ลูกเป็นดาวน์ซินโดรม ชีวิตจริงไม่มีใครสมบูรณ์แบบไปหมดทุกอย่าง ชีวิตสวยงามของนางงามระดับประเทศ ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความสุขล้น แต่ต้องพลิกเกินคาดคิด เคยจมอยู่ในกองทุกข์มหาศาลเกินบรรยาย มะปราง ภาวดี วิเชียรรัตน์ อดีตนางสาวไทยปี 2538 สมัยนั้นนางสาวไทย จะไปประกวดต่อ มิสยูนิเวิร์ส Miss Universe มะปรางบอกเลยไม่ธรรมดา สวยพุ่งเข้ารอบ 14 คนสุดท้าย หลังจากนั้นพักใหญ่ มะปรางบินไปลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา เพื่อประกวด มิสซิสเวิลด์ Mrs.World 2003 สวยเด่นโดนใจจริงจนคว้าที่ 1 มาได้
ลูกเป็นดาวน์ซินโดรม
หลังจากมะปรางทำหน้าที่นางงามได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว มะปรางได้พบรักกับหนุ่มฟิลิปปินส์ จอห์นเมล ชาลส์ ยูชอน นักธุรกิจรวยจริงที่ทำเบเกอรี่สุดอร่อยชื่อร้าน Godlilcoks ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวสามี เปิดขายเกือบทั่วโลกมากกว่า 600 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในฟิลิปปินส์ และที่สหรัฐฯ, แคนาดา และประเทศไทย
มะปรางได้พบรักแต่งงานมีลูก วาดหวังชีวิตครอบครัวครบพร้อม สวยงามตามสเตป พ่อ แม่ ลูก สุขกันเถอะเรา แต่พอลูกน้อยคลอดออกมา เลี้ยงดูสังเกตไปได้สักระยะ พบว่าลูกสาวน้องมะยม มีภาวะดาวน์ซินโดรม Down syndrome
ลูกรักเป็นยิ่งกว่าแก้วตาดวงใจ เมื่อลูกรักต้องเป็นดาวน์ซินโดรม หรือภาษาบ้านๆ ที่คนส่วนใหญ่ชอบเรียกคือ เด็กปัญญาอ่อน หัวอกของพ่อแม่ต้องแหลกสลายย่อยยับ กว่าจะทำใจยอมรับได้ ต้องใช้เวลายาวนานเยียวยาอยู่ จากทุกข์ล้นใจเมื่อวันวาน วันนี้มะปรางได้เรียนรู้ดาวน์ซินโดรม และได้เรียนรู้ตัวเองมากขึ้นไปด้วย การมีลูกเป็นเด็กพิเศษน่าจะเป็นเรื่องเศร้าเสียใจสุดๆ แต่สำหรับมะปรางชีวิตคิดบวกมากพอ บอกเลยว่า ทุกวันนี้เป็นแม่ที่ดี เกินกว่าตัวเองจะคาดคิดได้ เป็นคนที่รู้จักแบ่งปันช่วยเหลือคนอื่นอย่างเต็มใจและจริงใจได้ ก็เพราะลูกสาวน้องมะยมที่เป็นดาวน์ซินโดรม นี่แหละ!
มะปราง ภาวดี อดีตนางงามดัง เปิดใจให้สัมภาษณ์อย่างคล่องแคล่วว่องไวจนเกือบฟังไม่ทัน กับบันเทิงไทยรัฐออนไลน์ สัมภาษณ์สดตรง! จากกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ถึงลูกสาวคนโตน้องมะยม หรือน้องโจอี้ ที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมมาตั้งแต่เกิด “ส่วนใหญ่ที่ปรางคุยๆ กับพ่อแม่ที่มีลูกเป็นดาวน์ซินโดรม ที่พบเจอบ่อยเลย คือหมอไม่ค่อยให้กำลังใจ ไม่ค่อยให้ความรู้ว่า มีลูกแบบนี้จะต้องทำอย่างไร เลี้ยงดูอย่างไร พ่อแม่พอรู้ว่าลูกเป็นดาวน์ซินโดรมก็จะร้องไห้ เหมือนปรางที่เคยร้องไห้ ส่วนใหญ่เด็กเป็นดาวน์ซินโดรมจะผ่าตัดหัวใจมากกว่า 50% ต้องไปหาหมอบ่อย ต้องทะนุถนอมดูแลมากขึ้น แล้วแต่ภาวะดาวน์ซินโดรมของแต่ละคน ว่ามีมากน้อยแค่ไหน
“แรกๆ พอรู้ว่าลูกปรางเป็นดาวน์ซินโดรม ปรางเสียใจมากๆ 2 สัปดาห์แรกได้แต่ร้องไห้ (เสียงเศร้า) เราก็เหมือนพ่อแม่ทั่วไป ที่ขอให้ลูกออกมาสุขภาพดี ไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรม แน่นอนพอรู้ว่าลูกเป็นดาวน์ซินโดรมก็ช็อก!!! ที่ฝันไว้ก็สลายไป รู้สึกไม่เคยอกหักหนักขนาดนี้มาก่อน
