ในสมัยโบราณ การคลอดบุตรจัดว่าเป็นความเจ็บปวดและมีความเสี่ยงมากที่สุดในชีวิตของลูกผู้หญิง และหากคุณแม่ที่มีภาวะคลอดยาก ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อชีวิตของแม่และลูกน้อยในครรภ์มากขึ้นไปอีก ซึ่งในยุคปัจจุบันถึงแม้ทางการแพทย์จะเจริญก้าวหน้าขึ้นมากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีคุณแม่อีกหลายรายที่ประสบกับปัญหาคลอดลูกยาก ซึ่งสาเหตุแท้จริงแล้วเกิดจากอะไร และมีวิธีที่จะป้องกันได้หรือไม่ ต้องไปดูกันเลย
ภาวะคลอดยาก คืออะไร
ภาวะคลอดยาก หรือเรียกอีกอย่างว่าการคลอดลำบาก ซึ่งทางการแพทย์ ได้หมายถึงการคลอดที่มีระยะของการคลอดยาวนานกว่าปกติ ทำให้คลอดทางธรรมชาติไม่ได้ แพทย์จึงจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือช่วยในการคลอดลูก สำหรับระยะเวลา จะนับตั้งแต่การเจ็บครรภ์จริงของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก 20 ชั่วโมง ส่วนคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งที่สองจะนับเวลา12 ชั่วโมง ภายในระยะเวลาดังกล่าวนี้ ถ้ายังไม่คลอดก็ถือว่าเป็นการคลอดยากอาจทำให้เกิดอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก ได้ให้นิยามของคำว่า คลอดยากคือเมื่อแม่เข้าสู่ระยะการคลอดที่เรียกว่าเจ็บครรภ์จริง จะต้องมีการเปิดของปากมดลูกอย่างน้อย 1 เซนติเมตรต่อชั่วโมง แต่ถ้าปากมดลูกไม่เปิด 1 เซนติเมตรต่อชั่วโมง หลังจากที่รอมาแล้วระยะเวลาหนึ่งแพทย์ก็ควรตัดสินใจให้ผ่าตัดคลอด หรือปากมดลูกเปิด 1 เซนติเมตรต่อชั่วโมงแล้ว แต่ส่วนของศีรษะเด็กทารกยังลอยอยู่ ไม่ลดต่ำลงมาเกินกว่า 3 ชั่วโมงสำหรับท้องแรก และ 1.5 ชั่วโมงสำหรับท้องหลังก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์คลอดยากหรือภาวะคลอดยากนั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้เกิด ภาวะคลอดยาก
สำหรับสาเหตุที่ทำให้คุณแม่ประสบกับภาวะคลอดยาก มักจะมีสาเหตุมาจากเรื่องอะไรได้บ้าง มาดูกันเลย
1.แรงบีบตัวของมดลูก
มดลูกมีการหดรัดตัวน้อยกว่าปกติ หรือมดลูกหดรัดตัวแรงมากผิดปกติ ซึ่งมดลูกหดรัดตัวผิดปกติโดยเฉพาะส่วนยอดมดลูกเท่านั้น จึงทำให้ปากมดลูกไม่เปิดขยาย และเกิดภาวะคลอดยากได้
2.ช่องทางคลอดที่ผิดปกติ
ช่องคลอดที่ผิดปกติ ได้แก่ อุ้งเชิงกรานมีสภาพที่แคบจนไม่สามารถทำให้ส่วนศีรษะและช่วงไหล่ของเด็ก ลอดผ่านออกมาได้ หรือในคุณแม่บางรายอาจจะมีปัญหาปากมดลูกตีบ ปากมดลูกบวม หรือมดลูกคว่ำ นอกจากนี้อาจมีปัญหาของตัวคุณแม่ที่มีปัสสาวะเต็มถุงเก็บปัสสาวะ หรือในคุณแม่ที่มีปัญหาท้องผูกอาจจะมีอุจจาระขวางอยู่ในลำไส้จนขัดขวางการคลอดได้
3.ตัวทารก น้ำคร่ำ และรก
ปัญหาที่เกิดจากทารกมีส่วนนำผิดปกติ เช่น ท่าก้น หรือมีส่วนนำเป็นใบหน้า รวมถึงทารกที่มีน้ำหนักมากกว่า 4000 กรัม นอกจากนี้อาจมีทารกที่มีรูปร่างผิดปกติ เช่น ทารกหัวบาตร ซึ่งส่วนศีรษะจะโตมาก ก็ทำให้เกิดการคลอดลูกยาก ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้คลอดลูกยากคือทารกอยู่ในท่าขวาง รกเกาะต่ำ และปัญหาน้ำคร่ำมีน้อยก็ทำให้เกิดภาวะคลอดยากได้ทั้งสิ้น
