เช็กพัฒนาการ หลังจากที่ได้ตั้งครรภ์เป็นผลสำเร็จตามเป้าประสงค์ โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่มักจะเกิดความวิตกกังวลมากมาย และตื่นเต้นมากเป็นพิเศษสำหรับท้องแรกท้องนี้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ที่เห็นได้ชัดเจนคือ รูปร่างจากที่เคยเพรียวบางเป็นนางแบบ ก็อวบอ้วนแบบไม่เคยรู้สึกมาก่อน อีกทั้งหน้าท้อง สะโพก ทุกอย่างมีการขยายเพื่อรองรับเจ้าตัวน้อยในครรภ์ มาแอบดูเจ้าตัวน้อยในครรภ์กันค่ะ ว่าเป็นอย่างไรตลอดระยะ 9 เดือนในท้องคุณแม่
เช็กพัฒนาการ และ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
เดือนที่ 1 ในช่วงเดือนแรกนี้คุณแม่บางท่านอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังมีชีวิตน้อยๆเกิดมาเพราะบางคนประจำเดือนมาไม่ปกติหรือไม่ตรงเวลา คลาดเคลื่อนไปบ้างก็อาจไม่ทันจะรู้ตัวก็เป็นได้ ส่วนใหญ่จะเริ่มสังเกตเอาก็ต่อเมื่อสัปดาห์ที่ 7 ไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะขณะนี้ตัวอ่อนในท้องคุณแม่ยังมีขนาดเท่าเม็ดลำไยแค่ นั้นเองค่ะ ซึ่งจะอยู่ในถุงน้ำคร่ำเล็กๆ ที่มีรกเกาะอยู่ผนังมดลูก จะมีตุ่มยื่นออกมาที่กำลังพัฒนา เป็นแขนขา ระบบประสาทเริ่มเกิด และใกล้เคียงกับระบบไหลเวียนโลหิต ก็กำลังเริ่มสร้างเครือข่ายไปทั่วร่างกายของทารก เมื่อมีความผิดปกติของประจำเดือน ควรจะตรวจสอบการตั้งครรภ์ เพื่อให้ทราบผลที่แน่นอน และถ้าท่านตั้งครรภ์ก็ควรละเลิกพฤติกรรมที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของทารก เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มกาแฟ และสุรา เป็นต้น ดังนั้นท่านควรไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ นะคะ
สำหรับรูปร่างยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงค่ะ อาจมีเพียงความรู้สึกว่าเต้านมคัดตึง อาจมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของอารมณ์โดยจะหงุดหงิดง่าย ความไร้เหตุผลมีมากขึ้น แต่คุณแม่บางคนก็ไม่มีอาการอะไรเลยก็มีดังเช่นผู้เขียนก็ไม่มีอาการอะไรเลยค่ะ เพราะปกติเป็นคนที่มีประจำเดือนไม่ตรงกันทุกเดือนทำให้ไม่ได้สังเกต มารู้อีกทีก็ท้องเกือบสองเดือนแล้วค่ะ
เดือนที่ 2 เข้าสู่เดือนที่ 2 เดือนนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในเรื่องของน้ำหนักตัว หรืออาจจะมีเอวที่ ขยายขนาดขึ้นเล็กน้อย แต่หากคุณแม่ท่านใดรูปร่างเล็กผอมบางก็ยังไม่เป็นที่สังเกตเท่าไหร่ค่ะ ทั้งนี้เพราะทารกในครรภ์ยังไม่ขยายตัวมากนัก ในเดือนที่ 2 นี้ ตัวอ่อนหรือทารกน้อยๆ จะมีการพัฒนาเจริญเติบโตของระบบประสาทและหลอดเลือด อวัยวะที่สำคัญต่างๆก็จะเริ่มพัฒนาเป็นรูปเป็นร่าง ตัวทารกจะมีความยาวประมาณ 1 นิ้วฟุต ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็ก แต่ทารกก็จะมี แขน ขา หน้า รูปร่างเหมือนมนุษย์ขนาดจิ๋ว ขณะเดียวกันก็จะมีหัวใจที่เต้นทำงานบีบเลือดไปเลี้ยงร่างกาย
