โรคที่มากับหน้าฝน ฤดูกาลเปลี่ยนผ่านเข้ามาอีกครา สร้างความชุ่มฉ่ำและความเขียวขจีอีกครั้ง แต่สิ่งที่มากับสายฝนใช่เพียงแค่ความสวยงามเท่านั้นแต่ยังมี “โรคที่มากับฤดูฝน” ตามมาติด ๆ อีกด้วย วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคต่าง ๆ ที่มักจะมาพร้อม ๆ กับหน้าฝนเพื่อให้คุณแม่เตรียมความพร้อมในการป้องกันดูแลรักษาลูกน้อย และสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว

โรคที่มากับหน้าฝน

เมื่อฤดูฝนเข้ามาอากาศจะเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูง การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในลักษณะนี้จะเป็นสาเหตุทำให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่าย และรวดเร็ว ซึ่งโรคที่ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในฤดูนี้ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ และรวมไปถึงโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดนก โรคเยื่อบุตาอักเสบ (ตาแดง) โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และนอกจากนี้ในต่างจังหวัดบางพื้นที่ยังมีการระบาดของโรคฉี่หนู หรือ โรคแลปโตสไปโรซิส และยังมีโรคที่ยุงเป็นพาหะ เช่น ไข้มาลาเรีย โรคไขสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเจอี อีกด้วย

ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้มีการออกประกาศเตือนประชาชนเพื่อป้องกันโรคติดต่อที่มักจะเกิดขึ้นในฤดูฝน จำนวน 5 กลุ่มรวมแล้ว 15 โรคด้วยกันอันได้แก่

กลุ่มที่ 1 กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร

โรคติดต่อของระบบทางเดินอาหารที่มักพบได้บ่อยได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ บิด ซึ่งโรคเหล่านี้เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพ ที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารที่บริเวณลำไส้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีไข้ มีอาการปวดบิดในท้อง หากติดเชื้อบิดอาจมีมูก หรือเลือดปนอุจจาระ นอกจากนี้ เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ และ บี ยังสามารถติดต่อได้จากการรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อโรค โดยผู้ที่มีอาการตับอักเสบจะมีไข้ อ่อนเพลีย ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือดีซ่าน คลื่นไส้อาเจียน ดังนั้นในช่วงฤดูฝนนี้คุณแม่ต้องระมัดระวังให้มากเกี่ยวกับอาหารการกินของคนภายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อยอันเป็นที่รัก และสมาชิกในครอบครัว ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ สะอาด และใช้ช้อนกลาง

กลุ่มที่ 2 โรคติดเชื้อผ้านทางบาดแผล หรือเยื่อบุผิวหนัง

โรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผล หรือเยื่อบุผิวหนังที่มักพบบ่อยในช่วงฤดูฝน คือ โรคแลปโตสไปโรซิส หรือ ไข้ฉี่หนู อาการเด่นก็คือ ผู้ที่ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศรีษะ และมักจะปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่อง โคนขา อย่างรุ่นแรง ตาแดง ประมาณ 5-10% ของผู้ที่ป่วยโรคนี้อาจมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน ไตวาย หรือช็อคได้ โรคนี้มักเกิดในพื้นที่น้ำท่วม ผู้ที่มีบ้านและมีหนูอาศัยอยู่มาก เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน คนงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ปลา โค สุกร หรือผู้ที่ทำงานขุดท่อระบายน้ำ เหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์

กลุ่มที่ 3 โรคระบาดทางเดินหายใจ

โรคระบาดทางเดินหายใจที่มักพบได้บ่อยในฤดูฝนนั้นได้แก่ โรคหวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ หรือปอดบวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ H1N1 ซึ่งเป็นโรคที่ระบาดใหม่ และไข้หวัดนกที่มีแหล่งแพร่ระบาดมาจากสัตว์ปีก เชื้ออาจมีการผสมข้ามสายพันธุ์กับไข้หวัดใหญ่ในคนที่อยู่ในช่วงฤดูฝนได้

กลุ่มที่ 4 โรคติดต่อที่เกิดจากยุง

Sponsored

โรคติดต่อที่เกิดจากยุงนั้นที่สำคัญมี 3 โรคด้วยกันอันได้แก่
1. ไข้เลือดออก โดยจะมียุงลายเป็นพาหะนำโรคกว่าร้อยละ 80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้านซึ่งวางไข่ในน้ำขังตามที่ต่าง ๆ ผู้ป่วยในระยะแรกจะมีอาการเหมือนติดเชื้อไวรัสทั่วไป โดยจะมี อาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดกระดูกมาก มีไข้สูงประมาณ 2-7 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลง พร้อมกับอาจมีอาการเลือกออกผิดปกติ มือเท้าเย็น หรือช็อคได้

  1. ไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis) โดยจะมียุงรำคาญเป็นพาหะ มักแพร่พันธุ์ตามแหล่งน้ำในทุ่งนา ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศรีษะ อาเจียน จากนั้นจะมีอาการซึมลง และ อาจชักได้ ผู้ป่วยอาจถึงขั้นเสียชีวิต หรือพิการหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
  2. โรคไข้มาลาเรีย โดยมีพาหะคือยุงก้นปล่องป่า ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ซีดลง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก หากเป็นชนิดรุนแรงอาจมีอาการไตวาย ปอดผิดปกติ ตับอักเสบ และอาจมีอาการผิดปกติทางสมองซึ่งเรียกว่า มาลาเรียขึ้นสมอง

กลุ่มที่ 5 โรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือ โรคตาแดง

โรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือโรคตาแดงนั้นเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรก และกระเด็นเข้าตา นอกจากนี้ในช่วงฤดูฝนจะต้องระวัง 2 เรื่องนั่นก็คือ ปัญหาน้ำกัดเท้าซึ่งเกิดจากเชื้อราที่มีสาเหตุมาจากการแช่น้ำสกปรกเป็นเวลานาน ๆ ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดง ถ้าเกาหรือมีน้ำเหลืองออก และ อันตรายที่เกิดจากสัตว์มีพิษ อย่างเช่น ตะขาบ แมงป่อง งู ที่หนีน้ำมาอาศัยในบริเวณบ้าน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรระวังอีกประการก็คือ การทานยาลดไข้ เช่น ไม่ควรกินยาในกลุ่มแอสไพรินอย่างเด็ดขาด เพราะมีอันตรายกับบางโรค หรือโรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคฉี่หนู ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้มีเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายอยู่แล้ว หากได้รับยาแอสไพริน ซึ่งมีสารป้องกันเลือดแข็งตัวเข้าไปอีก อาจทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เสียชีวิตได้ และอาจเกิดเป็นกลุ่มอาการไรซินโดรม มีผลต่อทุกอวัยวะในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสมองและตับ อาการที่พบได้แก่ ผู้ป่วยอาเจียนอย่างมาก และมีอาการทางสมอง สับสน มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึม หรือหมดสติ จนอาจเสียชีวิตได้

สำหรับการป้องกันโรคในฤดูฝนนั้น สามารถทำได้โดยการออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะอย่างยังกับเด็กและผู้สูงอายุจำเป็นต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากอากาศมีความชื้นสูง หนาวเย็น จะทำให้ร่างกายมีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนวัยอื่น ๆ นั่นเอง

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.ดัด ยืด ทำสีผมระหว่างตั้งครรภ์ อันตรายหรือไม่

2.ท้องแล้วก็สวยได้....วิธี สวยแบบปลอดภัย สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์