4.สุขภาพจิตของผู้คลอด
ปัญหาอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์เกิดภาวะคลอดยากคือความกลัว และความวิตกกังวลเกี่ยวกับการคลอด จึงส่งผลให้ ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง รวมถึงความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวน้อยลง และส่งผลให้เกิดภาวะคลอดลูกยากตามมาได้
5.ภาวะสุขภาพร่างกายของผู้คลอด
สำหรับคุณแม่ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง มีอาการอ่อนเพลีย พักผ่อนได้น้อย เนื่องจากการเจ็บครรภ์คลอดในเวลากลางคืน จึงทำให้หมดแรง ประกอบกับการขาดน้ำ นอกจากนี้ในกรณีที่คุณแม่ได้รับอุบัติเหตุ บริเวณกระดูกอุ้งเชิงกราน หรือคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหืด หอบ โรคไต โรคตับ และภาวะความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์จะส่งผลกระทบต่อแรงเบ่งทำให้แรงเบ่งไม่พอที่จะคลอดลูกได้
6.ท่าของผู้คลอด
ท่าคลอดของคุณแม่มีผลต่อแรงหดรัดตัวของมดลูก และแรงเบ่ง รวมถึงขนาดเชิงกราน และการหมุนตัวภายในของทารก ท่าในแนวตรงหรือดิ่ง เช่น ท่ายืน หรือท่านั่งยองๆ สำหรับท่าเดินจะทำให้การหดรัดตัวของมดลูกแรง และช่วยเสริมให้ทารกเคลื่อนต่ำลงด้วย สำหรับท่าคลอดที่แพทย์ในเมืองไทยนิยมใช้คือท่านอนหงาย และพาดขาทั้ง 2 ข้างไว้บนขาหยั่ง อาจทำให้คุณแม่ต้องออกแรงเบ่งมากขึ้น
ป้องกันการคลอดลูกยากได้อย่างไร
สำหรับการป้องกันการคลอดลูกยากมีแนวทางอย่างไรบ้าง มาดูกันเลย
1.ควบคุมน้ำหนักตัว
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรทานอาหารอย่างเหมาะสม ไม่อดอาหารจนร่างกายซูบผอม หรือกินมากจนเกินไป ควรลดปริมาณไขมัน คาร์โบไฮเดรตและของหวาน น้ำหนักตัวในระหว่างตั้งครรภ์ควรขึ้นไม่เกิน 11 กิโลกรัม ถ้าหากทารกน้ำหนักตัวเยอะ ศีรษะจะโต หัวไหล่กว้าง มีผลทำให้คลอดยากได้นั่นเอง
2.ทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ
การคลอดบุตรอาจก่อให้เกิดความกังวล ซึ่งคุณแม่หลายคนอาจจะตื่นเต้น กลัวว่าลูกจะได้รับอันตราย คุณแม่ไม่ควรกังวลมากจนเกินไป เพราะมันจะทำให้รู้สึกเครียดจนทำให้มดลูกหดรัดตัวผิดปกติได้
3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การที่คุณแม่ตั้งครรภ์ออกกำลังกายเป็นประจำจะทำให้กล้ามเนื้อเชิงกรานมีความแข็งแรง กระชับและยืดหยุ่นได้ดี ทำให้เวลาคลอดจะส่งผลให้คลอดได้ง่ายมากขึ้น และหลังคลอดจะฟื้นตัวได้ไวอีกด้วย
การคลอดบุตรของคุณแม่ในยุคนี้ ส่วนใหญ่จะนิยมให้คุณหมอผ่าตัดคลอด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาคลอดลูกยาก แต่ก็ยังมีคุณแม่อีกหลายรายเหมือนกัน ที่ยังคงนิยมคลอดแบบธรรมชาติ เพื่อให้การคลอดเป็นไปได้ตามปกติ หมดปัญหาเรื่องคลอดลูกยาก คุณแม่ที่เตรียมตั้งครรภ์หากอยากจะคลอดธรรมชาติ ที่ไม่ต้องเสี่ยงภาวะคลอดยาก ควรทำตามคำแนะนำที่ให้ไว้ในบทความนี้ได้เลย
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่