ในช่วงตั้งแรกคลอดจนถึง 6 เดือนนั้น เป็นช่วงที่ทารกจะมีพัฒนาการในการเจริญเติบโตในหลาย ๆ ด้าน ถ้าหากว่าในช่วงนี้คุณแม่มีการส่งเสริม พัฒนาการลูก 6 เดือน อย่างครบถ้วน ก็จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น มาดูกันว่ามีพัฒนาการใดบ้างที่จะสามารถพบเห็นได้ในเด็กวัย 6 เดือน แล้วคุณแม่จะมีส่วนกระตุ้นพัฒนาการเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง ?
พัฒนาการลูก 6 เดือน และการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก
พัฒนาการของเด็กวัย 6 เดือนจะเป็นอย่างไร และคุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้อย่างไรบ้าง มาดูข้อมูลกันเลย
1.พัฒนาการด้านการสื่อสาร
สังเกตดูว่า เด็กอายุ 6 เดือน เริ่มจะมีการเปล่งเสียงออกมาบ้างแล้ว โดยเสียงนั้นอาจจะเป็นเสียงธรรมดาที่ไม่มีความหมาย เช่น ปา ดา อา หรืออาจจะเป็นเสียงที่บ่งบอกความต้องการอะไรบางอย่างก็เป็นได้ นอกจากนี้ ยังอาจพบการหันศีรษะตามการเรียกชื่อบ้างเป็นบางครั้ง เพราะฉะนั้น คุณแม่จึงควรเสริมพัฒนาการลูกด้วยการเรียกชื่อลูกบ่อย ๆ เพื่อให้เขารู้ตัวว่าเขาชื่ออะไร พร้อมกันนี้ก็ให้พูดหรือบอกเล่าสิ่งที่เรากำลังทำให้ลูกทุกครั้ง เช่น หากทานข้าว ก็ให้พูด หม่ำ ๆ อาบน้ำ ก็ให้พูด น้ำ ๆ ถ้าหากมีเวลาก็ควรหาหนังสือที่มีภาพและเสียงมาเล่นกับลูก ก็จะช่วยเพิ่มการจดจำและเพิ่มการสื่อสารให้กับเด็กได้มากกว่าเดิม
2.พัฒนาการด้านสังคม
ในส่วนนี้จะพบว่า เด็กเริ่มมีการหัวเราะเมื่อมีการเล่นอะไรบางอย่างแล้ว เช่น การเล่นจ๊ะเอ๋ หรือการเอาผ้าคลุมหัว แล้วเปิดออกมาพร้อมกับยิ้มให้ และที่ตามมาติด ๆ ก็คือการติดมารดา (ถ้ามีพี่เลี้ยงก็มีโอกาสจะติดพี่เลี้ยง) วิธีการเสริมพัฒนาการในส่วนนี้ ก็คือพยายามชวนลูกเล่นทุกครั้งที่มีเวลา ลองชวนคุย ชวนเล่น ให้เวลากับลูกเท่าที่จะเป็นไปได้ การเล่นกับลูกคือการพัฒนาสายใยความรักของครอบครัวได้มากกว่าทุกสิ่ง และส่งผลให้เด็กเกิดความอบอุ่น มีแนวโน้มที่จะเข้าสังคมได้เป็นอย่างดีในอนาคต
3.พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่
ในช่วงวัยนี้ เด็กจะเริ่มนอนคว่ำและพลิกหงายได้ด้วยตัวเอง และอีกจำนวนมากสามารถใช้มือยันเพื่อลุกขึ้นนั่งได้โดยที่คอไม่ห้อยลงมา เพราะฉะนั้นจึงควรเสริมพัฒนาการด้วยการจับลูกนอนคว่ำ แล้วชวนคุยหรือหาของเล่นเพื่อหลอกล่อให้เด็กมีการยกตัวหรือชันตัวขึ้นมา สำหรับพื้นที่ที่จะจัดให้เด็กได้เสริมพัฒนาการในส่วนนี้ ควรเป็นพื้นที่ราบที่มีความปลอดภัยและมีความกว้างขวางพอสมควร ไม่แนะนำให้จับตัวเด็กใส่รถเข็นหัดเดินตั้งแต่ในช่วงวัยนี้ (พ่อแม่บางคนอยากให้ลูกเดินเป็นเร็ว ทั้งที่กล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงพอที่จะยืนได้) เนื่องจากอาจเกิดอุบัติเหตุและเป็นการเร่งการพัฒนาที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อเด็กเลย
4.พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก
ในส่วนของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ก็คือการหยิบจับของด้วยฝ่ามือ การเสริมพัฒนาการในส่วนนี้ก็ไม่ยากเลย เพียงแค่จับมือลูกแล้วบีบเบา ๆ บ่อย ๆ หรือจะให้ลูกได้กำนิ้วมือของเราก็ได้ นอกจากนี้ก็ลองหาของเล่นที่มีความปลอดภัย มีเสียง มีสีสันสวยงาม มาเป็นตัวดึงดูดความสนใจของเด็ก เพื่อให้เด็กได้พยายามที่จะใช้กล้ามเนื้อในการคว้าของเล่นมาจับหรือถือไว้ในมือ ถ้าหากต้องการเสริมทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่พร้อมกัน ก็ให้เอาของเล่นผูกไว้ให้สูงระดับหนึ่ง เพื่อให้เด็กต้องใช้ความพยายามในการยกตัวเพื่อหยิบจับของเหล่านั้น (ไม่แนะนำให้เป็นขนมหรือลูกอม เพราะเด็กยังไม่มีฟันสำหรับบดเคี้ยว อาจทำให้อาหารติดหลอดลม และอาจทำให้เด็กติดรสหวานในอนาคต)
ในกรณีที่เด็กบางคนยังไม่สามารถทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเองได้ เมื่ออายุถึง 6 เดือนไปแล้ว ก็ขออย่าได้กังวล เนื่องจากเด็กแต่ละคนนั้นมีพัฒนาการที่ช้า-เร็ว แตกต่างกันไป ขอให้คุณแม่เอาใจใส่ และคอยเสริมพัฒนาการเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้ารู้สึกไม่สบายใจ ก็สามารถพาลูกไปพบกับกุมารแพทย์ เพื่อที่จะขอคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..