คุณแม่คนไหนที่ให้ลูกดื่มนมแม่มักจะมีข้อสงสัยถึงน้ำนมใส ที่ไหลออกมาในช่วงแรกของการให้นม คุณแม่หลายคนอาจเกิดความกังวลจนถึงขั้นบีบน้ำนมทิ้งก่อนที่จะให้ลูกดื่มกิน เพราะคิดว่าไม่มีประโยชน์ ซึ่งแท้จริงแล้วน้ำนมสีใสเกิดจากอะไร และจะมีประโยชน์กับลูกน้อยหรือไม่ เรามีคำตอบมาบอกให้รู้กันแล้ว
น้ำนมใส เกิดจากอะไร
ทำไมคุณแม่จึงมีน้ำนมใส มีสาเหตุเกิดจากอะไร น้ำนมแม่ ที่ลูกๆ ทุกคนได้ดื่มกินจากอกคุณแม่มีที่มา และกระบวนการที่ผลิตซับซ้อนอย่างไรบ้าง ซึ่งโดยธรรมชาตินั้นน้ำนมแม่สามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือน้ำนมส่วนหน้าและน้ำนมส่วนหลัง เมื่อคุณแม่ให้นมในช่วงแรกๆ หลังจากคลอดลูก จะพบว่าน้ำนมคุณแม่ที่ไหลออกมามีลักษณะใสเหมือนน้ำมะพร้าว หรือบางครั้งสีอาจใสเหมือนน้ำซาวข้าวจางๆ ซึ่งเป็นน้ำนมส่วนหน้าหรือน้ำนมใส จนทำให้คุณแม่อาจกังวลว่าเมื่อลูกน้อยกินแล้วอาจจะไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ แต่แท้จริงแล้วน้ำนมส่วนหน้าที่ใสก็มีประโยชน์ต่อลูกน้อยมากเช่นกัน เนื่องจากน้ำนมใสมีน้ำเป็นองค์ประกอบมากถึง 80 เปอร์เซ็น และมีไขมันอยู่น้อย แต่มีแลคโตสที่เป็นประโยชน์ต่อลูก ให้พลังงานต่อสมอง และมีสารอาหารสำคัญอื่นๆ อีกมากมายเลยทีเดียว
นมแม่เป็นสีใส มีประโยชน์ต่อลูกอย่างไร
น้ำนมใสซึ่งเป็นน้ำนมแม่ส่วนหน้า คุณแม่สามารถปั๊มแล้วเก็บแยกไว้ต่างหากได้เลย เพราะมีประโยชน์ต่อลูกน้อยดังนี้
1.ช่วยดับกระหาย
หลังจากลูกน้อยนอนหลับมาหลายชั่วโมง เมื่อถึงเวลาให้นมลูก การที่ลูกน้อยได้กินน้ำนมใสจะช่วยให้ชุ่มคอ ดับกระหาย และช่วยให้สดชื่นเหมือนการดื่มน้ำ แต่น้ำนมใสมีสารอาหารมากกว่าน้ำมาก
2.น้ำตาลแลคโตส ที่ช่วยพัฒนาสมอง
ในน้ำนมที่เป็นสีใสจะมีน้ำตาลแลคโตสสูง ซึ่งช่วยในการพัฒนาสมองได้ดี เนื่องจากสมองและระบบประสาทส่วนกลางจำเป็นต้องใช้น้ำตาลแลคโตสเป็นจำนวนมาก
3.ป้องกันโรคเกี่ยวกับลำไส้
ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายของทารก ทั้งยังช่วยดูดซึมแคลเซียม และ ธาตุเหล็กด้วย นอกจากนี้ในน้ำนมใสมีจุลินทรีย์ชนิดดี ที่ช่วยป้องกันอาการลำไส้แปรปรวน และแก้อาการท้องผูกได้
น้ำนมแม่สีไหนบอกอะไรได้บ้าง
หลังจากคุณแม่ได้ให้นมลูกไประยะหนึ่งแล้ว บางครั้งอาจพบว่านมแม่มีการเปลี่ยนแปลงของสีน้ำนม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสีต่างๆ ได้ โดยหลังจากน้ำนมเหลืองผลิตออกมา ประมาณ 3 วันหลังคลอด น้ำนมแม่จะเริ่มเปลี่ยนจากสีเหลือง เป็นสีขาว แต่ก็มีคุณแม่หลายรายที่อาจพบว่าน้ำนมเปลี่ยนเป็นสีอื่นๆ ในช่วงต่อมาได้ มาดูการเปลี่ยนแปลงของสีน้ำนมคุณแม่กันว่าสามารถเปลี่ยนเป็นสีอะไรได้บ้าง และที่มาของนมแต่ละสีนั้นเกิดจากอะไร
1.น้ำนมแม่สีเหลือง (Colostrum)