ในเดือนที่ 2 นี้คุณแม่จะเริ่มเข้าสู่อาการแพ้ท้อง บางท่านน้ำหนักตัวอาจจะลดลง จะรู้สึกเหนื่อย ง่าย ง่วงซึม หรือมีอาการแสบท้องอ่อนเพลีย หน้าอกโตขยายใหญ่ขึ้น ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้การย่อยอาหารช้าลง จะทำให้ผู้ตั้งครรภ์มักจะมีอาการท้องอืดเฟ้อ ท้องผูก และผู้ที่ตั้งครรภ์จะรู้สึกหน้ามืด เป็นลมบ่อยๆดังนั้นควรพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะนอนหลับในช่วงกลางคืนให้ได้ 9-10 ชั่วโมงจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
เดือนที่ 3 ในเดือนที่ 3 นี้จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างที่ค่อนข้างชัดเจนขึ้น เอวจะเริ่มหนาขึ้น อาจจะรู้สึกอึดอัดหากใส่กางเกงรัดรูป จะเริ่มพบว่ามีอาการบวมของฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมทั้งเส้นเลือดก็จะเริ่มโป่งให้เห็นเป็นลักษณะเส้นเลือดขอดได้ง่ายขึ้น สำหรับหน้าท้องของคุณแม่ถ้าคุณหมอคลำดู คุณหมอจะบอกว่ามดลูกเริ่มลอยสูงขึ้นมาเหนือกระดูกเชิงกราน ในเดือนที่ 3 นี้ทารกจะมีขนาดโดยประมาณ 3 นิ้วฟุต อวัยวะต่างๆ จะเกิดจนครบและกำลังพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ อวัยวะต่างๆ ก็เริ่มทำงานได้แล้ว คุณหมอจะใช้เครื่องมือตรวจการทำงานของหัวใจ อาจจะได้ยินเสียงเต้นของหัวใจ ซึ่งถ้าผู้เป็นแม่ได้ยินแล้วจะรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น และประทับใจเดือนนี้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ยังไม่สามารถบอกเพศได้ว่าเป็นหญิงหรือชาย
เดือนที่ 4 นับเป็นเดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ในช่วงเดือนนี้คุณแม่จะเริ่มรู้สึกสบายตัวขึ้นเพราะเจ้าอาการแพ้ต่าง ๆ เริ่มลดลงจนเป็นปกติแล้ว ส่งผลให้อารมณ์เป็นปกติมากขึ้นด้วย แต่อาจจะมีอาการตกขาว เส้นเลือดขอดและอาการริดสีดวงทวารตามมาเพราะการขยายตัวของมดลูกอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย ในช่วงเดือนที่ 4 นี้คุณแม่จะได้รับรู้ถึงสัมผัสจากลูกน้อยเพราะจะเริ่มสังเกตอาการดิ้นของเจ้าตัวน้อยในครรภ์ แต่คุณแม่มือใหม่บางคนก็อาจจะไม่ทันสังเกตหรือไม่รู้ตัวว่าเจ้าอาการตุ๊บๆ เหมือนปลาตอดนั้นคือ สัญญาณการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ ทารกในครรภ์ขณะนี้จะยาวประมาณ 4 นิ้วฟุต ทารกสามารถจะดูด กลืน เคลื่อนไหวได้คล้ายกับมนุษย์ตัวเล็ก ๆ แต่ก็ยังอ่อนแอไม่สามารถมีชีวิตอยู่นอกโพรงมดลูกได้
เดือนที่ 5 ตั้งครรภ์ช่วงเดือนที่ 5 นี้เท่ากับว่าคุณแม่ได้เดินผ่านมาครึ่งทางแล้วค่ะ และจะเริ่มรู้สึกถึงอาการดิ้นของทารกในครรภ์ได้ชัดเจนมากขึ้น มาถึงเดือนนี้แล้วคุณแม่ต้องมองหาชุดคลุมท้องสวยๆมาใส่ได้แล้วค่ะเพราะรูปร่างจะเปลี่ยนแปลงชัดเจนจนดูออกแล้วว่ากำลังตั้งครรภ์ และเป็นช่วงที่เรียกว่า ทำน้ำหนัก เพราะน้ำหนักโดยเฉลี่ยจะขึ้นมาประมาณเดือนละ 2 กิโลกรัม ต้องระวังอย่าให้น้ำหนักขึ้นมากเกินไปนะคะ คลอดแล้วจะลดยาก สำหรับการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่อาจจะสร้างความวิตกกังวลให้แก่คุณแม่ได้ คือ การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง จะมีผิวสีเกิดขึ้น ทั้งที่ใบหน้าหรือหน้าท้อง ที่หน้าจะทำให้เกิดสิว ฝ้า ซึ่งจะค่อยๆ จางหายไปหลังคลอดค่ะ สำหรับทารกในครรภ์ในเดือนที่ 5 นี้จะมีขนาดประมาณ 10 นิ้วฟุต ศีรษะทารกยังค่อนข้างโต มีการเคลื่อนไหวของแขนขาและคอได้ดี นิ้วมือและนิ้วเท้าแยกกันชัดเจน ผิวหนังของทารกยังโปร่งใสอยู่แต่ค่อยๆเริ่มสร้างตัวหนาขึ้น อวัยวะเพศสามารถแยกได้ชัดเจนว่าเพศหญิงหรือเพศชายทารกจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
