ถ้าไม่สังเกตจริงๆ คุณแม่คงไม่ทราบว่าลูกมีปัญหาอุ้งเท้าแบนหรือเปล่า จนกว่าจะได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งหากลูกมีปัญหาอุ้งเท้าแบน จะมีวิธีการดูแล และรักษาอาการอุ้งเท้าแบนอย่างไรบ้างนั้น วันนี้เราจะพาคุณแม่ไปทำความเข้าใจกัน
ทำความเข้าใจกับ อุ้งเท้าเด็ก
อุ้งเท้าคือส่วนโค้งของด้านล่างฝ่าเท้า ซึ่งมีอยู่ถึง 3 ส่วนโค้งด้วยกัน โดยส่วนที่จะเห็นได้เด่นชัดที่สุด คือบริเวณขอบใต้ฝ่าเท้าด้านใน จากการสังเกต ในขณะที่เท้าเปียกน้ำ แล้วไปย่ำลงบนพื้น จะเห็นรอยเท้าเว้าตามรูปร่างของเท้า ซึ่งถ้าเท้าใครมีลักษณะแบน ก็จะไม่ปรากฎรอยแหว่งของเท้าเลย
ส่วนในเด็กเล็กๆ นั้น ยังไม่สามารถมองเห็นอุ้งเท้าได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีไขมันใต้ผิวหนังมาก แต่จะเริ่มสังเกตเห็นได้เมื่อเด็กหัดเดินในช่วงอายุ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งไขมันใต้ผิวหนังลดลง และเมื่อเด็กโตขึ้นเรื่อยๆ กล้ามเนื้อเท้าได้รับการบริหารให้มีแรงมากขึ้น จึงทำให้เห็นส่วนเว้าของฝ่าเท้าได้ชัดขึ้น โดยจะเห็นได้อย่างเด่นชัดสุดในช่วงวัยรุ่น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเท้าแบนนั้นเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่ง เมื่อแรกเกิดเด็กทั่วไปมักมีลักษณะเท้าแบนเป็นปกติ จนเมื่อโตขึ้น ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงตามวัย ฝ่าเท้าก็มีส่วนโค้งเว้ามากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเด็กแต่ละคนก็มีพัฒนาการที่ต่างกันด้วย นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์จากพ่อแม่ ที่ลูกสามารถจะมีเท้าแบบตามพ่อแม่ได้เช่นกัน ส่วนปัญหาเท้าแบน ที่เกิดจากโครงสร้างเท้าผิดปกติซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันนั้น ก็จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์อีกทีหนึ่ง
อุ้งเท้าแบน มีกี่แบบ
อุ้งเท้าแบนนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 แบบดังต่อไปนี้
1.อุ้งเท้าแบนแบบยืดหยุ่นได้
อุ้งเท้าแบบนี้ จะมีเอ็นเท้าที่ยืดหยุ่นมาก ทำให้เท้าดูแบนราบขณะที่ยืนลงน้ำหนัก แต่จะเห็นมีอุ้งเท้าก็ต่อเมื่อนอนหรือนั่ง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติและพบได้บ่อยในวัยเด็ก โดยถ้าเด็กไม่มีความเจ็บปวด หรือมีอาการอะไรก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใดๆ ซึ่งสาเหตุนั้นก็ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่เด็กที่มีพ่อแม่เท้าแบน ก็มักมีโอกาสเท้าแบนตามได้
2.อุ้งเท้าแบนแบบแข็งตึง
อุ้งเท้าชนิดติดแข็งนี้ จะไม่สามารถมองเห็นอุ้งเท้าได้เลย โดยมีข้อที่ยึดแข็งทำให้บิดเท้าเข้าออกไม่ได้ ซึ่งอุ้งเท้าแบบที่สองนี้พบว่ามีโอกาสเกิดได้น้อยกว่าแบบแรก และเกิดจากโรคบางชนิด เช่น โรคกระดูกข้อเท้าชี้ลง หรือรูปเท้าผิดปกติมาก ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดเท้า ปวดขา และปวดน่องเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้เท้ามากๆ เช่น ยืนหรือเดินมากเกินไป
