โรคเอ๋อในทารกนั้น ถือเป็นโรคที่รุนแรงเพราะส่งผลต่อพัฒนาการทางทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญา ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ สามารถส่งผลให้เด็กพิการตั้งแต่กำเนิด และเสียชีวิตได้ โดยมีอะไรที่เป็นสาเหตุของโรคบ้าง วันนี้เราจะมาไขคำตอบกัน พร้อมกับแนวทางรวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดอาการดังกล่าวนี้นั่นเอง
โรคเอ๋อในทารก เกิดจากอะไร
โรคเอ๋อเกิดจากสาเหตุใด มีสาเหตุมาจากการขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งอาจเกิดจากตัวทารกเองที่ไม่มีต่อมไทรอยด์มาตั้งแต่กำเนิด หรือต่อมไทรอยด์นั้นทำงานผิดปกติ จึงไม่สามารถผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนได้ และอาจเกิดขึ้นในระหว่างคุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อร่างกายของแม่อยู่ในภาวะขาดสารไอโอดีน ทำให้ทารกที่คลอดมามีภาวะไทรอยฮอร์โมนต่ำตั้งแต่แรกเกิด โดยไทรอยด์ฮอร์โมนนั้นมีความสำคัญต่อระบบประสาท และระบบอื่นๆ ภายในร่างกาย ซึ่งถ้าขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ย่อมส่งผลทำให้ระบบการทำงานของสมองผิดปกติ และถ้าไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เด็กเป็นปัญญาอ่อน มีพัฒนาการที่ล่าช้า กลายเป็นเด็กพิการและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในที่สุด
อาการโรคเอ๋อ เป็นอย่างไร
ในช่วงแรกคลอด คุณแม่อาจไม่ทันสังเกตถึงความผิดปกติของทารก เนื่องจากทารกได้รับไทรอยด์ฮอร์โมนจากแม่ขณะที่อยู่ในครรภ์ แต่หลังจากนั้น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน จะปรากฎให้เห็น โดยคุณแม่สามารถสังเกตอาการที่แสดงว่าเป็นโรคเอ๋อในทารก ได้ดังต่อไปนี้
1. ทารกเอาแต่นอน คุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าลูกดูเซื่องซึม เฉื่อยชา และนอนมากกว่าปกติ จากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนที่ทำให้ทารกไม่ค่อยตื่นตัว
2. ไม่กินนม การที่ไทรอยด์ทำงานน้อย ส่งผลทำให้ทารกไม่ค่อยอยากอาหาร
3. ทารกมีอาการท้องอืด คุณแม่จะเห็นว่าลูกมีอาการท้องอืด หรือท้องผูกอยู่บ่อย เนื่องจากมีระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ
4. ตัวเหลืองนาน โดยปกติแล้วทารกหลังคลอด ถ้าไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย ภาวะตัวเหลืองจะค่อยๆหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าเด็กเป็นโรคเอ๋อ จะมีอาการตัวเหลืองนานกว่าปกติ
5. สะดือจุ๋น อาการสะดือจุ๋นเป็นอีกสัญญาณเตือนหนึ่งที่บ่งบอกการเป็นโรคเอ๋อ
6. ไม่ค่อยร้อง ทารกจะไม่ค่อยส่งเสียงร้อง หรือเสียงที่ร้องออกมาจะเป็นเสียงแหบๆ
7. ลิ้นจุกปาก ทารกจะมีลิ้นที่ดูใหญ่คับปาก
8. ผิวแห้งและเย็น เนื่องจากไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ จึงส่งผลทำให้ผิวของลูกดูแห้งและหยาบกร้าน
9. กระหม่อมปิดช้า ทารกปกตินั้น กระหม่อนหลังจะปิดเมื่อมีอายุได้ 6 เดือนขึ้นไป ส่วนกระหม่อนหน้าจะปิดเมื่อทารกมีอายุตั้งแต่ 12-18 เดือน ซึ่งลักษณะของกระหม่อมที่ปิดช้า เป็นอาการหนึ่งของเด็กที่ขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
