เมื่อตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สาม ถือเป็นไตรมาสสุดท้าย ที่อีกไม่นานก็จะได้พบหน้าเจ้าตัวน้อยกันแล้ว แน่นอนว่าคุณแม่ทุกคนต้องการให้ตนเองคลอดลูกง่าย ๆ และอยากจะทราบว่า สาเหตุการคลอดยาก มีอะไรบ้าง.. ดังนั้นเราจึงรวบรวม 6 สาเหตุ ที่พบบ่อยที่สุดมาบอกกันแล้ว
เรื่องน่ารู้ 6 สาเหตุการคลอดยาก
- อันดับหนึ่งเลยก็คือ ทารกตัวใหญ่มากกว่าปกติ ทำให้คุณแม่เจ็บท้องคลอดยาวนาน เมื่อคลอดออกมาทางช่องคลอด อาจทำให้ช่องคลอดฉีกขาดมาก และลึกไปถึงทวารหนัก และอาจต้องใช้เครื่องมือในการช่วยคลอด เช่น คีมคีบศีรษะทารก หรือเครื่องดูดสุญญากาศ กรณีคุณแม่อุ้งเชิงกรานเล็ก อาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดคลอดในตอนท้าย ซึ่งขนาดของทารกนั้น จะทราบได้จากการอัลตร้าซาวด์ ซึ่งคุณหมอจะให้คำแนะนำแก่คุณแม่เองค่ะ ไม่ต้องกังวล
- ทารกคลอดท่าก้น คือนำส่วนก้นออกมา หรือเอาขาออกมาก่อนแทนที่จะเป็นศีรษะ การคลอดท่าก้นเสี่ยงต่อการติดขัด ศีรษะของทารก อาจถูกปากมดลูกรัดไว้จนคลอดไม่ได้ กรณีเช่นนี้หากเกินกว่า 5 นาที ส่งผลให้ทารกเสียชีวิตได้ แต่อย่างไรก็ตามคุณหมอจะประเมินอุ้งเชิงกราน และศีรษะทารกไม่มีผิดสัดส่วน การให้คลอดทางช่องคลอดก็สามารถดำเนินไปได้ คุณหมอบางท่านจะทำการนวดหมุนทารกให้กลับเป็นท่าศีรษะ แต่ในปัจจุบันไม่นิยมทำเช่นนี้ มักจะใช้วิธีการผ่าตัดคลอดมากกว่า
- คุณแม่มีอุ้งเชิงกรานแคบ ทำให้ทารกเคลื่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกรานไม่ได้ ถ้าปล่อยให้เจ็บท้องคลอดจะใช้ระยะเวลายาวนาน อาจเกิดอันตรายต่อแม่และทารกได้ คุณหมอมักจะทำการผ่าตัดคลอดเพื่อความปลอดภัย
- มดลูกหดตัวไม่ดี มักพบในรายที่คุณแม่มีอายุมาก ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกหดตัวไม่ดี ส่งผลให้การเจ็บท้องเป็นระยะเวลานาน ตามปกติแล้วคุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป และมีความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ รกเกาะต่ำ เป็นต้น มักจะให้ผ่าตัดคลอดเพื่อความปลอดภัย
- สายสะดือพันคอ ในช่วงแรกมักไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อถึงช่วงใกล้คลอด ทารกมีการหมุนตัว ทำให้สายสะดือไปพันคอหรือรัดที่ตัวทารก เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ดังนั้น คุณหมอจะต้องรีบผ่าตัดคลอดเพื่อความปลอดภัย
- สายสะดือย้อย คือ สายสะดือที่ยาวมาก เมื่อปากมดลูกเปิด ถุงน้ำคร่ำแตก สายสะดือจะไหลลงมาในช่องคลอด อาจถูศีรษะของทารกกดทับ ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงทั่วร่างกายทารกได้ และทำให้เสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น คุณหมอต้องทำการผ่าตัดคลอดทันทีเพื่อความปลอดภัย
ได้ทราบกันแล้วนะคะ ว่า 6 ปัจจัยที่ทำให้คลอดยากมีอะไรบ้าง แต่คุณแม่อย่าเพิ่งกังวลใจไปนะคะ เพราะช่วงใกล้คลอดคุณหมอจะนัดตรวจถี่ขึ้นและทำการอัลตราซาวด์เพื่อดูความพร้อมและท่าทางของทารกเพื่อเตรียมการคลอด หากพบความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นคุณหมดจะแจ้งคุณแม่และดำเนินการแก้ไขทันที
= = = = = = = = = = = =