อาการทารกขาโก่งที่พบได้บ่อย และเมื่อโตขึ้น ขาของเด็กก็จะค่อยๆ ตรงขึ้นเอง แต่ถ้าเด็กมีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป คุณแม่ควรต้องนำลูกไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคเบล้าท์ ส่วนสาเหตุของโรคเกิดจากอะไรบ้างนั้น และจะส่งผลเสียอย่างไร วันนี้จะพามาทำความรู้จักกับโรคเบล้าท์กัน
ทารกขาโก่ง อาจเป็นโรคเบล้าท์
ทารกที่มีน้ำหนักตัวมาก อาจส่งผลให้เป็น Blount’s Disease หรือ โรคเบล้าท์ โดยน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐานนั้น จะไปกดทับบริเวณกระดูกด้านในของเข่า ทำให้แผ่นเยื่อเจริญกระดูกไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ และทำให้เกิดภาวะโก่งออกมาแทน ซึ่งการจะดูว่าลูกมีน้ำหนักเกินหรือไม่นั้น ดูได้จากดัชนีมวลกายที่มากเกินกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 95 ของเด็กในวัยเดียวกัน นอกจากนี้เด็กที่เดินเร็ว ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ ดังนั้นควรให้ลูกหัดเดินในช่วงวัยที่เหมาะสมคือ อายุประมาณ 11-14 เดือน เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการขาโก่งขึ้น รวมทั้งเด็กที่มีเชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกัน ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบล้าท์มากกว่าเด็กเชื้อชาติอื่นๆ อีกด้วย
อาการของโรคเบล้าท์
อาการที่เห็นได้อย่างชัดเจนของโรคนี้ คือทารกขาโก่งข้างใดข้างหนึ่ง ที่บริเวณส่วนต้นของหน้าแข้ง โดยจะเห็นการหักมุมอย่างชัดเจน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเกิดจากความผิดปกติบริเวณกระดูกหน้าแข้งเพียงอย่างเดียว ซึ่งเมื่อเทียบกับขาโก่งที่เป็นไปตามพัฒนาการแล้ว จะโก่งเป็นแนวโค้งเรียบกันตลอดทั้งกระดูกขาส่วนต้น และกระดูกหน้าแข้ง นอกจากนี้อาการขาโก่งจากโรคเบล้าท์จะเป็นมากขึ้น ถ้าไม่รับการรักษา
โรคเบล้าท์อันตรายอย่างไร
สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคเบล้าท์และไม่ได้รับการรักษา จะทำให้ทารกขาโก่งมากขึ้น เมื่อเด็กเริ่มเดินจะส่งผลทำให้เด็กเดินได้ไม่สะดวก ทำให้เสียบุคลิกภาพ และหากโดนเพื่อนล้อ จนขาดความมั่นใจได้ นอกจากนี้อาการเข่าที่โก่งมากขึ้น ทำให้น้ำหนักตัวถ่ายมาด้านในของเข่าเพิ่มขึ้นด้วย มีผลต่อผิวข้อด้านใน ที่จะสึกหรอได้เร็วขึ้น จึงทำให้เกิดอาการปวดข้อจากปัญหาข้อเสื่อมได้ ดังนั้นเมื่อพบว่า ลูกมีอาการไม่ดีขึ้นหลัง 2 ขวบ อีกทั้งมีน้ำหนักตัวมากเกิน ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษา
วิธีการรักษา
ทารกขาโก่งก่อนเข้ารับการรักษา แพทย์จะตรวจร่างกายโดยวัดความระยะห่างระหว่างเข่าที่โก่งออกมา เด็กบางคนอาจจำเป็นต้องเอกซเรย์กระดูก เพื่อหาความผิดปกติของกระดูก โดยขาโก่งจากโรคเบล้าท์นั้น แพทย์จะพิจารณาตามอาการที่เป็น และให้การรักษาตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ใส่อุปกรณ์ดัดขา