10. ร่างกายพัฒนาช้า ทารกจะมีร่างกายที่แคระเกร็น เพราะกระดูกเติบโตช้า ทำให้ตัวเตี้ย
11. พัฒนาการด้านอื่นๆช้า การเรียนรู้ของลูกในด้านอื่นๆ เมื่อเทียบกับเด็กปกติในวัยเดียวกัน เด็กที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำจะเรียนรู้ได้ช้ากว่า
โรคเอ๋อป้องกันได้หรือไม่
ทารกแรกเกิดควรได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพ เพื่อป้องกันการเป็นโรคเอ๋อ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกที่สมองมีการเจริญเติบโตมากที่สุด ดังนั้นเด็กที่พบว่ามีภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ถ้าเข้ารับการรักษาภายในช่วง 1-3 เดือนก็จะมีโอกาสหายเป็นปกติได้ แต่ถ้าหลังจาก 3 เดือนไปแล้ว เด็กก็จะมีโอกาสพิการทางสมองหรือเป็นเด็กปัญญาอ่อนได้สูงถึง 80% เลยทีเดียว ดังนั้น การป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคเอ๋อนั้น สามารถทำได้ ดังต่อไปนี้
1. ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์
เมื่อคุณแม่วางแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ และตรวจร่างกาย เพื่อให้แพทย์ได้ทราบประวัติสุขภาพของคุณแม่ก่อน เช่นดูโรคกรรมพันธุ์ โรคเบาหวาน ไทรอยด์ ความดันโลหิต ซึ่งโรคเหล่านี้อาจส่งผลในขณะที่ตั้งครรภ์ จึงจำเป็นที่แพทย์ต้องให้ยาหรือการดูแลอย่างเหมาะสม ดังนั้นการตรวจสุขภาพก่อนที่จะมีบุตรนั้น จะช่วยป้องกันการเกิดโรคเอ๋อในทารกได้
2. เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์
ในขณะตั้งครรภ์คุณแม่ควรกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคเอ๋อ ควรทานอาหารที่อุดมไปด้วยไอโอดีน เช่นปลาทะเล สาหร่าย ซึ่งถ้าไม่สามารถหาปลาทะเลกินได้ ก็ควรหาซื้อเกลือไอโอดีนมาปรุงอาหาร เพื่อทดแทนสารอาหารที่ได้จากอาหารทะเล โดยแม่ท้องนั้น ต้องการสารไอโอดีนประมาณวันละ 175 - 200 ไมโครกรัม
3. ดูแลตัวเองหลังคลอด
หลังคลอดแล้ว การเลือกทานอาหารก็ยังสำคัญ เพราะส่งผลต่อน้ำนมด้วย ซึ่งขณะให้นมลูกนั้น ร่างกายของแม่ก็ยังต้องการสารไอโอดีนต่อวัน 175-200 ไมโครกรัม เช่นเดียวกับขณะตั้งครรภ์ และ เพื่อให้เพียงพอกับทารกที่ควรได้รับ สารไอโอดีนประมาณวันละ 40 - 90 ไมโครกรัม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเอ๋อในทารก
4. พบแพทย์เมื่อพบความผิดปกติ
หลังคลอด ควรให้ลูกได้ตรวจสุขภาพ เพื่อคัดกรองโรคเอ๋อในทารก และถ้าสงสัย หรือพบว่าลูกมีอาการผิดปกติ เข้าข่ายอาการของโรคเอ๋อ คุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ โดยควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ เพราะการรักษาในช่วงแรกๆ หรือภายในอาทิตย์แรกหลังลูกคลอด จะได้ผลที่ดีที่สุด และทำให้หายขาด แต่ถ้าปล่อยไว้นาน อาการของโรคอาจส่งผลต่อระดับสติปัญญาหรือ IQ ของทารกได้ในภายหลัง
การมีลูกสักหนึ่งคน ต้องอาศัยการทุ่มเท และดูแล โดยเริ่มจากการดูแลสุขภาพของแม่ก่อน ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จนกระทั่งถึงช่วงในนมลูก เลี้ยงลูก ซึ่งความรักและความเอาใจใส่ดูแลลูกอย่างดี ทั้งจากพ่อแม่และครอบครัว จะช่วยให้ทารกน้อยนั้นสามารถปลอดภัยจากโรคเอ๋อในทารกได้
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่