อาการโคลิก มักพบบ่อยในทารกแรกเกิด ที่มีอายุ 2-3สัปดาห์ ไปจนถึง 3-4 เดือน เด็กมักมีอาการร้องไห้ไม่หยุดโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน โดยทำวิธีไหน เด็กก็ไม่หยุดร้องเสียที ทำให้พ่อแม่หลายคนเป็นกังวลว่าลูกเป็นอะไรกันแน่ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการโคลิกนั้น เป็นเพราะอะไร แล้วร้องแบบไหนที่เข้าข่ายอาการโคลิก วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกัน

สาเหตุของอาการโคลิก

สาเหตุของอาการโคลิกนั้น ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่อาจเกิดจากหลายปัจจัยดังต่อไปนี้

1. พื้นฐานอารมณ์เด็กเป็นคนเลี้ยงยาก

เด็กแต่ละคนที่พื้นฐานทางอารมณ์ที่แตกต่างกัน โดยเด็กที่เลี้ยงยาก มักปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ยากกว่า และตอบสนองกับสิ่งแวดล้อมได้ไม่ดี เช่นเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ โวยวาย กินยาก นอนยาก เป็นต้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับนิสัยของเด็กแต่ละคน

2. ระบบย่อยอาหารยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์

ระบบการย่อยและการดูดซึมอาหารของทารกทำงานยังทำงานได้ช้า และเมื่อจุลินทรีย์ในลำไส้ไม่สมดุล ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร เด็กจึงเกิดอาการท้องอืด ส่งผลให้เด็กไม่สบายตัว จึงร้องไห้โยเย ดังนั้นควรให้ลูกได้รับนมแม่ ซึ่งมีสารอาหารที่ย่อยง่ายกว่านมผง รวมทั้งต้องระวังไม่ให้ลูกกินนมมากจนเกินไปด้วย

3. ปัญหาสุขภาพของทารก

เด็กบางคนเกิดมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพต่างๆเช่น เป็นโรคกรดไหลย้อน หูอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ไส้เลื่อน แพ้นมวัว ผื่นผ้าอ้อม รวมทั้งการได้รับอุบัติเหตุต่างๆ เช่น กระดูกหัก แผลที่ตาดำ แมลงเข้าไปในหู โดยปัญหาเหล่านี้ส่งผลทำให้เด็กร้องไห้งอแงมากกว่าปกติ ดังนั้นการดูแลทารกอย่างใกล้ชิด จะทำให้รู้สาเหตุของปัญหาที่ทำให้เกิดอาการโคลิก และเมื่อได้รับการรักษาแล้ว อาการโคลิกก็จะดีขึ้น

4. การถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก

การถูกกระตุ้นจากแสงสว่างที่จ้า หรือเสียงที่ดังจนเกินไป โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เด็กต้องการนอนพักผ่อน ส่งผลทำให้ลูกไม่สามารถนอนหลับได้อย่างปกติ แต่กลับทำให้ร้องไห้งอแงมากกว่าเดิม ดังนั้นคุณแม่จำเป็นต้องจัดหาที่นอนให้เหมาะสม มืด สงบเงียบ และภายในห้องควรมีอุณหภูมิที่เหมาะสม อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก

5. ความกังวลของผู้เลี้ยงดู

คุณแม่มือใหม่ที่ขาดความชำนาญในการดูแลเด็ก หรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว อาจมีความวิตกกังวลในการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะถ้าต้องดูแลเด็กอยู่คนเดียวตลอดเวลา อาจทำให้เกิดความเครียด จนเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดลูกได้ ซึ่งอารมณ์เหล่านี้ยังส่งผลต่อทารกด้วย ทำให้มีอาการโคลิกมากขึ้น ดังนั้นคุณแม่จึงจำเป็นต้องดูแลสุขภาพกายและจิตใจของตนเองด้วย

วิธีสังเกต ลูกน้อยเป็นโคลิกหรือไม่

อาการโคลิกจริงๆแล้ว ไม่นับว่าเป็นอันตรายใดๆ โดยเมื่อทารกแรกเกิดปรับตัวเข้าสู่โลกภายนอกได้ อาการก็จะดีขึ้นและหายไป ยกเว้นเสียแต่ มีสาเหตุจากความเจ็บป่วย ซึ่งหลังเข้ารับการรักษาอาการโคลิกของทารกก็จะดีขึ้นเช่นกัน ส่วนจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นโคลิกหรือไม่ เรามีวิธีการสังเกตดังต่อไปนี้