ถ้าแพทย์พบว่าทารกขาโก่งไม่มาก และผู้ปกครองพาเด็กมาพบในช่วงวัยที่อายุยังน้อย แพทย์จะทำรักษาด้วยการให้ใส่อุปกรณ์ดัดขาทารก ซึ่งอุปกรณ์นี้จำเป็นต้องใส่นาน 1-2 ปี และใส่อยู่ตลอดเวลา โดยผลของการรักษาจะหายเร็วหรือช้า ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือในการยอมใส่อุปกรณ์นี้หรือไม่ เพราะถ้าเด็กปฎิเสธการใส่เครื่องมือ ย่อมส่งผลให้หายช้า ดังนั้นถ้าหลังจาก 6 เดือนหลังจากใส่อุปกรณ์ไปแล้ว พบว่าอาการขาโก่งยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาให้ผ่าตัดแทน
2. ผ่าตัดเพื่อจัดเรียงกระดูกให้ตรง
แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อจัดเรียงกระดูกให้ตรง หลังจากให้การรักษาแบบที่ 1 แล้วไม่ได้ผล และขาเด็กยังโก่งไม่มาก โดยหลังจากการผ่าตัดแล้ว เด็กยังต้องใส่เผือกต่ออีก 1-2 เดือน เพื่อให้กระดูกยึดติดกันสนิท ซึ่งวิธีที่2 นี้จะสามารถช่วยรักษาอาการขาโก่งให้กลับมาเป็นปกติได้
3. ผ่าตัดในภาวะที่กระดูกโก่งมาก
สำหรับเด็กที่โตแล้ว หรือปล่อยให้อาการขาโก่งเป็นมาก จะมีผลต่อเยื่อกระดูก เพราะเยื่อกระดูกตายหมดแล้ว จึงจำเป็นที่แพทย์ต้องผ่าตัดเอาแผ่นเยื่อกระดูกที่ตายแล้วออกมาเสียก่อน แล้วค่อยทำการรักษาในขั้นต่อไป โดยการรักษาในขั้นตอนนี้จะมีความยุ่งยากและซับซ้อนมาก และผลการรักษาอาจออกมาดีไม่เท่ากับการรักษาตอนเด็กๆที่ขาโก่งน้อยๆ ดังนั้นจำเป็นที่พ่อแม่ต้องใส่ใจหากพบลูกมีอาการขาโก่งควรรีบพามาพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาในทันที
หลังการรักษาทารกขาโก่งจากโรคเบล้าท์นั้นจะได้ผลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการพบโรคที่เร็ว และรีบให้การรักษา ซึ่งพบว่าเด็กที่อายุน้อยๆมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้มากกว่าเด็กโต รวมทั้งการได้พบแพทย์ที่มีความชำนาญในการรักษาก็สามารถช่วยให้ลูกน้อยกลับมามีขาที่ปกติได้ นอกจากนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กขาโก่งจากโรคเบล้าท์นั้นก็คือ น้ำหนักตัวที่มากจนเกินไป ทำให้เสี่ยงเป็นโรคเบล้าท์ ดังนั้นหลังการรักษาแล้ว ถ้าไม่อยากให้ลูกน้อยกลับไปมีอาการขาโก่งอีก จำเป็นที่พ่อแม่ต้องควบคุมพฤติกรรมการกินของลูก โดยอาจขอคำแนะนำจากนักโภชนาการในการจัดอาหารให้ลูก เพื่อช่วยป้องกันการกินอาหารมากเกินไป จนทำให้มีน้ำหนักตัวเกิน และกลับมาเป็นโรคเบล้าท์อีกครั้ง
การใส่ใจดูแลอาหารการกินของลูกถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้ลูกขาโก่งเพราะโรคเบล้าท์ รวมถึงโรคร้ายอื่นๆที่เกิดจากความอ้วนได้ นอกจากนี้เมื่อพบว่าลูกมีความผิดปกติทางร่างกาย เช่นขาโก่ง จำเป็นที่ต้องไปพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาได้ทันถ่วงที จึงจะทำให้ลูกมีโอกาสหายเป็นปกติได้
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่