อาการท้องนอกมดลูก ส่งผลต่อภาวะจิตใจและสุขกายของผู้เป็นแม่ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต แต่ยังทำให้โอกาสในการกลับมามีบุตรอีกครั้งค่อนข้างยากอีกด้วย ดังนั้นวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับการท้องนอกมดลูกกันว่าคืออะไร เกิดจากอะไร และมีอาการอย่างไรบ้าง

ท้องนอกมดลูก คืออะไร

ท้องนอกมดลูกหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก คือเมื่อไข่และสเปิร์มผสมกันจนเกิดเป็นตัวอ่อน ซึ่งตามปกติแล้ว ตัวอ่อนควรไปฝังตัวที่บริเวณโพรงมดลูก แต่กลับไปฝังตัวอยู่บริเวณอื่นๆ เช่น ท่อนำไข่หรือปีกมดลูกแทน ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ และถ้าปล่อยไว้ ไม่รีบทำการรักษาก็อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมากได้อีกด้วย

อาการของ การท้องนอกมดลูก

เมื่อมีอาการท้องนอกมดลูก ในระยะเริ่มต้นอาการจะคล้ายการตั้งครรภ์ทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ประจำเดือนขาด เลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย ส่วนอาการดังต่อไปนี้มักแสดงว่ามีอาการท้องนอกมดลูกรุนแรง เนื่องจากท่อนำไข่ฉีกขาด ต้องรีบไปพบแพทย์ในทันที ได้แก่

1. ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน

2. เลือดออกทางช่องคลอดมาก

3. ปวดไหล่ ปวดบริเวณทวารหนัก

4. หน้ามืด อ่อนเพลีย เป็นลม

5. ช็อค

สาเหตุที่ทำให้เกิดการท้องนอกมดลูก

โดยปกติแล้ว เมื่อไข่ได้รับการผสม จะค่อยๆ เคลื่อนตัวและไปฝังในผนังมดลูกเพื่อพัฒนาเป็นตัวอ่อนต่อไป แต่ก็มีหลายสาเหตุที่ทำให้ไข่ที่ผสมกับสเปิร์มแล้วไม่สามารถไปฝังตัวในมดลูกได้ ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้

1.ความผิดปกติของท่อนำไข่

เมื่อท่อนำไข่มีพังผืดกั้น ทำให้ท่อทางเดินไข่อุดตัน หรือ ท่อนำไข่เกิดการอักเสบ รวมทั้งมีเนื้องอกที่ท่อนำไข่ จึงส่งผลให้ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วไม่สามารถเดินทางไปฝังตัวที่ผนังมดลูกได้ จนเมื่อถึงระยะฝังตัวจึงไปฝังตัวอยู่ที่ท่อนำไข่แทน และเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก

2.เคยมีประวัติติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน

อุ้งเชิงกรานที่อักเสบและเกิดการติดเชื้อบ่อยๆ จะทำให้สภาพภายในอุ้งเชิงกรานเต็มไปด้วยพังผืด จึงเกิดการตีบตันที่ท่อนำไข่ ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวในโพรงมดลูกได้ และเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกในที่สุด

3.เคยมีประวัติท้องนอกมดลูก

คุณแม่ที่เคยมีประวัติตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อน มีโอกาสเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์นอกมดลูกในครรภ์ถัดไปสูงกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปกติถึง 7-13 เท่า รวมทั้งคุณแม่ที่เคยได้รับการผ่าตัดเพื่อทำการรักษาอาการท้องนอกมดลูกมาก่อน ซึ่งการผ่าตัดส่งผลให้เกิดพังผืดและมีแผลขึ้นที่มดลูก จึงทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์นอกมดลูกได้เช่นกัน

4.ตั้งครรภ์ขณะอายุมาก

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในขณะที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์นอกมดลูกมากกว่าคุณแม่ที่มีอายุน้อย เนื่องจากระบบสืบพันธุ์มีประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง

5.การรักษาภาวะมีบุตรยาก

การรักษาภาวะมีบุตรยาก เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว หรือทำกิฟต์ อาจทำให้คุณแม่ท้องนอกมดลูกได้

6.การใช้ยาฮอร์โมน

การใช้ยาคุมกำเนิด เช่นยาคุมฉุกเฉิน ซึ่งออกฤทธิ์ไปบีบท่อนำไข่ จึงทำให้ตัวอ่อนเคลื่อนที่ได้ช้า และไปฝังตัวนอกโพรงมดลูก ส่วนห่วงคุมกำเนิด ก็อาจทำให้ตัวอ่อนไปฝังตัวที่บริเวณปีกมดลูกแทนการฝังตัวในมดลูก และเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้

Sponsored

นอกจากนี้ยังเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆ ได้อีกเช่นกัน เช่น การสูบบุหรี่ โรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

วิธีรักษาการท้องนอกมดลูก

เมื่อตรวจพบว่ามีอาการท้องนอกมดลูก ควรต้องรีบเข้ารับการรักษา ซึ่งวิธีการรักษานั้นจะรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้

1.ให้ยา

ยาที่นิยมใช้รักษาเพื่อหยุดไม่ให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตต่อไป คือยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ด้วยวิธีการฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อผู้ป่วย ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และยังสามารถเก็บท่อนำไข่ไว้ได้ แต่มีผลข้างเคียง คือทำให้ชาหรือปวดเกร็งที่หน้าท้อง ทำให้มีเลือดและเนื้อเยื่อไหลออกมา เสมือนการแท้งบุตร นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเลือดเป็นประจำทุกสัปดาห์ตลอด 7-8 สัปดาห์จนกว่าอาการจะดีขึ้นด้วย

2.ผ่าตัด

แพทย์อาจพิจารณาใช้การผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งจะทำให้เกิดแผลเล็กๆ แล้วค่อยนำเครื่องมือเข้าไปเอาตัวอ่อนที่ฝังอยู่นอกมดลูกออกมา ซึ่งในกรณีที่ท่อนำไข่เกิดแตก ทำให้คุณแม่เสียเลือดมาก แพทย์อาจจำเป็นต้องตัดท่อนำไข่ออกมาด้วย

วิธีป้องกันการท้องนอกมดลูก

เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะท้องนอกมดลูก มีวิธีป้องกันดังต่อไปนี้

1.มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย

เมื่อจะมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง ควรสวมใส่ถุงยางอนามัย และไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งลดโอกาสเสี่ยงของการติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน

2.วางแผนการตั้งครรภ์

เมื่อต้องการมีบุตรควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และควรไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ เผื่อพบอาการผิดปกติจะได้รับการรักษาทันที

3.ดูแลสุขภาพ

ถ้าพบว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรรีบรักษาให้หายแต่เนิ่นๆ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้มีร่างกายที่แข็งแรง

4.ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์

การสูบบุหรี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดท้องนอกมดลูก ดังนั้นควรงดสูบบุหรี่ ในระหว่างตั้งครรภ์ รวมทั้งงดเว้นการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย

แม้ว่าจะเคยท้องนอกมดลูก แต่ถ้าท่อนำไข่ยังอยู่ เมื่อเหลือเพียงข้างเดียว ก็ยังมีโอกาสกลับมาตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันท้องนอกมดลูกอีกครั้ง จำเป็นที่ต้องคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือนก่อน เพื่อรอให้คุณแม่กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.ภาวะครรภ์เป็นพิษ กับ การป้องกันครรภ์เป็นพิษ ที่คุณแม่ต้องรู้

2.แม่ท้องเป็นเบาหวาน ลูกในท้อง จะเป็นเบาหวานด้วยหรือไม่