เดือนที่ 6 ในเดือนที่ 6 นี้ท้องของคุณแม่จะเริ่มขยายใหญ่ขึ้น เพราะมดลูกขยายใหญ่ขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังหน้าท้อง คือ จะเกิดผิวหนังแตกลาย หรือที่เรียกว่า หน้าท้องลายนั่นแหละค่ะ อาจทำให้คุณแม่รู้สึกคันท้องยิบๆเพราะผิวหนังเกิดการขยายตัว ควรใช้โลชั่นหรือครีมบำรุงทาเพื่อให้ผิวหนาชุ่มชื้นมากขึ้นค่ะ ในช่วงเดือนนี้ อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นกับการตั้งครรภ์ เช่น การเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาการพิษแห่งครรภ์ การอักเสบติดเชื้อราจะพบได้ง่ายมาก และการอักเสบในระบบทางเดินปัสสาวะพบได้บ่อยขึ้น ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สำหรับทารกในครรภ์ขณะนี้มีขนาดยาวประมาณ 13 นิ้วฟุต น้ำหนักประมาณ 700-800 กรัม ตาทารกเริ่มลืมและนิ้วมือเริ่มมีลายนิ้วมือ แต่ผิวหนังยังไร้ไขมัน เริ่มเห็นริมฝีปาก เปลือกตา ขนตา ชัดเจนขึ้น คุณแม่ต้องระวังตัวในอิริยาบถต่างๆอย่าให้เกิดอันตรายต่อตนเองและต่อทารก เพราะถ้าทารกคลอดก่อนกำหนดในเดือนดังกล่าวนี้ โอกาสจะเลี้ยงรอดยากมาก
เดือนที่ 7 เริ่มเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 หรือไตรมาสสุดท้ายกันแล้ว ในเดือนนี้คุณแม่จะเริ่มรู้สึกอุ้ยอ้ายเพราะท้องโตมากขึ้น เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว ในช่วงระยะนี้คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยเพิ่มสัปดาห์ละ ครึ่งกิโลกรัม ท้องที่โตมากขึ้นนี้ทำให้คุณแม่หายใจเร็วขึ้น เพราะมดลูกที่โตจะมาดันกระบังลมทำให้หายใจได้สั้น ๆ นอนหลับไม่ได้เต็มที่จากการที่ทารกในครรภ์จะตื่น และตัวมดลูกเองก็จะบีบตัวเป็นระยะห่าง ๆ กัน เป็นการเริ่มต้นการหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นแต่ก็ไม่ถึงกับมีการเจ็บปวดเกิดขึ้น และจะบีบรัดตัวครั้งละไม่นานเกิน 30 วินาที สำหรับทารกในครรภ์ขณะนี้จะมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัมทารกในครรภ์จะมีการเคลื่อนไหวและปฏิกิริยาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจาม ดูดมือ ดูดนิ้วเท้า ร่างกายจะเริ่มสะสมไขมันเพื่อเตรียมตัวรับมือกับโลกภายนอกค่ะ