“ตอนนี้ปรางก็ทุ่มเทเวลา ทุ่มทุกอย่างเพื่อดูแลเขาให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ตอนนี้น้องมะยม 4 ขวบจะ 5 ขวบ ตุลานี้แล้วค่ะ เขาเป็นพี่ที่ดี เป็นลูกสาวที่ดี พูดได้สามารถสื่อสารเป็นประโยคเหมือนเด็กทั่วไป แต่การเรียนรู้อาจจะช้ากว่าเด็กคนอื่น ตอนนี้น้องมะยมเข้าเรียนอยู่ที่ โรงเรียนนานาชาติทั่วไปที่เด็กปกติเรียนกัน แต่เวลาไปส่งที่โรงเรียนแล้ว ปรางก็ไม่ได้กลับทันที ต้องอยู่เป็นเพื่อนเขาก่อนนานหลายชั่วโมง เพราะบางทีเขาและครูต้องการความช่วยเหลือ
“ปรางอ่านงานวิจัยสารพัด เพื่อจะได้มีข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม พยายามพาเขาเข้าสังคมให้ได้มากที่สุด ให้เขามีกิจกรรมทำตลอด ให้ทานวิตามินเยอะๆ อาจจะแพงหน่อย แต่เราก็ให้เขาได้กินเต็มที่ ทำกายภาพ 6 วันต่อสัปดาห์ ทำตลอดเลยค่ะ เราต้องตามติดเขาตลอด อย่างน้องมะยมพอเขาทำอะไรได้ด้วยตัวเอง เราจะภาคภูมิใจ มันอาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่เด็กคนอื่นทำได้ แต่พอลูกเราทำได้เอง เรารู้สึกภูมิใจมากค่ะ”
ตอนนี้วิทยาการทางการแพทย์ก็ล้ำหน้าขึ้นตลอด หมอให้ความหวังมั้ยว่า น้องมะยมจะหายขาดได้? “ไม่มีทางหาย เพราะมันเกี่ยวกับโครโมโซมที่เกินมา สังเกตได้ว่ากลุ่มคนพวกนี้จะมีหน้าตาคล้ายๆ กัน ตอนนี้เราจะเห็นว่าผู้ใหญ่หลายคนที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม สามารถทำอะไรได้หลายอย่างเช่น เดินแบบเป็นนางแบบ เป็นนักการเมือง ครูสอนเต้นซุมบ้า เรียนที่มหาลัยได้ สอบใบขับขี่ได้เหมือนคนปกติ ฯลฯ ไม่เหมือนสมัยก่อน ที่ต้องอยู่แต่ในบ้านทำอะไรไม่ได้ มันไม่เหมือนสมัยก่อนแล้วค่ะ”
หลักในการดูแลน้องมะยม มีอะไรบ้างคะ? “เขายังเป็นลูกเรา ปรางต้องให้โอกาสเขา สนับสนุนน้องมะยม แต่พอเขาดื้อไม่เชื่อฟัง เราก็ต้องทำโทษตีก้นด้วย ปรางเลี้ยงเขาให้มีความรับผิดชอบ โตไปให้อยู่ในกฎเกณฑ์ของสังคมได้ ไม่ได้เลี้ยงลูกแบบสปอยล์ ปรางพยายามเลี้ยงให้เขาอยู่ในสังคมได้อยู่ด้วยตัวเองทำงานเองได้ และช่วยคนอื่นในสังคมได้ด้วยค่ะ”
มะปรางอยากจะให้กำลังใจพ่อแม่ ที่มีลูกในภาวะดาวน์ซินโดรมอย่างไร? “อยากให้กำลังใจพ่อแม่นะคะ สมัยนี้แตกต่างจากสมัยก่อน ในอนาคตคนที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม จะสร้างประวัติศาสตร์ต่างๆ ได้อีกหลายอย่าง มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่อยากให้พ่อแม่ท้อ อย่างปรางก็เหนื่อยเหมือนกัน ต้องพาลูกไปกายภาพตลอด ไปส่งที่โรงเรียนเขา พ่อแม่คนอื่นส่งแล้วก็กลับบ้านได้ แต่ปรางต้องอยู่ดูลูกตรงนั้น 3-4 ชั่วโมง ฝากถึงพ่อแม่คนอื่นๆ ด้วยค่ะ ท้อได้แต่อย่านาน อย่าท้อค่ะ พยายามมองในโลกดี มองโลกในแง่บวกไว้
“ปรางจะพยายามเกาะกลุ่มพ่อแม่ที่มีลูกเป็นดาวน์ซินโดรม เพราะไม่มีใครเข้าใจหัวอกเราได้เหมือนพ่อแม่ที่มีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมเหมือนกัน มีอะไรก็ปรึกษากัน อย่างปรางเวลาไปเดินห้าง เจอเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม ก็จะเข้าไปคุยกับพ่อแม่เขาด้วย ปรางอยากสร้างสังคม สร้างโอกาส เพื่อที่เราจะได้มีข้อมูลที่ดีๆ เอาไว้ช่วยกันค่ะ”
ที่มา : thairath
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..