัดไป แพทย์จะเป็นผู้ทบทวนถึงปัจจัยที่จำเป็นในการผ่าคลอดอีกครั้ง ตั้งแต่ประวัติสุขภาพของคุณแม่ ภาวะแทรกซ้อนของคุณแม่และลูก รวมทั้งระยะเวลาที่ใช้ในการพักฟื้นหลังคลอด แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ยิ่งมีการผ่าคลอดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นเท่านั้น เช่น การเกิดพังพืด กระเพาะปัสสาวะทะลุ ทำให้แพทย์แนะนำว่าผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ไม่ควรผ่าตัดคลอดเกิน 3 ครั้ง และควรเว้นระยะการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1-2 ปี เพื่อให้แผลผ่าตัดที่มดลูกนั้นหายดีเสียก่อน ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า การผ่าตัดคลอดทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งแม่และลูก ส่วนจะผ่าคลอดได้กี่ครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายขึ้นนั้น ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์อีกที
การผ่าคลอดหลายครั้ง เสี่ยงอย่างไร
แม้เทคโนโลยีในปัจจุบันจะมีความทันสมัย แต่การผ่าตัดคลอดก็ยังมีผลทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่างๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะกับสุขภาพของคุณแม่หลังคลอด ดังนั้นนอกจากรู้แล้วว่าผ่าคลอดได้กี่ครั้ง มาดูสิว่าการผ่าคลอดทำให้เกิดความเสี่ยงอะไรกันบ้าง
1. ตกเลือด
การผ่าคลอดจะทำให้เลือดออกมากกว่าปกติ และถ้าคุณแม่เคยมีประสบการณ์ตกเลือดในท้องแรกแล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะเป็นซ้ำในท้องต่อไปสูงกว่าคนปกติ ซึ่งการตกเลือดในท้องหลังๆอาจเกิดจากภาวะที่รกฝังตัวลึกเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้มดลูกแตก จนทำให้คุณแม่มีโอกาสเสี่ยงที่จะสูญเสียชีวิต ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
2. พังผืดในช่องท้อง
การผ่าตัดคลอดลูกทำให้เกิดแผลขึ้นที่ผนังหน้าท้องและมดลูก และเมื่อร่างกายซ่อมแซมตัวเอง จึงเกิดพังผืดขึ้น ถ้าคุณแม่คนไหนผ่าคลอดหลายครั้ง พังผืดในช่องท้องก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทำให้การผ่าตัดครั้งต่อไปทำได้ยาก และต้องเสียเลือดมาก อีกทั้งยังส่งผลทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องน้อยได้บ่อยๆ หรืออาจปวดเรื้อรัง รบกวนการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคุณแม่อีกด้วย ดังนั้น ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง จึงไม่ควรเกิน 3 นั่นเอง
3. มดลูกแตก
การผ่าคลอดส่งผลให้มดลูกมีบาดแผล ทำให้โครงสร้างเนื้อเยื่อบริเวณแผลนั้นไม่แข็งแรง ดังนั้นเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ในท้องถัดไป มดลูกต้องขยายตัว เพื่อรองรับน้ำหนักเด็ก3-4กิโลกรัม ซึ่งในช่วงเจ็บท้องคลอดนั้น มดลูกจะเกิดการบีบตัว ทำให้ความดันในมดลูกสูงขึ้น จึงทำให้คุณแม่ที่เคยผ่าคลอดมาแล้วมีความเสี่ยงที่จะเกิดมดลูกแตก และถ้าถึงขั้นร้ายแรง อาจทำให้ทั้งแม่และลูกเสียชีวิตได้
4. รกเกาะลึกที่แผลมดลูก
รกที่เป็นที่อยู่อาศัยของทารกในครรภ์ ซึ่งปกติจะอยู่ด้านบนของมดลูก ทำหน้าที่หลายอย่างเช่น คอยแลกเปลี่ยนสารอาหารและออกซิเจนระหว่างแม่และลูกน้อยในครรภ์ เป็นที่ขับถ่ายของเสีย และปกป้องทารก แต่สำหรับคุณแม่ที่เคยผ่าคลอดมาก่อน อาจส่งผลทำให้รกเกิดไปเกาะอยู่ในตำแหน่งที่เป็นแผล ทำให้เวลาคลอดลูก จะเสียเลือดมาก อีกทั้งถ้ารกไม่สามารถลอกตัวได้ตามปกติ อาจส่งผลทำให้ต้องตัดมดลูกทิ้งกันเลยทีเดียว
5. กระเพาะปัสสาวะและลำไส้บาดเจ็บ
การผ่าตัดบ่อยครั้ง ย่อมทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะไปกระทบกระเทือนกับอวัยวะข้างเคียงอื่นๆ ทั้งกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ เช่น ทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
6. ไส้เลื่อน
อาการไส้เลื่อนไม่ได้เกิดแต่กับผู้ชาย แต่สามารถเกิดกับคุณแม่ที่ผ่าคลอดได้ เนื่องจากการตั้งครรภ์จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องอ่อนแอลง จนเกิดไส้เลื่อนขึ้นมาได้ และถ้าปล่อยไว้นาน จะส่งผลทำให้ลำไส้ทะลักออกมา และเมื่อผนังช่องท้องเกิดการรัดตัวขึ้น จะทำให้ลำไส้ขาดเลือดยิ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเนื้อเยื่อบริเวณนั้นเกิดติดเชื้อและตาย โดยไม่สามารถผ่าตัดออกได้ทัน อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
7. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในแผล
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือภาวะที่เยื่อบุผนังมดลูกเจริญภายนอกมดลูก ซึ่งการผ่าตัดคลอด เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ โดยเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกนี้จะไปเกิดขึ้นบริเวณแผลผ่าตัด และยิ่งผ่าตัดคลอดหลายครั้ง ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยๆเช่นกัน ส่วนอาการของโรค จะทำให้เจ็บปวด ปวดท้องบริเวณที่เป็นได้
8. อาการชาและปวดแผลผ่าคลอด
แผลผ่าคลอดหน้าท้องนั้นต้องอาศัยระยะเวลาในซ่อมแซมเพื่อให้เนื้อเยื่อชั้นต่างๆมีความแข็งแรงอย่างน้อยก็ 3 เดือนขึ้นไป คุณแม่ถึงจะยกของหนักได้ โดยปัญหาที่พบได้บ่อยหลังผ่าคลอด คือคีรอย อาการชา เจ็บและคันที่แผล ดังนั้น เมื่อเกิดแผลผ่าขึ้นใหม่เรื่อยๆ อาจทำให้แผลหนามากขึ้น เกิดการอักเสบ และเสียวบริเวณแผลผ่าตัดมากขึ้นด้วย
ได้รู้กันแล้วว่า ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ซึ่งการผ่าตัดลูกคนที่ 2 ขึ้นไป แพทย์จำเป็นต้องตรวจร่างกายของคุณแม่ละเอียดมากขึ้น ทั้งการตรวจภายในมดลูก ดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังคลอดในท้องก่อนๆ รวมทั้งข้อจำกัดในการผ่าคลอดในครั้งนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาสำหรับการผ่าคลอดต่อไป
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..