น้ำนมเหลืองจะเกิดขึ้นเฉพาะช่วงแรกหลังคลอด ซึ่งเป็นน้ำนมของแม่ที่ถูกผลิตออกมาครั้งแรกและมีไม่มาก น้ำนมเหลืองจึงมีความสำคัญ เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญหลายชนิด มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย ส่วนสีของน้ำนมเหลืองอาจจะมีลักษณะที่ใส ปนสีเหลือง สีเหลืองข้น หรือในคุณแม่บางรายอาจมีสีออกส้มระเรื่อก็ได้ คุณแม่ควรให้ลูกน้อยได้กินนมสีเหลืองในช่วงแรกนี้
2.น้ำนมแม่สีเขียว
หลังจากคุณแม่ให้ลูกดูดนมมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เมื่อลองสังเกตุสีของน้ำนมกลับพบว่าน้ำนมมีสีเขียว คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจให้ลูกกินนมต่อได้ ซึ่งการเกิดน้ำนมสีเขียว เกิดจากการที่คุณแม่กินอาหารที่มีสีเขียวเป็นจำนวนมากจากผักใบสีเขียวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผักคะน้า ผักโขม บล๊อกโคลี่ สาหร่าย และผักตำลึง
3.น้ำนมแม่สีชมพู สีส้ม และแดง
หากคุณแม่มีน้ำนมเป็นสีชมพู สีส้ม หรืออาจเป็นสีแดง ส่วนใหญ่เกิดจากการกินอาหารที่มีสีส้ม แดง หลายชนิด เช่น บีทรูท แครอท น้ำส้ม มะม่วงสุก และมะละกอ หรือคุณแม่บางรายอาจกินอาหารที่แต่งสี ก็ทำให้น้ำนมเปลี่ยนสีได้
4.น้ำนมแม่สีน้ำตาล สีสนิม หรือสีแดงแบบมีเลือดปน
สำหรับคุณแม่ที่มีสีน้ำนมออกเป็นสีน้ำตาล หรือคล้ายสีสนิม ก็มีสาเหตุมาจากการมีเลือดปนอยู่ในน้ำนม ส่วนใหญ่เกิดจากคุณแม่ที่มีปัญหาหัวนมแตก ท่อน้ำนมอักเสบ เส้นเลือดฝอยแตก จนทำให้เลือดไหลปนออกมากับน้ำนมได้ หากคุณแม่มีอาการแบบนี้ และไม่มีอาการเจ็บปวดบวมบริเวณเต้านม ก็คงให้ลูกดูดนมต่อไปได้ไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยแต่อย่างใด เมื่อลูกดูดไปสักระยะหนึ่งก็จะดีขึ้น แต่หากลูกดูดนมหลายวันแล้ว สีน้ำนมยังคงเป็นสีสนิมและกลับมีความเข้มข้นมากขึ้น อีกทั้งมีอาการเจ็บปวดระบมเต้านม ก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดจากการอักเสบบริเวณท่อน้ำนมก็ได้
5.น้ำนมแม่สีดำ
เมื่อคุณแม่มีสีน้ำนมเป็นสีดำ หากคุณแม่กินยาปฏิชีวนะ Minocycline จะส่งผลให้สีของน้ำนมแม่มีสีออกดำขึ้นได้ โดยทั่วไปแล้วยานี้จะไม่เหมาะกับคุณแม่ช่วงให้นม ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยาชนิดนี้ก็ควรจะแจ้งให้แพทย์ทราบ และควรงดเว้นการให้ลูกดื่มนมจนกว่าจะรักษาอาการที่เป็นอยู่ให้หายเป็นปกติ แล้วค่อยกลับมาให้ลูกดูดนมอีกครั้ง
การให้นมลูกไม่ว่าจะเป็นช่วงที่น้ำนมใส น้ำนมปกติ หรือน้ำนมมีสีอื่นๆ คุณแม่สามารถให้ลูกดูดกินนมจนเกลี้ยงเต้า และสลับข้างที่เหลือทุกครั้ง หากไม่มั่นใจว่าลูกดูดเกลี้ยงเต้าหรือไม่ ก็ให้คุณแม่จัดการปั๊มออกให้หมด โปรดจำไว้เสมอว่าการนำน้ำนมออกจากเต้ามากเท่าใด จำนวนน้ำนมที่จะผลิตเพิ่มก็จะมีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น หากคุณแม่ทำได้ดังนี้จะมีน้ำนมให้ลูกดื่มอย่างเพียงพอแน่นอน
= = = = = = = = = = =