1. ลูกร้องไห้นานเกินไป

อาการที่สามารถสังเกตได้อย่างแรกว่า ลูกอาจเป็นโคลิก คือลูกร้องไม่หยุด โดยเด็กใน 3เดือนแรก จะเป็นช่วงที่ร้องไห้มากที่สุด ซึ่งอาการที่เข้าข่ายว่าจะเป็นโคลิก คือการร้องไห้ติดต่อกันนานกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์และเป็นนานเกิน 3 สัปดาห์ ซึ่งอาการนี้เริ่มขึ้นเมื่อมีอายุได้ประมาณ 2สัปดาห์ และอาการจะค่อยๆดีขึ้นหลังจากมีอายุ 4 เดือนขึ้นไป

2. ร้องไห้ในช่วงเวลาเดิมๆ

ทารกที่เป็นโคลิก มักจะร้องไห้ในช่วงเวลาเดิมๆ เป็นประจำ ซึ่งพบว่าช่วงที่เด็กจะร้องไห้บ่อยๆนั้น คือช่วงเย็นหรืองช่วงหัวค่ำนั่นเอง แต่บางคนก็อาจตื่นขึ้นมาร้องไห้กลางดึก แต่ก็เป็นเวลาเดิมๆเช่นกัน

Sponsored

3. ลูกร้องไห้อย่างรุนแรง

อาการโคลิก ส่งผลให้ลูกร้องไห้อย่างมาก ทั้งที่ก็ดูสุขภาพดีและสามารถกินได้ตามปกติ โดยอาการที่แสดงว่าร้องไห้อย่างรุนแรง เช่น ร้องแผดเสียง ร้องจนหน้าดำหน้าแดง กำหมัดแน่น ขางอเข้าหาหน้าท้อง จนทำให้พ่อแม่รู้สึกกังวลกับการแสดงออกของลูกเช่นนี้

4. ลูกอารมณ์หงุดหงิดกว่าปกติ

นอกจากร้องไห้แล้ว อีกอาการที่คุณแม่สามารถสังเกตได้คือ เด็กจะมีอารมณ์ที่หงุดหงิดกว่าปกติ ซึ่งอาการนี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่นมีแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไป ทำให้ไม่สบายตัว หรือการที่เด็กง่วงนอนมากๆแต่ไม่สามารถข่มตาให้หลับได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ทั้งเสียงที่ดังและแสงที่สว่างจ้าในช่วงกลางวัน

5. ไม่สามารถปลอบให้หยุดได้

โดยปกติแล้ว เมื่อทารกร้องไห้อาจบ่งบอกถึงความหิว ความไม่สบายตัวจากความชื้นแฉะจากผ้าอ้อม หรือเกิดอาการท้องอืด ซึ่งถ้าผู้เลี้ยงได้ตอบสนองอย่างถูกต้อง ทั้งให้นม เปลี่ยนผ้าอ้อม ไล่ลมในท้อง และพาเข้านอน ทารกก็จะเงียบเสียงไปเอง แต่เด็กที่เป็นโคลิกจะปลอบยังไงก็ไม่ยอมหยุดร้องง่ายๆ

การร้องไห้ของทารกติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ถ้าทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเป็นกังวล ก็สามารถที่จะปรึกษาแพทย์ได้ เพราะอาการโคลิกที่มีสาเหตุจากความเจ็บป่วย อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ส่วนอาการโคลิกของเด็กที่มีร่างกายปกติ ก็จะดีขึ้นเอง หลังจากที่ระบบร่างกายของทารกทำงานได้ดีขึ้น หรือเมื่อทารกมีอายุได้ประมาณ 3 เดือนขึ้นไปแต่ถ้าหลังจาก 5 เดือนแล้ว เด็กยังร้องไห้มากอยู่ ก็ควรพาไปพบแพทย์เพื่อหาถึงสาเหตุของความผิดปกตินี้

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่ https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about growing up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.8 วิธีให้ อาหารลูกน้อย กินแล้วสุขภาพดี

2.เริ่ม อาหารเสริมลูกน้อย อย่างไรให้ปลอดภัย