เด็กปฐมวัยนั้น ควรได้รับการส่งเสริมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก โดยผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น และเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในขั้นต่อไป ดังนั้นมาดูกันสิว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง ที่จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อของเด็กๆ ได้ โดยมี 6 กิจกรรมที่แนะนำดังนี้
การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก สำคัญอย่างไร
การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กนั้น ก็เพื่อประโยชน์ต่อตัวเด็กเอง ซึ่งพ่อแม่ควรส่งเสริม เพราะกล้ามเนื้อที่เป็นมัดเล็กนั้นมีความสำคัญดังต่อไปนี้
1.เตรียมพร้อมในการเขียน
เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรง จะทำให้เด็กควบคุมการใช้มือและแขนได้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีการประสานระหว่างมือและตาที่ดี จะทำให้ลูกมีความพร้อมที่จะเขียนเมื่อเข้าสู่วัยเรียนนั่นเอง
2.เตรียมพร้อมในการอ่าน
พัฒนาการที่ดีของกล้ามเนื้อมัดเล็ก นอกจากจะทำให้เด็กพร้อมที่จะเขียนแล้ว ยังส่งผลทำให้ลูกน้อยสามารถใช้สายตาในการมองและอ่านตัวอักษรจากซ้ายไปขวา และหยิบจับหนังสือได้อย่างคล่องแคล่วขึ้นด้วย
3.ส่งเสริมจินตนาการ
การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ด้วยการให้เด็กได้ทำงานศิลปะประดิษฐ์ต่างๆ ทั้งการตัดและพับกระดาษ ปั้นดินน้ำมัน และระบายสีภาพวาดนั้น จะช่วยกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรรค์และจินตนาการในการทำงานทั้งสิ้น
4.มีความคิดว่องไว
สมองนั้นจะทำงาน เมื่อกล้ามเนื้อมีการเคลื่อนไหว ซึ่งทั้ง 2 สิ่งมีความสัมพันธ์กัน โดยเด็กที่ได้ฝึกฝนกล้ามเนื้อมัดเล็กอยู่เสมอ จะคิดได้เร็ว ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับเด็กที่ไม่ค่อยได้ใช้กล้ามเนื้อแล้ว จะเห็นว่าสมองของเขาจะคิดได้ช้ากว่า
5.รู้จักช่วยเหลือตนเองและเข้าสังคม
เมื่อเด็กสามารถพัฒนากล้ามเนื้อมือและและตาให้สัมพันธ์กันได้อย่างดีแล้ว จะช่วยให้เด็กๆ หยิบจับสิ่งต่างๆ ได้มั่นคงขึ้น จึงพร้อมที่จะช่วยเหลือตัวเอง เช่นกิน ข้าว แปรงฟัน ถือสิ่งของ ไปจนกระทั่งพร้อมที่จะออกไปสำรวจสิ่งใหม่ๆ รอบตัว และเข้าร่วมทำกิจกรรมกับผู้อื่นได้
6 กิจกรรม พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก
กิจกรรมที่ใช้เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กนั้น จะช่วยให้เด็กๆ ใช้กล้ามเนื้อได้คล่องแคล่วขึ้น โดยแนะนำ 6 กิจกรรมดังนี้
1.กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์
การสร้างผลงานทางศิลปะนั้น สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการปั้น ระบายสี หรือแม้แต่การนำเศษวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์ขึ้นเป็นชิ้นงานใหม่ๆ โดยงานปั้นนั้น มีการใช้วัสดุเพื่อปั้นเป็นชิ้นงานที่หลากหลายทั้งจากแป้งโดว์ ดินน้ำมัน และดินเหนียว ส่วนการวาดภาพระบายสี ก็มีให้เลือกทั้งจากสีเทียน สีไม้ สีน้ำ สีโปสเตอร์ นอกจากนี้ศิลปะอาจเกิดขึ้นได้จากกระดาษที่นำมาฉีก ตัด พับ ปะ และขยำ ส่วนการประดิษฐ์ก็ก่อให้เกิดชิ้นงานใหม่ขึ้น เช่น รถลาก ตุ๊กตา หุ่นนิ้ว เป็นต้น แต่ทั้งนี้คุณแม่ต้องเลือกใช้อุปกรณ์ที่จะนำมาทำงานศิลปะให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละวัย ซึ่งเด็กเล็กนั้นอาจเหมาะกับการปั้นแป้งโดว์ และใช้สีเทียนมากกว่า ในขณะที่ เด็กโตจะสามารถใช้ดินน้ำมัน สีไม้ หรือสีโปสเตอร์ ได้เก่งขึ้น
