ห้ามส่งออกนมแม่ กัมพูชาห้ามแม่ลูกอ่อนส่งออกนมจากเต้าไปขายต่างประเทศ หลังรัฐเร่งปราบการค้าอวัยวะและผลิตภัณฑ์จากมนุษย์ ชี้ลูกอดกินนมแม่เพราะนำไปขายหมด
ห้ามส่งออกนมแม่
ทางการกัมพูชาออกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำนมมารดาไปขายยังต่างประเทศ โดยไม่ได้ระบุเหตุผลชัดเจนถึงที่มาของคำสั่งดังกล่าว เพียงแต่ระบุในแถลงการณ์สั้น ๆ ว่า “ประเทศของเราอาจยากจน แต่ก็ไม่ได้จนถึงขั้นต้องขายน้ำนมจากมนุษย์”
ตลอดสองปีที่ผ่านมา เรื่องการจำหน่ายน้ำนมมารดาตกเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในกัมพูชา เนื่องจากมีบริษัทสัญชาติอเมริกันชื่อ แอมโบรเชีย แล็บส์ มาเปิดกิจการรับซื้อน้ำนมมารดาจากกลุ่มหญิงที่ยากจนในเมืองสตุงเมียนเจย ใกล้กับกรุงพนมเปญ โดยรวบรวมน้ำนมมารดาที่ได้ส่งไปแปรรูปและจำหน่ายให้กับบรรดาแม่ที่ไม่มีน้ำนมเลี้ยงลูกด้วยตนเองในสหรัฐฯ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐว่า การค้าน้ำนมแม่นี้เข้าข่ายการค้าผลิตภัณฑ์จากมนุษย์ คล้ายกับการค้าอวัยวะอย่างผิดกฎหมายซึ่งทางการกัมพูชากำลังเร่งปราบปรามอยู่
องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟเคยระบุว่า ธุรกิจค้าน้ำนมมารดานั้นเท่ากับแสวงหาผลกำไรโดยเอารัดเอาเปรียบหญิงที่ยากจน และว่าการแบ่งปันน้ำนมมารดานั้นไม่ควรทำเป็นการค้า นอกจากนี้ ยังมีผู้แสดงความเห็นคัดค้านอีกจำนวนมาก โดยชี้ว่าการส่งออกนมแม่เท่ากับส่งเสริมให้นำนมแม่ไปขายแทนที่จะเก็บไว้ให้ลูกของตนเองกิน
บริษัทแอมโบรเชีย แล็บส์ รับซื้อน้ำนมแม่จากหญิงกัมพูชาในราคาราว 17 บาทต่อปริมาณ 28 มิลลิลิตร แต่ส่งออกไปขายในสหรัฐฯในราคาที่สูงกว่านั้น 8 เท่า อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทยืนยันว่าได้กำหนดให้แต่ละคนนำนมแม่มาส่งขายได้เพียงวันละสองครั้ง และรับเฉพาะนมจากแม่ที่ได้ให้นมลูกของตนเองมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาขั้นต่ำสุดที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยการค้าน้ำนมมารดากับทางบริษัทได้สร้างรายได้เสริมให้กว่า 90 ครอบครัวแล้ว
ดร.อัญชลี พาล์มควิสต์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาการแพทย์จากมหาวิทยาลัยอีลอนในสหรัฐฯระบุว่า การที่หญิงกัมพูชาสามารถขายน้ำนมของตนโดยคิดเงินตามจำนวนมิลลิลิตรที่ผลิตได้ เท่ากับมีแรงกดดันให้ต้องผลิตเพื่อขายให้ได้มาก และมองข้ามความต้องการบริโภคของลูกตนเองไป เพราะมักเข้าใจผิดกันว่ากำลังขายน้ำนมที่เหลือจากลูกกิน ทั้งที่จริงแล้วแม่ส่วนใหญ่ผลิตน้ำนมได้เท่าที่ลูกของตนจะบริโภคเพียงคนเดียวเท่านั้น
แม้ทางการและผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งจะคัดค้านการค้าน้ำนมมารดา แต่บรรดาแม่ลูกอ่อนและนักวิชาการผู้ศึกษาปัญหาสังคมของกัมพูชาอีกส่วนหนึ่งกลับบอกว่า การขายน้ำนมแม่เพื่อส่งออกต่างประเทศเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวที่ยากจน ซึ่งส่วนใหญ่แม่ลูกอ่อนต้องทิ้งลูกไว้ที่บ้านและออกไปทำงานตามโรงงาน หรือหาของจากกองขยะไปขาย ซึ่งก็ได้เงินเพียงน้อยนิด แต่การขายน้ำนมทำให้มีรายได้ตกวันละ 400 บาท โดยสามารถเลี้ยงลูกอยู่กับบ้านได้ด้วย
ศาสตราจารย์อันนุสกา เดิร์กส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาสตรีของกัมพูชาบอกว่า ในสายตาของชาวบ้านกัมพูชาและตามพื้นฐานทางวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว การให้น้ำนมแม่แก่หญิงคนอื่นถือเป็นการให้ความช่วยเหลือที่ช่วยผูกสัมพันธ์แบบเครือญาติให้แน่นแฟ้นขึ้น โดยถือว่าลูกของคนอื่นก็เหมือนกับลูกของตนเองด้วย
ที่มา : bbc
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..
1.ดัด ยืด ทำสีผมระหว่างตั้งครรภ์ อันตรายหรือไม่
2.ท้องแล้วก็สวยได้....วิธี สวยแบบปลอดภัย สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์