อาการแพ้ท้อง ระหว่างตั้งครรภ์ กับ 10 อาการแพ้ท้องที่คุณแม่ควรทราบ เพื่อรับมือกับอาการต่าง ๆ ในระหว่างแพ้ท้องได้
อาการแพ้ท้อง ระหว่างตั้งครรภ์
แพ้ท้องดีกว่าไม่แพ้จริงไหม
อาการแพ้ท้อง(Morning sickness) เป็นอาการหรือความรู้สึกที่ไม่สุขสบายที่เกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 80-90% ว่าที่คุณแม่ที่กำลังวางแผนอยากตั้งครรภ์ หรือ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จึงมีเรื่องที่กังวลเหมือนกัน คือ อาการแพ้ท้อง ซึ่งส่วนใหญ่มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียมากกว่าปกติ แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นเมื่อมีอายุครรภ์มากกว่า 3 เดือน อาการแพ้ท้องอาจมีความรุนแรงต่างกัน และอาการไม่เหมือนกัน ซึ่งมีสาเหตุการแพ้จาก 3 ปัจจัย ดังนี้
- ร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเอชซีจี (HCG – Human chorionic gonadotropin) ที่รกสร้างสูงขึ้น
- อาการวิตกกังวลระหว่างท้อง และสภาพความพร้อมของร่างกายและจิตใจคุณแม่
- สาเหตุอื่นๆ เช่น ระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่อง ทำให้สมดุลฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง
การแพ้ท้องก็มีข้อดีนะ
ถึงแม้การแพ้ท้องอาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สุขสบาย แต่การแพ้ท้องเป็นกลไกของร่างกายที่
สร้างปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมของคุณแม่เพื่อป้องกันอันตราย โดยเฉพาะอาการจะมีมากในช่วง 3 เดือนแรกซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญมากในการสร้างอวัยวะสำคัญของลูก เช่น สมอง หัวใจ ปอด แขนขา เป็นต้น ร่างกายจึงปฏิเสธทุกอย่างที่คิดว่าเป็นอันตรายต่อทารกน้อยในครรภ์คุณแม่ เช่น เหม็นน้ำหอมที่เคยใช้ เหม็นอาหารบางอย่าง เป็นต้น อาการแพ้แบบนี้ถึงแม้จะสร้างความทรมานคุณแม่ได้แต่ก็เป็นเรื่องที่ดี ที่บ่งบอกว่าลูกน้อยในครรภ์เราจะมีความแข็งแรงและปลอดภัยจากอันตราย เพราะเป็นปฏิกิริยาการปฏิเสธอาหารที่เป็นพิษหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายของลูกนั่นเอง
10 อาการแพ้ท้องที่คุณแม่ควรทราบและเตรียมตัวรับมือ
อาการแพ้ท้องในคุณแม่นั้น เกิดได้หลายอาการและแตกต่างกันในแต่ละคน หรือคุณแม่บางท่านอาจไม่มีอาการแพ้เลยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยของระดับของฮอร์โมน ความวิตกกังวล ตลอดจนสภาพความแข็งแรงของร่างกายร่วมด้วย ซึ่งโดยทั่วไปจะมี อาการแพ้ท้อง 10 อาการดังนี้
- อาการเหม็น หรือไวต่อกลิ่นมากขึ้น เช่น เหม็นอาหารบางชนิด น้ำหอม บางทีเหม็นกลิ่นตัวคุณพ่อ แต่กลับชอบกลิ่นบางอย่างเช่น กลิ่นข้าวหุงสุกใหม่ๆ
- อาการคลื่นใส้อาเจียน ผะอืด ผะอม อึดอัดท้องและหน้าอกจนอยากจะอาเจียนออกมา แม้จะท้องว่าง
- ปวดแสบลิ้นปี่ ฮอร์โมนตอนท้องจะทำให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารคลายตัวทำให้น้ำย่อยไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ และตอนที่คุณแม่อาเจียน ทานอาหารได้น้อย น้ำย่อยที่อาเจียนออกมาจะทำให้แสบหลอดอาหารและขมที่ลิ้นได้
- ความชอบในการกินเปลี่ยนไป เช่น อยากกินอาหารแปลกๆหรือ อาหารที่มีรสเปรี้ยว
- อาการอ่อนเพลีย เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้นมีผลทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายคลายตัว
- อาการปวดศรีษะ จากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
- อาการง่วงตลอดเวลา ร่างกายต้องการพักผ่อน
- อารมณ์แปรปรวน จิตใจอ่อนไหว เครียด วิตกกังวลง่าย