2.กิจกรรมกลางแจ้ง
โดยธรรมชาติแล้ว เด็กๆ มักชอบวิ่งเล่น ยิ่งมีพื้นดินหรือพื้นทรายโล่งๆ เด็กๆ จะชอบมาก ดังนั้นเพื่อส่งเสริมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เราจึงต้องจัดหาอุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น หาอุปกรณ์ที่เล่นกับทราย ไม่ว่าจะเป็นที่ตักทราย หรือไม้ไว้ขีดเขียนบนทราย นอกจากนี้การละเล่นพื้นบ้านในอดีตก็ช่วยส่งเสริมกล้ามเนื้อได้อย่างดี เช่น การโยนห่วงยาง การเล่นหมากเก็บ และการทอยลูกสะบ้า เป็นต้น รวมทั้งเกมพลศึกษา เช่นการโยนลูกบอลลงตะกร้า การคีบลูกปิงปองด้วยไม้ตะเกียบ เกมขี่ม้าส่งเมือง กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อเด็กทั้งสิ้น
3.กิจกรรมเสริมประสบการณ์
กิจกรรมนี้ช่วยให้เด็กมีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมที่คุณแม่ถนัดอย่างการทำอาหารก็สามารถช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กได้ โดยให้คุณแม่ชวนลูกทำเมนูต่างๆ เช่น ปั้นแป้งทำบัวลอย ใช้มีดพลาสติกหั่นผักผลไม้ทำสลัด นอกจากนี้ กิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็ดูน่าสนใจไม่น้อย เช่น การทดลองเป่าฟองสบู่ การทดลองหมุดลอยน้ำ การสัมผัสวัสดุที่อยู่ในกล่องทึบ รวมทั้งการได้พาลูกออกไปสัมผัสกับโลกภายนอก เช่น พาออกไปเดินเล่นในสวน แล้วให้สำรวจมดและแมลงต่างๆ ด้วยแว่นขยาย หรือการจับสัมผัสกับใบไม้แต่ละต้นให้เห็นถึงความแตกต่างเรื่องผิวสัมผัส โดยกิจกรรมเสริมพัฒนาการเหล่านี้มักดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ได้อย่างดีทีเดียว
4.กิจกรรมเล่นตามมุม
คุณแม่สามารถจัดห้องๆ หนึ่งขึ้นมา แล้วจัดให้แต่ละมุม มีอุปกรณ์ที่ช่วยฝึกกล้ามเนื้อในส่วนมัดเล็กได้ โดยกิจกรรมที่เล่นตามมุมนี้ จะทำให้เด็กมีอิสระในการเลือกเล่นเอง เช่น มุมเครื่องเล่นสัมผัส จะมีอุปกรณ์การร้อยลูกปัด การเย็บกระดุม รูดซิป ปักหมุด หยอดบล็อก หรือมุมดนตรี ให้เด็กๆ ได้ดีด สี ตี เป่ากับเครื่องดนตรีต่างๆ หรือมุมบทบาทสมมุติ ให้เด็กๆ ได้เป็นหมอ เพื่อใช้เครื่องมือวัดไข้ เข็มฉีดยา รวมทั้งอาจมีเสื้อผ้าให้ใส่เพื่อความสมบทบาทอีกด้วย และมุมช่างไม้ ที่มีอุปกรณ์ของช่างไม้ให้เด็กๆ ได้ตอกตะปู สร้างบ้าน เป็นต้น
5.กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ
กิจกรรมนี้จะใช้เสียงเพลงเพื่อให้เข้ากับจังหวะการเคลื่อนไหวของมือและนิ้วมือ เช่น เพลงแมงมุม เพลงโรงเรียนของเรา เพลงรถไฟ เพลงนิ้วโป้งอยู่ไหน เป็นต้น โดยกิจกรรมนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อของเด็กๆ มีความคล่องแคล่วขึ้นนั่นเอง
6.กิจกรรมเกมการศึกษา
กิจกรรมนี้ไม่เพียงแค่ฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อ แต่ยังฝึกการประสานกันระหว่างมือและตาด้วย เช่น การเล่นจับภาพคู่เหมือน การจับภาพสิ่งของที่ใช้คุู่กัน การจับคู่ภาพกับคำ การเรียงลำดับภาพ และเกมโดมิโน เป็นต้น
กิจกรรมที่ช่วยให้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กแข็งแรงขึ้น และยังไม่ทำให้คุณแม่ต้องสิ้นเปลืองเงิน เพื่อหาซื้อของเล่น แถมทำได้ทันทีที่บ้าน คือให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการทำงานบ้าน เช่น กวาด ถูบ้าน ล้างจาน ปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ นั่นเอง ดังนั้นมาชวนลูกทำสิ่งเหล่านี้เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กกันเถอะ
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่