การตรวจสอบเบื้องต้น ทำได้โดยการให้ลูกเกาะราวไว้ แล้วเขย่งปลายเท้าขึ้น เพื่อสังเกตการทรงตัว โดยถ้าลูกมีอาการสั่น เพราะทรงตัวได้ไม่ดี แสดงว่าลูกเป็นเท้าแบนแบบยืดหยุ่น และถ้าไม่เห็นความโค้งเว้าของอุ้งเท้าเลย แต่กลับดูราบเรียบเท่ากันไปหมด นั่นแสดงว่าลูกเป็นเท้าแบนแบบแข็งตึง นอกจากนี้อาจดูจากการลงน้ำหนักของเท้าและขณะไม่ได้ลงน้ำหนักแล้วนำมาเปรียบเทียบกัน รวมถึงการเคลื่อนไหวของข้อเท้า จากการบิดเข้าออก ถ้าอุ้งเท้าไม่สามารถขยับได้ แปลว่าลูกมีเท้าแบนแบบแข็งตึง
วิธีดูแลเมื่อลูกน้อยอุ้งเท้าแบน
วิธีดูแลและรักษาเด็กที่มีอุ้งเท้าแบน มีดังต่อไปนี้
1.ปรับพฤติกรรม
เมื่อยืนหรือเดินมาก ทำให้ปวดขา ก็จำเป็นต้องหยุดพฤติกรรมเหล่านี้เสีย แต่ให้นั่งพักหรือนอน ยกเท้าสูงๆ แทน
2.ควบคุมน้ำหนัก
พ่อแม่ควรใส่ใจเด็กที่มีน้ำหนักตัวเกินเป็นพิเศษ เช่น ดูแลเรื่องอาหารการกิน ด้วยการลดขนมหวานหรืออาหารประเภทแป้ง เพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
3.ตัดรองเท้า
การตัดรองเท้าสำหรับคนเท้าแบนหรือจะใช้ที่รองนั้น ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ที่ทำการรักษาอีกที แต่ต้องเข้าใจว่าการใช้อุปกรณ์เสริมหรือรองเท้านี้ไม่ได้ช่วยให้ทำให้โรคเท้าแบนหายไป เป็นเพียงการช่วยลดอาการปวดที่อาจเกิดขึ้น ช่วยให้เด็กได้ยืนและเดินในชีวิตประจำวันได้ และไม่ทำให้เท้าผิดรูปมากขึ้นเท่านั้น
4.ให้ยา
การให้ยานั้นเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ให้กินยาแก้ปวด หรือยาแก้อักเสบ ซึ่งควรกินในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และต้องให้แพทย์เป็นผู้จ่ายให้เท่านั้น
5.ผ่าตัด
ถ้าเท้ามีความผิดปกติมาก เช่น มีโครงสร้างเท้าที่ผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิต แพทย์ก็จะตัดสินใจทำการผ่าตัดแก้ให้
6.ทำกายภาพบำบัด
แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีการทำกายภาพบำบัดมาช่วยด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ใช้วิธีการฝังเข็ม เพื่อลดบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้น
7.ออกกำลังกาย
ในช่วง 6 ปีแรกนั้นมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเท้าลูก พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกได้ออกกำลังกายด้วยการฝึกกล้ามเนื้อเท้าให้แข็งแรง ซึ่งจะส่งผลต่อแรงดึงกระดูกให้เกิดความโค้งขึ้นได้ โดยมีวิธีง่ายๆ และประหยัด นั่นก็คือให้ลูกได้เดินเท้าเปล่าบนพื้นทรายหรือสนามหญ้าเป็นประจำ เพื่อให้กล้ามเนื้อเท้าส่วนต่างๆ ได้รับการกระตุ้นและแข็งแรงขึ้น
อาการเท้าแบนในเด็กนั้นมักเป็นแบบยืดหยุ่นซึ่งเป็นไปตามพัฒนาการ และการดูแลรักษานั้นก็เป็นเพียงการไม่ให้เท้าของลูกผิดรูปมากขึ้น ไม่ได้ทำให้เท้าเลิกหายแบน ซึ่งเมื่อลูกโตมาอาการเท้าแบนก็จัยังคงเป็นอยู่ แต่ที่สำคัญคือการดูแลให้ลูกสามารถใช้ชีวิตในประจำวันได้อย่างมีความสุขนั่นเอง
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..
1.อาหารแม่ท้อง อะไรบ้างที่คน กรุ๊ปเลือด AB ควรกินและควรเลี่ยง