- อาการปวดปัสสาวะบ่อยๆ เกิดจากระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น จะเป็นในช่วงแรกๆและระยะหลังมดลูกที่ขยายขนาดขึ้นจะไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยๆ
- อาการผื่นคัน หรือผิวหนังแพ้ได้ง่าย เช่นคุณแม่บางคนเป็นผดผื่น หรือ เป็นกระและฝ้าตามใบหน้า
วิธีรับมือกับอาการแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้องในคุณแม่นั้น มีได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อย ไปจนถึงรุนแรงจนต้องนอนในโรงพยาบาล บางคนเริ่มแพ้ท้องตั้งแต่ตั้งครรภ์ยาวไปถึงใกล้คลอดก็มี ซึ่งเรามีเทคนิคการจัดการและผ่อนคลายอาการแพ้ท้องที่คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถทำได้ง่ายและได้ผล สามารถมีความสุขกับการตั้งครรภ์ได้ ดังนี้คะ
- สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมโปร่งสบาย เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายเต็มที่
- งดเครื่องดื่มเย็น แนะนำดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆหลังตื่นนอนตอนเช้า ดื่มน้ำขิงลดอาการอึดอัดผะอืดผะอมและขับลมได้
- ถ้าอยากทานอาหารรสเปรี้ยวแนะนำทานผลไม้รสเปรี้ยวมากกว่าจะนึกถึงอาหารมักดองที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
- ทานขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์ตอนเช้าหลังตื่นนอน ป้องกันท้องว่างและลดอาการปวดแสบท้องและหลอดอาหาร
- ทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย และอาหารอุ่นๆ สดใหม่เสมอ และ แบ่งมื้ออาหารออกเป็น 5-6มื้อต่อวันเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่
- รักษาระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการมีลูกอม หรือขนมปังชิ้นเล็กพกติดตัว น้ำผลไม้ไว้รับประทานเป็นอาหารว่างระหว่างมื้อ
- หากิจกรรมที่ชอบทำคลายเครียด เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือสนุกๆ
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอม
- หลังตื่นนอนห้ามลุกทันที รอร่างกายปรับสภาพอย่างน้อย 5 นาที และหาโอกาสพักหลับในช่วงเวลากลางวัน
- หลีกเลี่ยงสถานที่ร้อน อบอ้าว ผู้คนแออัด
ส่วนคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ นั้น มีข้อแนะนำเพิ่มเติม คือให้สังเกตอาการและระดับความรุนแรงในการแพ้ แล้วปฏิบัติตัวดังนี้คะ
1.คุณแม่ที่มีอาการเล็กน้อย เช่น คลื่นไส้ ผะอืดผะอม แต่ยังพอทานได้ ควรทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เน้นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น น้ำผลไม้สด น้ำขิง หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารที่มีไขมันสูง หรือ อาหารกลิ่นแรง ๆ
2.คุณแม่ที่มีอาการปานกลาง มีอาการตั้งแต่คลื่นไส้รุนแรง เวียนศีรษะอยู่บ่อยๆ และทานอาหารได้น้อย แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ อาจต้องขอรับยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้วิงเวียน ยาช่วยย่อยและขับลม ลดอาการผะอืดผะอม เป็นต้น
3.คุณแม่ที่มีอาการรุนแรง จนไม่สามารถทานอาหารได้ มีอาการคลื่นไส้อาเจียนตลอดวัน อ่อนเพลีย จนน้ำหนักลด ปากแห้งตลอดเวลาซึ่งมาจากร่างกายได้รับน้ำและอาหารไม่เพียงพอ แนะนำให้ไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุด เพราะอาจต้องเข้านอนรักษาอาการในโรงพยาบาลเช่น ให้ น้ำเกลือชดเชยน้ำและเกลือแร่ เพราะถ้าปล่อยไว้จะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยคะ
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..