เดือนที่ 8 ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วนะลูกรัก ในเดือนที่ 8 นี้ ท้องของคุณแม่จะขยายใหญ่มากขึ้นจนรู้สึกถึงความอึดอัด ท้องที่โตขึ้นทำให้พื้นที่ปอดขยายลดลง คุณแม่จะเหนื่อยง่าย หายใจเร็วสั้น กระเพาะปัสสาวะจะถูกกด ทำให้ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะบ่อย ๆ โดยเฉพาะเวลานอนก็จะถูกรบกวนได้จากการที่ต้องลุกไปปัสสาวะ และจากการดิ้นที่รุนแรงของเด็กทารกในครรภ์ ซึ่งขณะนี้การเจริญเติบโตของระบบกล้ามเนื้อมากขึ้น มักจะอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ นั่นเป็นเพราะระบบการย่อยอาหารถูกกระทบกระเทือน มือเท้า จะบวม เริ่มเป็นตะคริวบ่อยขึ้น ท้องผูกจะเป็นสิ่งปกติของคุณแม่ระยะนี้ ตกขาวจะมีมากขึ้น ในบางคนจะมีน้ำนมไหลออกมา ซึ่งเป็นหัวน้ำนมก็ว่าได้ เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูง คุณแม่ควรจะต้องเรียนรู้กระบวนการคลอด และสังเกตถึงความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น น้ำเดิน เป็นต้น ควรจะได้เตรียมเครื่องใช้สำหรับการเข้าอยู่ในโรงพยาบาลไว้ให้พร้อม
สำหรับทารกในครรภ์ จะมีน้ำหนักตัวประมาณ 2 กิโลกรัม ทารกจะมีขนาด และสัดส่วนใกล้เคียงกับเด็กแรกเกิด มีความแข็งแรงมากขึ้น ในช่วงนี้ทารกจะเริ่มกลับหัวเข้าสู่อุ้งเชิงกราน การดิ้นของทารกจะสามารถสังเกตเห็นได้จากหน้าทองของแม่ ช่วงนี้ก่อนคลอดหนึ่งเดือนคุณแม่อาจมีอาการมดลูกบีบรัดตัวซึ่งเป็นอาการที่ เรียกว่า เจ็บท้องหลอก การหดตัวรัดตัวนี้ก็เพื่อดันตัวทารก มาประชิดปากมดลูกเพื่อเตรียมพร้อมที่จะคลอด
เดือนที่ 9 เตรียมนับถอยหลังกันได้แล้วค่ะสำหรับคุณแม่ที่เดินทางมาจนเกือบจะถึงเส้นชัยกันแล้ว ช่วงเดือนนี้ท้องที่โตจะเริ่มลดต่ำลงเพิ่มเตรียมตัวสำหรับการคลอดเพราะตัวเด็กทารกในครรภ์เริ่มลงสู่เชิงกราน คุณแม่จะรู้สึกโล่งขึ้นและหายใจได้ดีขึ้น คล่องแคล่วขึ้น แต่จะหน่วงในช่วงเชิงกรานมากขึ้น เพราะส่วนนำของทารกจะลงไปกดอวัยวะในช่องเชิงกราน อาจจะปวดที่หัวเหน่า ปวดที่โคนขาจากการกดทับเส้นประสาทขา ปัสสาวะจะบ่อยขึ้นมาก จะรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลงเพราะมีพื้นที่ในการขยับขยายตัวน้อยลงเพราะหนูตัวโตมากแล้วนี่นา แต่อย่างไรก็ตามคุณแม่ต้องสังเกตการดิ้นของทารก ถือเป็นการเฝ้าระวังต่อสุขภาพเด็กทารกที่ดีที่ผู้เป็นแม่ควรปฏิบัติ โดยสังเกตดูใน 1 ชั่วโมงหลังอาหาร เด็กทารกในครรภ์ต้องดิ้นไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ถ้าน้อยกว่าให้สังวรว่า อาจจะมีความผิดปกติเกิดแก่ทารก ควรเข้าพบแพทย์โดยด่วน
สำหรับทารกในครรภ์จะอยู่ในท่าที่พร้อมจะคลอด ลูกจะเริ่มกลับหัวลงสู่อุ้งเชิงกราน เรียกว่าตอนนี้ลูกพร้อมจะออกมาดูโลกภายนอกอยู่ทุกนาทีเลยก็ว่าได้ ทารกส่วนใหญ่จะคลอดตามกำหนดหรือช้าไป 2 สัปดาห์หลังกำหนด สำหรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์เล็บมีการเจริญเติบโต และยาวครอบคลุมปลายนิ้ว ผมบนศีรษะมีความยาวประมาณ 1-2 นิ้ว ช่วงนี้คุณแม่ต้องเตรียมความพร้อมไว้ตลอดนะคะ เผื่อเจ้าตัวน้อยใจร้อนรีบออกมาจะได้รับมือทันเวลา
ได้ทราบกันแล้วนะคะว่าเจ้าตัวน้อยในครรภ์มีพัฒนาการและการเจริญเติบโตอย่างไร คุณแม่ควรดูแลตนเอง ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายและทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่เครียดและวิตกกังวล รับรองว่าเจ้าตัวน้อยคลอดออกมาต้องมีสุขภาพร่างกายและแข็งแรงและเลี้ยงง่ายแน่นอนค่ะ
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..